คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5943/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยได้ทำคำขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับโจทก์และแต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์แทนจำเลย แล้วโจทก์ได้ซื้อขายหลักทรัพย์ให้จำเลยหลายครั้ง เมื่อหักทอนบัญชีกันแล้วจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ โดยได้แนบสำเนารายละเอียดการสั่งซื้อหุ้น การสั่งขายหุ้น ยอดเงินสุทธิการซื้อขายให้แก่จำเลยเป็นเอกสารท้ายฟ้องอันเป็นมูลแห่งคำฟ้องไว้ เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง
ตามสัญญาตั้งตัวแทนเอกสารหมาย จ.4 ขณะนั้นโจทก์ใช้ชื่อว่า” บริษัทไทยค้าหลักทรัพย์ จำกัด” ต่อมาโจทก์ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “บริษัทหลักทรัพย์ไทยค้า จำกัด” การทำเอกสารตั้งตัวแทนตามเอกสารหมาย จ.16 ขึ้นใหม่ จึงเป็นเพราะโจทก์เปลี่ยนชื่อใหม่นั่นเอง ถือไม่ได้ว่าการตั้งตัวแทนตามเอกสารหมาย จ.4ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว แต่เป็นการยืนยันตั้งโจทก์ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ให้จำเลยต่อไปเช่นเดิม แม้ทั้งเอกสารหมาย จ.4 หรือ จ.16 มิได้กำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ต้องแจ้ง หรือมีหนังสือเลิกสัญญาเป็นตัวแทนกับโจทก์แต่การเลิกสัญญาต้องกระทำด้วยการแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยหรือโจทก์ได้แสดงเจตนาเลิกสัญญาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยกับโจทก์ได้เลิกสัญญากันโดยปริยาย สัญญาตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังไม่เลิกกัน จนกระทั่งโจทก์แจ้งให้จำเลยชำระเงินส่วนที่ขาดอยู่ตามหนังสือทวงถามจึงถือได้ว่าโจทก์เพิ่งบอกเลิกสัญญาตัวแทนกับจำเลยในวันที่จำเลยได้รับหนังสือทวงถาม ฉะนั้นการที่โจทก์ทำการเป็นตัวแทนให้จำเลยในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในช่วงเวลาที่จำเลยแต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนจนถึงวันบอกเลิกสัญญา การกระทำดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนกระทำแทนตัวการภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยซึ่งเป็นตัวการ จำเลยจึงต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดจากการดำเนินการดังกล่าวให้แก่โจทก์ การที่โจทก์เคยเรียกให้จำเลยไปชำระเงินเพิ่ม แต่จำเลยแจ้งว่าไม่มีเงินที่จะชำระ โจทก์จึงได้ทำการขายหุ้นที่โจทก์สั่งซื้อให้จำเลยเพื่อชำระค่าหุ้น ยังไม่พอแสดงว่ามีการหักกลบลบหนี้กันเสร็จสิ้นไปแล้ว
วิธีปฏิบัติระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการปฏิบัติต่อกันตามสัญญาตัวแทน โดยจำเลยตั้งโจทก์เป็นตัวแทนในการซื้อขายหุ้นหรือหลักทรัพย์ โดยให้โจทก์จ่ายเงินทดรองแทนจำเลยไปก่อน โจทก์ได้ผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยจากเงินที่ทดรองจ่ายแทนจำเลย และในการขายหุ้นตามคำสั่งของจำเลย เมื่อขายได้กำไรก็หักภาษี กำไรที่เหลือมอบให้จำเลย และในการที่โจทก์ซื้อขายแทนจำเลยโจทก์ได้รับค่าธรรมเนียมจากจำเลย วัตถุประสงค์ของโจทก์จำเลยจึงเป็นการค้าเก็งกำไรจากราคาหุ้นที่ขึ้นลง มากกว่าประสงค์จะลงทุนอย่างแท้จริง เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์จำเลยมิได้ยึดถือเอาระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ที่ว่าจำเลยต้องวางเงินประกันร้อยละ 30 ของวงเงินที่จำเลยมีสิทธิสั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นในแต่ละวัน หากซื้อเกินจำนวนเงินดังกล่าว จำเลยก็จะต้องส่งเงินประกันร้อยละ 30 ภายใน 7 วัน มาเป็นสาระสำคัญของสัญญา ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จำเลยจะได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวหรือไม่ก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามหลักฐานที่โจทก์นำสืบ จำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์
คดีนี้เป็นเรื่องตัวแทนเรียกร้องเอาเงินที่ได้ออกทดรองจ่ายไปในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตนจากตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา164 เดิม ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ เมื่อจำเลยแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2521 แล้ว ต่อมาโจทก์ได้ดำเนินการซื้อขายหลักทรัพย์และออกเงินทดรองให้แก่จำเลยหลายคราวโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2530 ยังไม่ถึง 10 ปี นับแต่โจทก์ได้ออกเงินทดรองแต่ละคราวไป คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

Share