คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5622/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาว่าจ้างให้จำเลยทำการก่อสร้างหลักไพ นำพร้อมอุปกรณ์และหลักกิโลเมตร จำเลยไม่สามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามกำหนดสัญญา โจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญานอกจากโจทก์จะมีสิทธิริบหลักประกันแล้ว โจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ด้วย ความเสียหายที่โจทก์ได้รับคือไม่สามารถใช้สอยหลักกิโลเมตรร่องน้ำที่จำเลยรับจ้างก่อสร้างให้โจทก์ไม่ใช่ค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างก่อสร้างที่ได้จ้างให้แก่จำเลย และเมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบถึงจำนวนค่าเสียหายได้ ศาลจึงมีอำนาจกำหนดค่าเสียหาย ให้โจทก์ได้รับตามจำนวนสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2525 และวันที่ 27กันยายน 2525 โจทก์ได้ว่าจ้างให้จำเลยทำการก่อสร้างหลักไพนำพร้อมอุปกรณ์จำนวน 1 คู่ และหลักกิโลเมตร จำนวน 10 หลักที่ร่องน้ำสตูล จังหวัดสตูล ในราคา 1,288,000 บาท และทำการก่อสร้างหลักกิโลเมตรจำนวน 11 หลัก ที่ร่องน้ำสมุทร ในราคา 255,000 บาท ตามสัญญาจ้างเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และ 4 ตามลำดับ ปรากฏว่าตามสัญญาจ้างเอกสารหมายเลข 2 จำเลยก่อสร้างและส่งมอบงานก่อสร้างให้โจทก์เพียงงวดที่ 1 ส่วนงวดที่ 2 นั้นส่งมอบเฉพาะการก่อสร้างหลักไฟนำพร้อมอุปกรณ์จำนวน 1 คู่เท่านั้น ซึ่งรวมเป็นเงินค่าจ้างที่จำเลยรับไปตามงานที่ส่งมอบ783,100 บาท ส่วนงานงวดสุดท้ายซึ่งเป็นงานส่วนก่อสร้างหลักกิโลเมตรจำเลยทำไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามสัญญาและสำหรับตามสัญญาจ้างเอกสารหมายเลข 4 นั้น จำเลยก่อสร้างและส่งมอบงานก่อสร้างให้โจทก์ได้เพียง 2 งวด โดยได้รับค่าจ้างไปรวมเป็นเงิน 327,500 บาท ส่วนงานงวดสุดท้ายจำเลยทำไม่แล้วเสร็จและส่งมอบให้โจทก์ไม่ได้ภายในกำหนดเวลาตามสัญญาเช่นเดียวกันโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองฉบับ การผิดสัญญาของจำเลยทำให้โจทก์เสียหายเพราะไม่ได้รับประโยชน์ในการใช้สอยหลักกิโลเมตรจำนวน 10 หลัก ที่ร่องน้ำสตูลและหลักกิโลเมตร จำนวน 11 หลักที่ร่องน้ำสมุทรสาคร ตามวัตถุประสงค์ของสัญญาโดยค่าเสียหายนี้ไม่น้อยกว่าเงินที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่จำเลยไปแล้วเป็นเงินจำนวน416,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันบอกเลิกสัญญาวันที่ 26 มีนาคม 2527 ถึงวันที่ 30เมษายน 2530 เป็นเวลา 1,130 วัน เป็นเงิน 96,731 บาทรวมเป็นค่าเสียหายถึงวันฟ้อง 513,331 บาท จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 513, 331 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 416,600 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่สามารถก่อสร้างและส่งมอบงานให้โจทก์ได้ภายในกำหนดเวลาตามฟ้องโจทก์จริงเพราะหลักกิโลเมตรที่ก่อสร้างไว้ถูกเรือชนหัก อันเป็นเหตุสุดวิสัยซึ่งจำเลยยินดีที่จะก่อสร้างให้จนเสร็จแต่ทางโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยเสียก่อนดังนั้น เมื่อโจทก์เลือกใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วริบหลักประกันที่จำเลยให้ไว้เป็นเบี้ยปรับจำนวน 97,150 บาท และจำนวน 39,305 บาทรวมเป็นเงิน 136,455 บาท ตามสัญญาทั้งสองฉบับไปจากจำเลยแล้วก็แสดงว่าโจทก์สละสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายจากจำเลยอีกและไม่มีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่เรียกมานั้นได้อีกเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 105,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยหรือไม่เพียงใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่สามารถก่อสร้างหลักกิโลเมตรจำนวน 10 หลักที่ร่องน้ำสตูลให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาวันที่ 17 พฤษภาคม 2526และจำเลยไม่สามารถก่อสร้างหลักกิโลเมตรจำนวน 11 หลักที่ร่องน้ำสมุทรสาครให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาวันที่ 11 มิถุนายน2526 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2527และริบหลักประกันจำนวนเงิน 97,150 บาท และ 39,305 บาทรวมเป็นเงิน 136,455 บาท ตามสัญญาทั้งสองฉบับจากจำเลยแล้วโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามสัญญาข้อ 20(4)จากจำเลยด้วยที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเท่ากับค่างวดงานที่โจทก์จ่ายให้จำเลยรวม 2 งวด เป็นเงิน 89,100 บาทและ 327,500 บาท รวมค่าเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 416,600 บาทศาลฎีกาเห็นว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับคือไม่สามารถใช้สอยหลักกิโลเมตรร่องน้ำที่จำเลยรับจ้างก่อสร้างให้โจทก์แต่จำนวนค่าเสียหายไม่ใช่ค่าจ้างก่อสร้างที่โจทก์ได้จ่ายให้จำเลยไปจึงถือได้ว่าโจทก์ไม่สามารถสืบจำนวนค่าเสียหายได้ ศาลจึงมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้ตามจำนวนสมควร แต่ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 105,000 บาท นั้นน้อยไปจึงควรกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ 200,000 บาท ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย

Share