คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 602/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2ต่างเป็นทายาทของ อ.เจ้ามรดกก่อนอ.ถึงแก่กรรมได้เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3 แล้วมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ ปลูกบ้านอยู่อาศัยและทำประโยชน์โดยโจทก์ทำสวนผลไม้ตลอดมาหลังจาก อ.ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ตามคำสั่งศาล จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปขอเช่าที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์การที่จำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เช่าที่ดินพิพาทตามสัญญาเช่าฉบับพิพาท เป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ สมคบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่คำนึงถึงความยุติธรรมที่โจทก์จะพึงได้รับขอให้เพิกถอนสัญญาเช่าที่ดินพิพาทดังกล่าว แต่ระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 3 มีข้อความว่าอย่างใด โจทก์มิได้ระบุไว้ให้ชัด เป็นเพียงกล่าวอ้างโดยไม่มีข้อเท็จจริงสนับสนุน เมื่อจำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดีปฏิเสธว่าการทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1และที่ 2 กระทำโดยสุจริต มิได้สมคบกับฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนี้ ข้ออ้างของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดี อ. บิดาโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรม เมื่อสิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว และเมื่อผู้เช่าถึงแก่กรรม สัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 3 และ อ. ย่อมเป็นอันระงับไป ไม่ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิที่จะพิจารณาให้ ผู้ใดเช่าที่ดินพิพาทต่อไปก็ได้ ไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 จะต้องให้โจทก์เป็นผู้เช่าต่อไป เมื่อการเช่าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการขอเช่าส่วนตัวไม่เกี่ยวกับหน้าที่ผู้จัดการมรดกของ อ.ผู้ตาย ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นอยู่ จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ผู้เป็นทายาทของ อ.ที่จะฟ้องแย้งบังคับให้เพิกถอนสัญญาเช่าที่ดินพิพาทที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรชายของนายเอื้อมและนางประณีต บุญสว่าง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน คือนางสาวมิ่งขวัญ บุญสว่าง โจทก์ จำเลยที่ 1 นายอำนาจ บุญสว่างจำเลยที่ 2 และนายชาญชัย บุญสว่าง นายเอื้อมและนางประณีตถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายเอื้อมซึ่งถึงแก่กรรมภายหลังตามคำสั่งศาลชั้นต้น ในระหว่างที่นายเอื้อมยังมีชีวิตอยู่ นายเอื้อมได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากจำเลยที่ 3 นายเอื้อมได้แบ่งที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทำสวนผลไม้และปลูกบ้านโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยเข้าครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว เมื่อนายเอื้อมถึงแก่กรรมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและผู้จัดการมรดกได้ขอทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวต่อจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ใช้สิทธิโดยมิชอบฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ทำสัญญาเช่าที่ดินโดยไม่สุจริตและไม่เป็นธรรม ทั้ง ๆที่โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเช่าที่ดินดังกล่าวและขอความเป็นธรรมต่อจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอเช่าที่ดินดังกล่าวโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวกับจำเลยที่ 3 นั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อทายาทของเจ้ามรดกจึงทำให้สัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นโมฆะขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาเช่าฉบับพิพาท ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับที่ 3 เป็นโมฆะให้เพิกถอนสัญญาเช่าดังกล่าว โดยให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินแทน หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเมื่อนายเอื้อม บุญสว่างถึงแก่กรรมลง ที่ดินพิพาทว่าง ผู้เช่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และทายาทอื่นต่างยื่นคำร้องขอเช่าที่ดินดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 3 มีมติให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันเช่าที่ดินดังกล่าว ดังนั้น สิทธิการเช่าของจำเลยที่ 1และที่ 2 จึงเป็นสิทธิส่วนตัว ไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ กล่าวอ้างถึงการเช่าที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และการเช่าที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 1และที่ 2 กระทำในฐานะส่วนตัว จึงมิได้จัดการมรดกเป็นปฏิปักษ์ต่อทายาทอื่น และไม่ต้องได้รับความยินยอมจากทายาทอื่น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า เมื่อนายเอื้อมผู้เช่าที่ดินถึงแก่กรรมสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 3 กับนายเอื้อมจึงสิ้นสุดลงนับแต่วันที่นายเอื้อมถึงแก่กรรมเพราะสิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า ไม่ตกทอดแก่ทายาท จำเลยที่ 3ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ย่อมมีสิทธินำที่ดินดังกล่าวออกให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เช่าได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างนัดชี้สองสถาน จำเลยทั้งสามได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1และที่ 2 ต่างเป็นทายาทของนายเอื้อม บุญสว่าง ก่อนนายเอื้อมถึงแก่กรรมได้เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3 แล้วมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ปลูกบ้านอยู่อาศัยและทำประโยชน์โดยโจทก์ทำสวนผลไม้ตลอดมา จำเลยที่ 1 มีอาชีพเป็นทนายความ จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสระบุรี มีอาชีพประกอบธุรกิจ จำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อน หลังจากนายเอื้อมถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล เมื่อจำเลยที่ 1และที่ 2 ยื่นคำขอเช่าที่ดินพิพาทต่อจำเลยที่ 3 โจทก์ยื่นคำคัดค้านต่อจำเลยที่ 3 ว่า โจทก์ประสงค์จะขอเช่าที่ดินพิพาทเพื่อทำสวนต่อไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปขอเช่าที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ การที่จำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1และที่ 2 เช่าที่ดินพิพาท เป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ สมคบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่คำนึงถึงความยุติธรรมที่โจทก์จะพึงได้รับ ขอให้เพิกถอนสัญญาเช่าที่ดินพิพาทดังกล่าว จำเลยทั้งสามให้การว่า การทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2กระทำโดยสุจริต มิได้สมคบกันฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 3 แต่ประการใด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องเห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ดังกล่าวที่อ้างว่า การกระทำของจำเลยที่ 3ที่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เช่าที่ดินพิพาท ทั้งที่โจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนและแสดงความประสงค์จะขอเช่าที่ดินพิพาทต่อจำเลยที่ 3 แล้ว เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 3 นั้น ระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 3มีข้อความว่าอย่างใด โจทก์มิได้ระบุไว้ให้ชัด เป็นเพียงกล่าวอ้างโดยไม่มีข้อเท็จจริงสนับสนุนจึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเอื้อม บุญสว่าง บิดาโจทก์จำเลยที่ 1และที่ 2 ผู้เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรม สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว เมื่อผู้เช่าถึงแก่กรรมสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 3 และนายเอื้อมย่อมเป็นอันระงับไปไม่ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาท จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิที่จะพิจารณาให้ผู้ใดเช่าที่ดินพิพาทต่อไปก็ได้ ไม่ผูกพันจำเลยที่ 3จะต้องให้โจทก์เป็นผู้เช่าต่อไป เมื่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2ต่างต้องการเช่าที่ดินพิพาทต่อจากผู้ตาย จำเลยที่ 3 ตกลงให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เช่าต่อไป ก็เป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 3ซึ่งกระทำได้ ทั้งการเช่าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการขอเช่าส่วนตัวไม่เกี่ยวกับหน้าที่ผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นอยู่จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องบังคับให้เพิกถอนสัญญาเช่าที่ดินพิพาทที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน

Share