แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พี่ชายจำเลยเมาสุรานำปืนออกมาวางบนโต๊ะของร้านอาหารริมถนนจำเลยเอาปืนมาเก็บไว้เพื่อบรรเทาเหตุการณ์ร้ายแรงซึ่งอาจจะเกิดขึ้นดังนี้ จำเลยไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพกพาไปในทางสาธารณะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า (ก) จำเลยมีปืนสั้นมีหมายเลขทะเบียน 1 กระบอก กับกระสุนปืน 10 นัด ของพันเอกบรรจบ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
(ข) จำเลยพกพาอาวุธปืนไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร
(ค) จำเลยยิงปืนขึ้นฟ้า 1 นัด ขณะอยู่ในเมืองและที่ชุมนุมชนโดยไม่มีเหตุสมควร
(ง) เมื่อจำเลยยิงปืนขึ้นฟ้าแล้ว มีผู้เข้าไปจับแขนและดึงมือจำเลยที่ยกปืนลงเพื่อห้ามปราม จำเลยได้ใช้ปืนยิงว่าที่เรือตรีเจษฎา กระแสร์อรรถ2 นัด ถึงตาย โดยเจตนาฆ่า หรือโดยประมาท
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 291, 371, 376, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2517 มาตรา 3 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 และสั่งคืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
พันเอกธรรมทัศน์ กระแสร์อรรถ บิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ตายเข้าเป็นโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2517 มาตรา 3 ตามลำดับ กระทงที่หนึ่งให้จำคุกหนึ่งปีหกเดือนกระทงที่สองให้ปรับหนึ่งร้อยบาท กระทงที่สามให้จำคุกหกเดือน ของกลางให้คืนแก่เจ้าของ
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอที่จะลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตายส่วนข้อที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่า จำเลยควรมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และพกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าที่เรือตรีสฤษดิ์พี่ชายจำเลยเป็นผู้นำปืนออกมาวางบนโต๊ะขณะที่ว่าที่เรือตรีสฤษดิ์เมาสุรา ต่อมาจำเลยเอาปืนมาเก็บไว้ เมื่อผู้ตายถูกยิงแล้ว จำเลยช่วยพาผู้ตายส่งโรงพยาบาล พฤติการณ์ที่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ไม่แสดงว่าจำเลยมีเจตนามีอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไว้ในความครอบครองและพกพาไปในทางสาธารณะ จำเลยเพียงแต่เอาอาวุธปืนและกระสุนปืนมาเก็บไว้เพื่อบรรเทาเหตุการณ์ร้ายแรงซึ่งอาจจะเกิดขึ้น พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดดังที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
พิพากษายืน