คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการโอนที่ดินเป็นเงินที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎรเป็นค่าตอบแทนที่รัฐให้บริการแก่ราษฎรในการให้ราษฎรได้สิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์การที่โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินได้จากการขายทอดตลาดและจดทะเบียนรับโอนที่ดินตามคำสั่งของศาล เงินค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินจึงเป็นเงินค่าธรรมเนียมตามป. ที่ดินฯ มาตรา 103 เป็นเงินที่จำเลยที่ 2 ตัวแทนจำเลย 1 เรียกเก็บจากโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายแม้ต่อมาศาลฎีกาจะมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินที่โจทก์ประมูลซื้อได้และให้จดทะเบียนใส่ชื่อ ล.เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เหมือนเดิม แล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดใหม่การเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวไม่ใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ตัวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งตามประมวลที่ดินฯก็ไม่มีบทบัญญัติให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินแก่โจทก์ และเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวจำเลยที่ 1 ก็ได้ส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินคืนจากจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินจำนวน 78,447 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน78,447 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2525 โจทก์เป็นผู้ซื้อในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 94 ตำบลบึงยี่โถอำเภอกลางเมือง (ธัญบุรี) จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 98 ไร่21 ตารางวา ราคา 816,000 บาท อันเป็นกรรมสิทธิ์ของนายลพวัฒนะธำรงค์ จำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ 382/2525 ของศาลชั้นต้น (ศาลแพ่ง) โจทก์ได้ชำระราคาที่ดินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดธัญบุรีครบถ้วนแล้ว ศาลจังหวัดธัญบุรีจึงมีหนังสือลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2525 ถึงจำเลยที่ 2 ให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 94 ที่ขายทอดตลาดใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยให้โจทก์เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมการโอนที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีสาขาธัญบุรี ได้เรียกค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินจากโจทก์จำนวน 78,447 บาท ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2525 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 94 ดังกล่าวให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดใหม่ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3213/2528 ระหว่างธนาคารทหารไทย จำกัด โจทก์ นายลพ วัฒนะธำรงค์ ที่ 1นางประไพพักตร์ วัฒนะธำรงค์ ที่ 2 จำเลย นายทรง จำปาเกิดทรัพย์ผู้ร้องคัดค้าน ศาลจังหวัดธัญบุรีจึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1ในคดีนี้ให้จดทะเบียนในชื่อนายลพ วัฒนะธำรงค์ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เหมือนเดิมและให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนใส่ชื่อนายลพ วัฒนะธำรงค์เหมือนเดิม แต่ไม่ยอมคืนเงินค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินให้แก่โจทก์คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1จะต้องคืนเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 103 บัญญัติว่า “ในการดำเนินการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน การรังวัด การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการทำธุระอื่น ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแต่ต้องไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้” และกฎกระทรวงฉบับที่ 32 (2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ข้อ 7(ก) ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมีทุนทรัพย์เรียกตามจำนวนทุนทรัพย์ร้อยละ 2ดังนั้น เงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการโอนที่ดินเป็นเงินที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎรเป็นค่าตอบแทนที่รัฐให้บริการแก่ราษฎรในการให้ราษฎรได้สิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยบริบูรณ์ทางทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมายการที่โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 94 ดังกล่าวได้จากการขายทอดตลาดและจดทะเบียนรับโอนที่ดินตามคำสั่งของศาลจังหวัดธัญบุรี เงินค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินที่ซื้อจากการขายทอดตลาดจึงเป็นเงินค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 103 เป็นเงินที่จำเลยที่ 2 ตัวแทนจำเลยที่ 1 เรียกเก็บจากโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ความจะปรากฏต่อมาว่า ศาลฎีกาได้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินที่โจทก์ประมูลซื้อได้ และศาลได้ให้จดทะเบียนใส่ชื่อนายลพ วัฒนะธำรงค์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เหมือนเดิมแล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดใหม่ การเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวไม่ใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ตัวแทนของจำเลยที่ 1ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดินก็ไม่มีบทบัญญัติไว้ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินแก่โจทก์ และเงินค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินจำเลยที่ 2 เรียกเก็บจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ได้ส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินคืนจากจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไปอีก ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share