แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดว่าพนักงานที่มีอายุงานครบ 10 ปี หรือ 10 ปี ขึ้นไปจำเลยจะสมทบให้อีกร้อยละร้อยของเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยเมื่อลาออก และพนักงานที่มีอายุงานเกิน 15 ปี ขึ้นไปเมื่อลาออก จำเลยจะ พิจารณามอบเงินให้อีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 180 วัน ของรายได้ ครั้งสุดท้ายที่ได้รับ แต่เมื่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ของจำเลยว่าด้วยสวัสดิการพนักงานมีข้อความว่า บริษัทจำเลยได้ตระหนักถึงความมั่นคงและความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน ทุกคนที่ทำงานอยู่กับบริษัท บริษัทจึงได้จัดให้มีสวัสดิการต่าง ๆ ขึ้น ให้แก่พนักงานเพื่อเป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจ ตลอดจน ให้พนักงานมีความรู้สึกที่มั่นคงในการทำงานกับบริษัท ซึ่งบริษัท ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสวัสดิการ ของพนักงานขึ้น และในระเบียบว่าด้วยเงินสะสมพนักงาน ก็มีข้อความว่า เพื่อให้พนักงานมีหลักประกันว่าจะได้รับเงิน จำนวนหนึ่งเมื่อสิ้นสุดการเป็นพนักงานของบริษัทไม่ว่าเพราะลาออกหรือเกษียณอายุ ซึ่งไม่ใช่การพ้นสภาพเป็นพนักงานเนื่องจากการกระทำความผิด บริษัทได้ตระหนักถึงความมั่นคงในอนาคตของพนักงานจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์เงินสะสมของพนักงานไว้จึงเห็นเจตนาของจำเลยที่ได้วางระเบียบข้อบังคับดังกล่าวไว้เพื่อให้พนักงานได้รับเงินจำนวนหนึ่งเป็นสวัสดิการคือเงินสะสมซึ่งเป็นของพนักงานที่จำเลยหักเก็บไว้ให้คืนพร้อมดอกเบี้ย และจำเลย จะสมทบตอบแทนให้อีกจำนวนหนึ่งรวมทั้งหากพนักงานที่มีอายุงาน เกิน 15 ปีขึ้นไป ลาออกก็จะได้รับเงินจากจำเลยอีกไม่ต่ำกว่า 180 วันของรายได้ครั้งสุดท้ายที่ได้รับ ฉะนั้น จำเลยจะหยิบยกคำว่า”จะสมทบให้” หรือคำว่า “จะพิจารณามอบเงินให้” มาแปลความหมายว่า เป็นดุลพินิจของจำเลยที่จะจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวหรือไม่มิได้
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสามเข้าทำงานเป็นลูกจ้าง โดยจำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับเงินสะสมว่าเพื่อให้พนักงานมีหลักประกันว่าจะได้รับเงินจำนวนหนึ่งเมื่อสิ้นสุดการเป็นพนักงาน ไม่ว่าเพราะลาออกหรือเกษียณอายุซึ่งไม่ใช่การพ้นสภาพเป็นพนักงานเนื่องจากการกระทำความผิดจำเลยจึงกำหนดหลักเกณฑ์เงินสะสมพนักงานไว้ ดังนี้ พนักงานที่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำแล้วจะเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนเงินสะสมโดยอัตโนมัติ และยินยอมมอบเงินค่าแรงของตนให้แก่จำเลยทุกเดือน เดือนละ 1 วัน เมื่อพนักงานมีอายุงาน 10 ปีหรือ 10 ปีขึ้นไป จำเลยจะสมทบให้อีกร้อยละร้อยของเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยเมื่อลาออก โจทก์ทั้งสามมีอายุงาน 10 ปีขึ้นไปมีสิทธิได้รับเงินสมทบเท่ากับเงินสะสมโจทก์ทั้งสามเมื่อลาออกมีอายุงานเกินกว่า 15 ปี มีสิทธิได้รับเงินไม่น้อยกว่า 180 วันของรายได้ครั้งสุดท้าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสะสมจำนวน67,641.33 บาท ดอกเบี้ยเงินสะสมจำนวน 39,360.37 บาทเงินสมทบจำนวน 67,641.33 บาท และเงินตอบแทนกรณีลาออกโดยมีอายุงานเกิน 15 ปี จำนวน 186,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1เงินสะสมจำนวน 29,963.46 บาท ดอกเบี้ยเงินสะสมจำนวน19,974.62 บาท เงินสมทบจำนวน 29,963.46 บาท และเงินตอบแทนกรณีลาออกโดยมีอายุงานเกิน 15 ปี จำนวน 86,256 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เงินสะสมจำนวน 23,589.62 บาท ดอกเบี้ยเงินสะสมจำนวน 14,854.30 บาท เงินสมทบจำนวน 23,589.62 บาท และเงินตอบแทนกรณีลาออกโดยมีอายุงานเกิน 15 ปี จำนวน 64,932 บาท แก่โจทก์ที่ 3
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า จำเลยมีกฎระเบียบการทำงานไว้ว่าเมื่อพนักงานลาออก หรือเกษียณอายุการทำงานซึ่งมิใช่การลาออกเพราะได้กระทำความผิด จำเลยจะพิจารณาเรื่องเงินและการจ่ายเงินว่าสมควรจะจ่ายเงินแก่พนักงานที่ลาออกหรือเกษียณอายุการทำงานหรือไม่ อย่างไร อันเป็นดุลพินิจของจำเลย โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินต่าง ๆ จากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสะสมแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 67,461.33 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 29,963.46 บาทโจทก์ที่ 3 จำนวน 23,589.62 บาท ดอกเบี้ยของเงินสะสมแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 39,360.37 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 19,974.62 บาทโจทก์ที่ 3 จำนวน 14,854.30 บาท เงินสมทบแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 67,641.33 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 29,963.46 บาทโจทก์ที่ 3 จำนวน 23,589.62 บาท และเงินตอบแทนกรณีลาออกแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 186,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 86,256 บาทโจทก์ที่ 3 จำนวน 64,932 บาท
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าตามกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย จ.1หมวดที่ 9 ข้อ 2(7) กำหนดว่า พนักงานที่มีอายุงานครบ 10 ปีหรือ 10 ปี ขึ้นไป จำเลยจะสมทบให้อีกร้อยละร้อยของเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยเมื่อลาออก และ (8) พนักงานที่มีอายุงานเกิน 15 ปี ขึ้นไปเมื่อลาออก จำเลยจะพิจารณามอบเงินให้อีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 180 วัน ของรายได้ครั้งสุดท้ายที่ได้รับเมื่อพิจารณาถ้อยคำตามเอกสารดังกล่าวที่ใช้คำว่า “จะสมทบให้”ก็ดี “จะพิจารณามอบเงินให้” ก็ดี เป็นเจตนาของจำเลยที่ร่างกฎระเบียบดังกล่าวให้มีความหมายว่าเป็นการให้สิทธิแก่จำเลยที่จะใช้ดุลพินิจจ่ายเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ย เงินสมทบ และเงินตอบแทนกรณีลาออกโดยมีอายุงานเกิน 15 ปี หรือไม่ เพียงใด นั้น เห็นว่าตามกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยว่าด้วยหมวดที่ 9ว่าด้วยสวัสดิการพนักงาน มีข้อความว่า บริษัทได้ตระหนักถึงความมั่นคงและความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานทุกคนที่ทำงานอยู่กับบริษัท บริษัทจึงได้จัดให้มีสวัสดิการต่าง ๆ ขึ้นให้แก่พนักงานเพื่อเป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจตลอดจนให้พนักงานมีความรู้สึกที่มั่นคงในการทำงานกับบริษัท ซึ่งบริษัทถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานขึ้น ฯลฯ และในข้อ 2 ว่าด้วยเงินสะสมพนักงาน มีข้อความว่าเพื่อให้พนักงานมีหลักประกันว่า จะได้รับเงินจำนวนหนึ่งเมื่อสิ้นสุดการเป็นพนักงานของบริษัทไม่ว่าเพราะลาออกหรือเกษียณอายุซึ่งไม่ใช่การพ้นสภาพเป็นพนักงานเนื่องจากการกระทำความผิดบริษัทจึงได้ตระหนักถึงความมั่นคงในอนาคตของพนักงาน จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์เงินสะสมของพนักงานไว้ดังนี้ (7) พนักงานที่มีอายุครบ 10 ปี หรือ 10 ปี ขึ้นไป บริษัทจะสมทบให้อีกร้อยละร้อยของเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยเมื่อลาออก (8) พนักงานที่มีอายุงานเกิน 15 ปี ขึ้นไป เมื่อลาออก บริษัทจะพิจารณามอบเงินให้อีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 180 วันของรายได้ครั้งสุดท้ายที่ได้รับดังนี้ แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยว่าที่ได้วางระเบียบข้อบังคับดังกล่าวไว้ก็เพื่อให้พนักงานได้รับเงินจำนวนหนึ่งเป็นสวัสดิการคือเงินสะสม ซึ่งเป็นของพนักงานที่จำเลยหักเก็บไว้ให้คืนพร้อมดอกเบี้ย และจำเลยจะสมทบตอบแทนให้อีกจำนวนหนึ่งรวมทั้งหากพนักงานที่มีอายุงานเกิน 15 ปีขึ้นไปลาออกก็จะได้รับเงินจากจำเลยอีกไม่ต่ำกว่า 180 วัน ของรายได้ครั้งสุดท้ายที่ได้รับ ฉะนั้น จำเลยจะหยิบยกคำว่า “จะสมทบให้” ก็ดี “จะพิจารณามอบเงินให้”ก็ดี มาแปลความหมายว่าเป็นเจตนาของจำเลยในการออกกฎระเบียบให้เป็นดุลพินิจของจำเลยที่จะจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ก็ได้นั้นย่อมฟังไม่ขึ้น จำเลยจึงต้องจ่ายเงินแก่โจทก์ทั้งสามตามฟ้อง
พิพากษายืน