แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การชำระหนี้ของจำเลยตามสัญญาตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษจำเลยหรือนายป. ไม่ได้ทำให้จำเลยเป็นอันหลุดพ้นจากการต้องชำระหนี้ของจำเลยที่จะต้องให้นายป.ได้รับสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้ตามสัญญาที่ทำไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา219วรรคหนึ่งก็ตามแต่จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนจากนายป. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา372วรรคหนึ่ง แม้สัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นเป็นประโยชน์แก่จำเลยโดยนายป. จะทวงถามให้จำเลยโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้ให้นายป. ได้หลังจากวันที่31พฤษภาคม2535ก็ตามแต่เมื่อมีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ฯและรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้สัมปทานทำไม้สิ้นสุดลงก่อนถึงเวลาที่กำหนดไว้เป็นเงื่อนเวลาเริ่มต้นทำให้การชำระหนี้ของจำเลยซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนเป็นอันพ้นวิสัยโดยจะโทษจำเลยหรือนายป. ไม่ได้จำเลยก็ไม่อาจถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเริ่มต้นที่ได้กำหนดไว้เดิมนั้นมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ต่อไป เมื่อนายป. ชำระเงิน8,000,000บาทอันเป็นการชำระหนี้ของนายป. ตามสัญญาให้จำเลยรับไปครบถ้วนแล้วนายป.จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวได้เมื่อนายป.ตายสิทธิดังกล่าวเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของนายป. จึงเป็นมรดกของนายป. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1600โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายป. จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ สัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้จะเป็นโมฆะเพราะวัตถุประสงค์ขัดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯมาตรา63ก็ต่อเมื่อบทบัญญัติดังกล่าวห้ามมิให้มีการโอนสัมปทานทำไม้แต่ปรากฏว่าบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้ามมิให้ผู้รับสัมปทานโอนสิทธิตามสัมปทานให้แก่ผู้อื่นทั้งไม่มีบทบัญญัติอื่นในพระราชบัญญัติป่าไม้ฯบัญญัติห้ามเด็ดขาดเช่นนั้นด้วยสัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์ขัดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯอันจะทำให้สัญญานั้นเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา113เดิม(มาตรา150ใหม่) นายป. ชำระเงินให้แก่จำเลยตามสัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้เป็นสัญญาที่สมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมายและเป็นการชำระหนี้โดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้เงินที่จำเลยได้รับจึงไม่เป็นลาภมิควรได้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา406วรรคหนึ่งการที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยจึงไม่อยู่ในบังคับอายุความเรื่องลาภมิควรได้ตามมาตรา406ดังกล่าวที่จะต้องฟ้องเรียกร้องภายใน1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา419
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและผู้จัดการมรดกของนายประยุทธ ผาทอง เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม2517 บริษัทแพร่ทำไม้ จำกัด ได้รับสัมปทานทำไม้มีกำหนด 30 ปีนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2517 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 ซึ่งบริษัทแพร่ทำไม้ จำกัด ได้ทำสัญญาฉบับลงวันที่ 17 ตุลาคม 2516ยินยอมให้จำเลยมีสิทธิเป็นลูกช่วงทำไม้ในป่าสัมปทานดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2531 จำเลยโดยความยินยอมของบริษัทแพร่ทำไม้ จำกัด ได้ทำสัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้ตามสิทธิของจำเลยให้แก่นายประยุทธ ผาทอง สำหรับระยะเวลาที่เหลืออีก 12 ปี นับจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2535จนสิ้นสุดระยะเวลาตามสัมปทานข้างต้น โดยนายประยุทธตกลงชำระค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 8,000,000 บาท จำเลยได้รับเงินจำนวน 8,000,000 บาท ดังกล่าวไปครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 19กรกฎาคม 2531 ต่อมาในปี 2532 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นายประยุทธยังไม่ได้เริ่มเข้าทำไม้ตามที่ระบุในสัญญาได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484พ.ศ. 2532 ให้อำนาจรัฐบาลยกเลิกสัมปทานทำไม้ต่าง ๆ ทั่วประเทศเป็นผลทำให้นายประยุทธเสียสิทธิตามสัญญาเพราะไม่สามารถเข้าทำไม้ในฐานะผู้รับช่วงตามสัญญาได้ จึงถือได้ว่านายประยุทธได้เสียสิทธิตามสัญญาโดยเกิดจากทางราชการ จำเลยจึงต้องชดใช้หรือคืนเงินทั้งหมดที่จำเลยได้รับไปจากนายประยุทธ ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่นายประยุทธได้แจ้งให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวแล้วหลายครั้ง แต่จำเลยผัดผ่อน ต่อมาโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายประยุทธและได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้จำนวนดังกล่าว แต่จำเลยก็เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้หรือคืนเงินจำนวน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ในนามของกองมรดกนายประยุทธ ผาทอง
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์จำเลยไม่มีความรับผิดใด ๆ ต่อนายประยุทธ ผาทอง และโจทก์สัญญาฉบับลงวันที่ 17 ตุลาคม 2516 เป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 11, 56, 63 และข้อ 33(2)ในสัมปทานฉบับที่ 27/2517 ตกเป็นโมฆะเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้สัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้ฉบับลงวันที่ 22 มิถุนายน2531 ซึ่งเป็นสัญญาที่กระทำต่อเนื่องจากสัญญาฉบับลงวันที่ 17ตุลาคม 2516 ดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะไปด้วย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย สิทธิเรียกร้องที่จำเลยนำมาเป็นมูลฟ้องไม่เป็นมรดกของนายประยุทธ การที่นายประยุทธชำระหนี้ต่างตอบแทนจำนวน8,000,000 บาท ให้แก่จำเลยตามสัญญาฉบับลงวันที่ 22 มิถุนายน 2531เป็นการชำระหนี้อันเกิดจากสัญญาที่ขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง ตกเป็นลาภมิควรได้แก่จำเลยตั้งแต่วันทำสัญญา นายประยุทธทราบถึงสิทธิเรียกคืนตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2531 นายประยุทธมิได้ใช้สิทธิเรียกคืนเงินดังกล่าวจากจำเลย จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 ทั้งการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ก่อนหมดอายุสัมปทานอันเป็นเงื่อนเวลาบังคับเป็นการชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดเวลานั้นและเป็นหนี้เกิดจากสัญญาฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนทรัพย์ที่ชำระไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 408 และมาตรา 411 ด้วยคดีของโจทก์ต้องห้ามตามกฎหมายและขาดอายุความเพราะฟ้องเกิน1 ปี นับแต่วันที่นายประยุทธได้รู้ถึงสิทธิของตนที่จะเรียกคืนเงินตามฟ้องจากจำเลย และนับตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2532 ซึ่งเป็นวันประกาศพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช 2484 พ.ศ. 2532 ในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่นายประยุทธถึงแก่ความตายในวันที่ 27 มีนาคม 2534 เป็นเวลาล่วงเลย 1 ปี จึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกบริษัทแพร่ทำไม้ จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า ข้อผูกพันระหว่างจำเลยและจำเลยร่วมหาใช่เป็นเรื่องตัวการตัวแทนไม่ ความผูกพันระหว่างโจทก์และจำเลยก็เป็นไปตามหลักของสัญญาต่างตอบแทนซึ่งถือได้ว่าจำเลยอาศัยสิทธิของตนตามสัญญาฉบับลงวันที่ 17 ตุลาคม 2516โอนสิทธิแก่โจทก์ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 22 มิถุนายน 2531 ไม่เกี่ยวพันหรือเป็นสิทธิของจำเลยร่วม จำเลยร่วมไม่มีหน้าที่หรือพันธะใด ๆ ที่ต้องรับผิดหรือถูกไล่เบี้ยแทนตามสัญญาดังกล่าวสัญญาฉบับลงวันที่ 17 ตุลาคม 2516 และฉบับลงวันที่ 22 มิถุนายน2531 มิใช่สัญญาหรือนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย พระราชบัญญัติป่าไม้ก็ไม่ได้มีการห้ามโอนสัมปทานหรือใบอนุญาตทำไม้ต่าง ๆ ทั้งยินยอมให้มีการโอนใบอนุญาตกันได้ด้วยตามมาตรา 56 ส่วนข้อ 33 ของสัมปทานฉบับที่ 27/2517นั้นแม้จะมีเงื่อนไขกำหนดลักษณะเป็นข้อสงวนสิทธิการทำตามสัญญาไว้ก็เป็นเพียงข้อผูกพันระหว่างผู้ให้สัมปทานกับผู้รับสัมปทานในรูปของสัญญาพิเศษระหว่างรัฐกับเอกชนไม่ใช่เป็นกฎหมาย เมื่อมีการละเมิดก็อาจใช้อำนาจเพิกถอนสัมปทานได้เท่านั้น แต่ไม่มีผลทำให้สัญญาลูกช่วงทำไม้ทั้ง 2 ฉบับตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด การที่จำเลยเข้าทำสัญญาโอนสิทธิลูกช่วงทำไม้กับนายประยุทธนั้น สัญญาดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลยร่วมต่อนายประยุทธ เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อนายประยุทธ โดยตรงในกรณีที่จำเลยผิดสัญญาขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าสัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้ระหว่างนายประยุทธและจำเลยเป็นสัญญาที่มีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2535 โจทก์ฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2534 ขณะฟ้องยังไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อสัมปทานทำไม้ฉบับที่ 27/2517เอกสารหมาย จ.6 ได้สิ้นสุดลงตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันที่ 17 มกราคม 2532 แล้วเช่นนี้จำเลยจึงไม่อาจโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้เป็นเวลา 12 ปี หลังจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2535 ให้แก่นายประยุทธตามสัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้เอกสารหมาย จ.6 ได้ โดยการชำระหนี้ของจำเลยตามสัญญาดังกล่าวตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษจำเลยหรือนายประยุทธไม่ได้ในกรณีนี้ แม้การที่การชำระหนี้ของจำเลยกลายเป็นพ้นวิสัยเช่นนั้น ทำให้จำเลยเป็นอันหลุดพ้นจากการต้องชำระหนี้ของจำเลยที่จะต้องให้นายประยุทธได้รับโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้ตามสัญญาที่ทำไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคหนึ่งก็ตาม แต่จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนจากนายประยุทธตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 372 วรรคหนึ่ง ด้วย และแม้สัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้เอกสารหมาย จ.6 มีเงื่อนเวลาเริ่มต้นเป็นประโยชน์แก่จำเลย โดยนายประยุทธจะทวงถามให้จำเลยโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้ตามสัมปทานทำไม้ฉบับที่ 27/2517 ให้นายประยุทธได้หลังจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2535 แล้วก็ตามแต่เมื่อมีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช 2484 พ.ศ. 2532 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้สัมปทานป่ารวมทั้งสัมปทานทำไม้ฉบับที่ 27/2515 เอกสารหมาย จ.6 สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2532 ก่อนถึงเวลาที่กำหนดไว้เป็นเงื่อนเวลาเริ่มต้น ทำให้การชำระหนี้ของจำเลยตามสัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนนั้นเป็นอันพ้นวิสัยโดยจะโทษจำเลยหรือนายประยุทธไม่ได้แล้วเช่นนี้ จำเลยก็ไม่อาจจะถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเริ่มต้นที่ได้กำหนดไว้เดิมนั้นมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้อีกต่อไป ดังนั้นแม้การชำระหนี้ของจำเลยตกเป็นพ้นวิสัยจำเลยก็ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตอบแทนจากนายประยุทธ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า นายประยุทธได้ชำระเงินจำนวน 8,000,000 บาท อันเป็นการชำระหนี้ของนายประยุทธตามสัญญาดังกล่าวให้จำเลยรับไปครบถ้วนแล้ว นายประยุทธจึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวได้ เมื่อนายประยุทธถึงแก่ความตายและโจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายประยุทธ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
สัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้เอกสารหมาย จ.6 จะเป็นโมฆะเพราะมีวัตถุประสงค์ขัดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484มาตรา 63 ก็ต่อเมื่อบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติห้ามมิให้มีการโอนสัมปทานทำไม้นั้นแต่ปรากฏว่าพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช2484 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ รัฐบาลมีอำนาจให้สัมปทานในการทำไม้ชนิดใดหรือเก็บหาของป่าอย่างใดในป่าใดโดยมีขอบเขตเพียงใด หรือเก็บหาของป่าใดโดยมีขอบเขตเพียงใดและในสัมปทานจะให้มีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขอย่างใดก็ได้” และวรรคสองบัญญัติว่า “รัฐบาลมีอำนาจให้ผู้รับสัมปทานเสียเงินค่าภาคหลวงตามอัตราที่รัฐบาลเห็นควรแต่ไม่เกินอัตราอย่างสูงที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้และจะให้ผู้รับสัมปทานเสียเงินแก่รัฐบาลตามจำนวนที่รัฐบาลจะกำหนดอีกก็ได้” โดยมิได้มีบัญญัติห้ามมิให้ผู้รับสัมปทานโอนสิทธิตามสัมปทานให้แก่ผู้อื่น ทั้งไม่มีบทบัญญัติอื่นในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 บัญญัติห้ามเด็ดขาดเช่นนั้นด้วย สัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้เอกสารหมาย จ.6 จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์ขัดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 อันจะทำให้สัญญานั้นเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิม(มาตรา 150 ใหม่) แต่อย่างใดไม่ และแม้สัมปทานทำไม้ฉบับที่27/2517 เอกสารหมาย จ.6 ข้อ 33 ระบุว่า “ผู้ให้สัมปทานมีอำนาจสั่งเพิกถอนสัมปทานได้เมื่อปรากฏว่า (2) ผู้รับสัมปทานขาย ให้ หรือโอนให้ผู้อื่นไปด้วยประการใด หรือยอมให้ผู้อื่นใช้สิทธิอันได้มาตามสัมปทานนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือกระทำการใด ๆ อันเห็นได้ว่าผู้รับสัมปทานมิได้ทำการตามสัมปทานนี้ด้วยตนเอง” ก็ตาม แต่การฝ่าฝืนข้อกำหนดตามสัมปทานดังกล่าวก็มีผลเพียงทำให้ผู้ให้สัมปทานมีอำนาจสั่งเพิกถอนสัมปทานนั้นได้เท่านั้น มิใช่เป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 แต่อย่างใด การโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้ตามสัญญาลงวันที่ 22 มิถุนายน 2531 จึงหาเป็นโมฆะไม่
เมื่อสิทธิในการเป็นผู้รับโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้ ตามสัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้เอกสารหมาย จ.6 ของนายประยุทธไม่ตกเป็นโมฆะและจำเลยไม่มีสิทธิรับชำระหนี้ตอบแทนดังที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น เมื่อจำเลยได้รับชำระหนี้จำนวน 8,000,000บาท ล่วงหน้าไปแล้ว จำเลยจำต้องคืนให้แก่พระราชบัญญัติ แต่จำเลยยังไม่คืน นายประยุทธจึงมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลย ดังนั้นเมื่อนายประยุทธถึงแก่ความตาย สิทธิดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของนายประยุทธจึงเป็นมรดกของนายประยุทธตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600
นายประยุทธได้ชำระเงินจำนวน 8,000,000 บาท ให้แก่จำเลยไปตามสัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย และเป็นการชำระหนี้ไปโดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เงินจำนวน 8,000,000 บาท ที่จำเลยได้รับนั้นจึงไม่เป็นลาภมิควรได้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 วรรคหนึ่ง ดังที่จำเลยกล่าวอ้าง การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยจึงไม่อยู่ในบังคับของอายุความเรื่องลาภมิควรได้ตามมาตรา 406 วรรคหนึ่งดังกล่าวที่จะต้องฟ้องเรียกร้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่ผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 409 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนน 8,000,000 บาทให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประยุทธ ผาทอง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับจากวันฟ้อง(วันที่ 3 กันยายน 2534) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วม