คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 200/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยชำระเงินจำนวน350,000 บาทแก่โจทก์ โจทก์แก้อุทธรณ์ทำนองว่า ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 350,000 บาทได้ เท่ากับมีประเด็นในชั้นอุทธรณ์เกี่ยวกับการแบ่งสินสมรส เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาให้แบ่งสินสมรสตามคำขอบังคับในฟ้องได้เพราะเป็นการแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. ว่าด้วยคำพิพากษาที่จะต้องตัดสินตามฟ้องทุกข้อ ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทแต่เพียงว่า จำเลยผิดสัญญาแบ่งทรัพย์สินสมรสหรือไม่ แม้จำเลยจะให้การว่าโจทก์ปิดบังซ่อนเร้นสินสมรสไว้จำนวนหนึ่งมีมูลค่ามากกว่าจำนวนเงิน 350,000 บาท ก็ตามแต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และจำเลยมิได้คัดค้านโต้แย้งจึงถือว่าไม่มีประเด็นแห่งคดีในเรื่องการเบียดบังซ่อนเร้นสินสมรส.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยได้จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน1 คน ต่อมาโจทก์จำเลยได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันและทำบันทึกตกลงแบ่งสินสมรสกัน ณ สำนักทะเบียนอำเภอหาดใหญ่ โดยสิ่งปลูกสร้างอาคารพร้อมที่ดิน 4 แปลงและร้านตัดเสื้อผ้า ซึ่งเป็นสินสมรส โจทก์ตกลงยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่จำเลย โดยจำเลยจะชดใช้เงินให้แก่โจทก์เป็นเงิน 350,000 บาท ภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2526แต่มีเงื่อนไขว่าหากจำเลยขายที่ดินทั้งหมดไม่ได้หรือจำเลยไม่ชำระเงินชดใช้แก่โจทก์ได้ภายในกำหนดดังกล่าว โจทก์จำเลยตกลงแบ่งปันสินสมรสให้แก่กันคนละครึ่ง นับแต่วันที่จดทะเบียนหย่าจำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในสินสมรสทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว และเมื่อถึงกำหนดชำระเงินจำเลยก็ไม่ได้ชำระเงินให้โจทก์ ขอบังคับให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์สินสมรสทั้งหมดตามฟ้องให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งหากไม่สามารถแบ่งปันได้ให้นำทรัพย์สินสมรสดังกล่าวทั้งหมดออกขายทอดตลาดนำเงินทั้งหมดมาแบ่งปันให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์ตามฟ้องจริงแต่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยยังมีเงินและทรัพย์สินสมรสส่วนอื่นที่โจทก์ได้ปิดบังซ่อนเร้นมิให้จำเลยรู้ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าจำนวนเงิน350,000 บาท จึงถือว่าจำเลยได้ชำระเงินตามบันทึกข้อตกลงจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามบันทึกข้อตกลงท้ายฟ้องอีก
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 350,000 บาท แก่โจทก์ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งสินสมรสตามฟ้องทั้งหมดให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งแต่ให้มีมูลค่าไม่เกิน350,000 บาท หากไม่สามารถแบ่งได้ให้นำสินสมรสดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งแต่ไม่เกิน 350,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยาและได้ตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างกัน โดยจำเลยได้รับทรัพย์สินจำนวนหนึ่ง และจำเลยจะใช้เงินจำนวน 350,000 บาท ให้แก่โจทก์ มีรายละเอียดตามบันทึกเอกสารหมาย จ.1 เมื่อครบกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในบันทึกจำเลยไม่ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์มีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยแบ่งสินสมรสตามฟ้องทั้งหมดให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง แต่ให้มีมูลค่าไม่เกิน 350,000 บาท นั้นเป็นการไม่ชอบ เพราะไม่ใช่ประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ ทั้งโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้เช่นกัน ในปัญหานี้ เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 350,000บาท ให้แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยแบ่งสินสมรสตามฟ้องให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง ถ้าแบ่งไม่ได้ให้นำทรัพย์ขายทอดตลาด นำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งสินสมรสระบุว่า หากขายที่ดินไม่ได้ให้แบ่งทรัพย์สินคนละครึ่ง ไม่ได้ระบุว่าถ้าจำเลยไม่ชำระเงิน350,000 บาท แล้วให้นำทรัพย์มาแบ่งคนละครึ่ง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบว่า จำเลยขายที่ดินไม่ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิให้จำเลยแบ่งทรัพย์ข้อวินิจฉัยดังกล่าว จำเลยเห็นว่าควรต้องยกฟ้องโจทก์ มิใช่พิพากษาให้จำเลย ชำระเงิน ซึ่งไม่ใช่เป้นคำขอท้ายฟ้องของโจทก์อุทธรณ์ในข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 350,000 บาท เป็นการพิพากษาเกินคำขอ แต่บันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินสมรสเอกสารหมาย จ.1เมื่ออ่านข้อความรวมทั้งหมดแล้วเข้าใจได้ว่า จำเลยต้องชำระเงินจำนวน 350,000 บาท ภายในเวลาที่กำหนด หากไม่สามารถปฏิบัติ กล่าวคือไม่ชำระเงินจำนวนดังกล่าวภายในกำหนดก็ให้นำทรัพย์สินมาแบ่งกันคนละครึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงพิพากษาให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง แต่ให้มีมูลค่าไม่เกิน 350,000 บาท ข้อเท็จจริงในคดีเป็นไปดังกล่าวมานี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาเกินคำขอเป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษา จึงเป็นการวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่จำเลยพอใจแต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งนั้นก็เพื่อให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์อันเป็นประเด็นในคดีที่โจทก์มีคำขอบังคับมาในฟ้องซึ่งมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจพิพากษาดังกล่าวหรือไม่ โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ขึ้นมา ในปัญหานี้ เห็นว่าแม้โจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์ก็ตาม แต่ผลของคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็เป็นประโยชน์แก่โจทก์เป็นผลให้โจทก์ได้รับเงินจำนวน 350,000 บาท และโจทก์พอใจในเงินจำนวนนั้นเช่นกัน ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง จึงเท่ากับเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้อง เพื่อจำเลยจะไม่ต้องชำระเงินจำนวนตามคำพิพากษาในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นด้วยกับอุทธรณ์ของจำเลย แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า จำเลยต้องแบ่งสินสมรสตามฟ้องให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งโดยอาศัยการแปลความในบันทึกข้อตกลง เอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่สืบเนื่องมาจากปัญหาที่ว่าจำเลยต้องชำระเงินจำนวน 350,000 บาทหรือไม่ ทั้งกรณีนี้โจทก์ได้แก้อุทธรณ์ในทำนองว่าศาลมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 350,000 บาท ให้แก่โจทก์ได้เท่ากับมีประเด็นในชั้นอุทธรณ์เกี่ยวกับการแบ่งสินสมรสแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีอำนาจพิพากษาให้แบ่งสินสมรสตามคำขอบังคับในฟ้องได้ เพราะเป็นการแก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษา ที่จะต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ จะเห็นต่อไปว่า การแบ่งสินสมรสในกรณีนี้อาจนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดได้เงินส่วนแบ่งแต่ละคนเป็นจำนวนมากกว่า 350,000 บาทก็ได้ แต่เงินจำนวนส่วนที่เกินนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะพิพากษาให้โจทก์รับไปไม่ได้ เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงถูกต้องและชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาต่อไปอีกข้อหนึ่งว่า ที่จำเลยนำสืบว่า โจทก์ได้เบียดบังเงินสินสมรสเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่า เป็นการชำระเงินตามสัญญาและเงื่อนไขตามบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินสมรสไปแล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องนอกประเด็น ในปัญหานี้เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทแต่เพียงว่า จำเลยผิดสัญญาแบ่งทรัพย์สินสมรสหรือไม่ เท่านั้น แม้จำเลยจะให้การว่า โจทก์ปิดบังซ่อนสินสมรสไว้จำนวนหนึ่งมีมูลค่ามากกว่าจำนวนเงิน 350,000 บาท ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ และจำเลยมิได้คัดค้านโต้แย้ง จึงถือว่าไม่มีประเด็นแห่งคดีในเรื่องการเบียดบังซ่อนเร้นสินสมรส เมื่อจำเลยนำสืบเข้ามา ในคดีย่อมไม่มีประโยชน์ใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าเป็นเรื่องนอกประเด็นจึงชอบแล้วฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน.

Share