คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 465/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีแพ่งเมื่อจำเลยถูกฟ้อง นอกจากจำเลยจะให้การปฏิเสธ แล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิหักกลบลบหนี้และฟ้องแย้งได้ หากหนี้นั้นมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันและถึงกำหนดชำระแล้ว โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยได้ก่อสร้างอาคารสูงหลายสิบชั้นโดยประมาท เป็นเหตุให้เศษวัสดุก่อสร้างตกใส่บ้านของโจทก์ได้รับความเสียหายหลายประการจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์และจำเลยทำไว้ต่อกันว่า จำเลยยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นค่าชดเชยที่ต้องอพยพครอบครัวโจทก์ทั้งหมดไปอยู่สถานที่อื่นภายใน 1 ปี แต่โจทก์และครอบครัวไม่ได้ไปเช่าที่แห่งอื่นอยู่คงอยู่ในบ้านเดิมตลอดมาและฟ้องแย้งเรียกเงิน 120,000 บาท คืนจากโจทก์ ดังนี้แม้คำฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องละเมิด ส่วนคำฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องผิดสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตามแต่เรื่องผิดสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก็คือการที่โจทก์และครอบครัวรับเงินค่าชดเชยจากจำเลยไปโดยสัญญาว่าจะต้องอพยพครอบครัวทั้งหมดไปอยู่ที่อื่นนอกบ้านที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำละเมิดให้ได้รับความเสียหายแต่แล้วก็ไม่ปฏิบัติตามกลับมาฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายต่าง ๆรวมทั้งค่าเสียหายที่โจทก์และครอบครัวไม่สามารถอยู่ในบ้านหลังที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำละเมิดด้วย จึงถือได้ว่าฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมของโจทก์พอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177,179 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในบ้านเลขที่ 59,61 และ 63 จำเลยได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสูงหลายสิบชั้นอยู่ใกล้ชิดกับบ้านโจทก์โดยประมาทเป็นเหตุให้เศษวัสดุก่อสร้างตกใส่บ้านของโจทก์ได้รับความเสียหายหลายประการ กล่าวคือกระเบื้องมุงหลังคาทะลุ แผ่นฝ้าทะลุ บ้านมีรอยร้าวตามผนังและในส่วนตัวบ้าน ค่าเสียหายจากการที่โจทก์และครอบครัวไม่สามารถอยู่ในบ้านดังกล่าวได้ ต้องไปเช่าบ้านอยู่และค่าเสียหายที่เกิดจากการที่โจทก์และครอบครัวต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเช่น ค่ารถยนต์แท็กซี่สำหรับโจทก์และครอบครัวตลอดระยะเวลาที่จำเลยยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 200,000 บาทขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 200,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ฟ้องเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่วันทำละเมิด คดีจึงขาดอายุความ โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยเข้าไปซ่อมแซมให้เรียบร้อย และยอมใช้เงินค่าเสียหายอื่น ๆ ให้อีกเป็นเงิน 150,000 บาท ภายใน 1 ปีนับแต่ทำสัญญา หากมีความชำรุดบกพร่องกับงานซ่อมแซมบ้านเลขที่ 61หลังเดียวกันเกิดขึ้นอีก จำเลยจะซ่อมให้ภายใน 7 วันนับแต่วันได้รับแจ้งจากโจทก์ ซึ่งโจทก์เพิ่งให้ทนายมีหนังสือแจ้งจำเลยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยก็นัดจะซ่อมให้ตามสัญญา แต่โจทก์ปฏิเสธ หวังเรียกเงินเกินความจริงหาเหตุมาฟ้องโดยไม่สุจริต โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 เรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นค่าชดเชยที่ต้องอพยพครอบครัวโจทก์ทั้งหมดไปอยู่สถานที่อื่นภายใน 1 ปี ขอเรียกเงินจากจำเลยไปแล้วเป็นเงิน 120,000 บาทแต่โจทก์และครอบครัวไม่ได้ไปเช่าที่แห่งอื่นอยู่ คงอยู่ในบ้านเดิมตลอดมาโจทก์จึงต้องคืนเงิน 120,000 บาท ให้จำเลยเมื่อหักกับค่าเสียหายที่โจทก์จะพึงมี 5,000 บาท โจทก์คงต้องคืนเงินแก่จำเลย 115,000 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์คืนเงิน115,000 บาท แก่จำเลย
ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การของจำเลย ส่วนฟ้องแย้งมีคำสั่งว่าไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงไม่รับ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้จำเลย
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยมาสู่ศาลฎีกาว่าฟ้องแย้งของจำเลยเป็นคำฟ้องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมหรือไม่ เห็นว่าคำฟ้องเดิมนั้นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยหาว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยเมื่อระหว่างวันที่ 20 มีนาคม 2538ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2538 จำเลยได้ก่อสร้างอาคารสูงหลายสิบชั้นโดยประมาทเป็นเหตุให้เศษวัสดุก่อสร้างตกใส่บ้านของโจทก์ได้รับความเสียหายหลายประการกล่าวคือ กระเบื้องมุงหลังคาทะลุแผ่นฝ้าทะลุ บ้านมีรอยร้าวตามผนังและในส่วนตัวบ้านรวมทั้งค่าเสียหายจากการที่โจทก์และครอบครัวไม่สามารถอยู่ในบ้านดังกล่าวต้องไปเช่าบ้านอยู่ ค่าใช้จ่ายที่โจทก์และครอบครัวต้องเสียเพิ่มขึ้นเช่น ค่าจ้างรถยนต์แท็กซี่ ตลอดระยะเวลาที่จำเลยยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จรวมเป็นค่าเสียหายจากการทำละเมิดทั้งสิ้นเป็นเงิน 200,000 บาท จำเลยให้การต่อสู้หลายประการรวมทั้งฟ้องแย้งหาว่า โจทก์ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 เรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นค่าชดเชยที่ต้องอพยพครอบครัวโจทก์ทั้งหมดไปอยู่สถานที่อื่นภายใน 1 ปี ขอเรียกเงินจากจำเลยไปแล้ว 120,000 บาทแต่โจทก์และครอบครัวไม่ได้ไปเช่าที่แห่งอื่นอยู่คงอยู่ในบ้านเดิมตลอดมา จึงฟ้องแย้งเรียกเงิน 120,000 บาท คืนจากโจทก์เมื่อหักค่าเสียหายของโจทก์หากพึงมีเพียงไม่เกิน 5,000 บาทแล้วคงเหลือให้โจทก์ต้องรับผิด 115,000 บาท เห็นได้ว่าแม้คำฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องละเมิด ส่วนคำฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่เรื่องผิดสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก็คือ การที่โจทก์และครอบครัวรับเงินค่าชดเชยจากจำเลยไป โดยสัญญาว่าจะต้องอพยพครอบครัวทั้งหมดไปอยู่ที่อื่นนอกบ้านที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำละเมิดให้ได้รับความเสียหายแต่แล้วก็ไม่ปฏิบัติตามกลับมาฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายต่าง ๆรวมทั้งค่าเสียหายที่โจทก์และครอบครัวไม่สามารถอยู่ในบ้านหลังที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำละเมิดด้วย จึงถือได้ว่าฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมของโจทก์ และเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177, 179 วรรคท้ายเพราะในคดีแพ่งเมื่อจำเลยถูกฟ้อง นอกจากจำเลยจะให้การปฏิเสธแล้วจำเลยย่อมมีสิทธิหักกลบลบหนี้และฟ้องแย้งได้ หากหนี้นั้นมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันและถึงกำหนดชำระแล้ว
พิพากษากลับเป็นว่า ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณา

Share