คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6178/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงโทษจำคุกจำเลยที่ได้อ่านคำพิพากษาในครั้งแรกให้จำคุกจำเลยคนละ 2 ปี มาเป็นจำคุกคนละ 6 ปี เพราะเป็นการเพิ่มโทษจำเลยโดยไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ เป็นการแก้ไขคำพิพากษาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นกระบวนพิจารณาอันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย เมื่อปรากฏตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ดังกล่าวให้ ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว ซึ่งเป็นอุทธรณ์ที่มิได้ต้องห้ามตามกฎหมาย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 186 (6) ประกอบมาตรา 215 ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และมาตรา 247 ประกอบป.วิ.อ. มาตรา 15
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างรวม 3 กรรมต่างกัน โดยระบุในคำฟ้องข้อ 1 ก.ข้อ 1 ข. และข้อ 1 ค. สำหรับความผิดแต่ละกรรม ดังนี้คือ วันที่ 28 กรกฎาคม2539 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันลักเอากุ้งแช่แข็งจำนวน24 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 7,680 บาท ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างไปโดยทุจริตวันที่ 8 สิงหาคม 2539 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันลักเอากุ้งแช่แข็งจำนวน 10 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 3,250 บาท ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างไปโดยทุจริต และวันที่ 14 สิงหาคม 2539 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันลักเอากุ้งแช่แข็งจำนวน 12 กิโลกรัม ปลาหมึกหอมจำนวน25 กิโลกรัม และเนื้ออกไก่จำนวน 6 กิโลกรัม คิดเป็นเงินรวม 7,882 บาทของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างไปโดยทุจริต จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ดังนี้ เท่ากับจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 รับว่าได้กระทำความผิดทั้งสามกรรมดังกล่าวจริง ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ทั้ง 3 กรรม เป็นกระทงความผิดไปได้ ตาม ป.อ.มาตรา 91
จำเลยฎีกา และศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ทั้งสามกรรมตามฟ้อง ทรัพย์ที่จำเลยลักไปมีราคาเป็นเงิน 7,680 บาท 3,250 บาทและ 7,882 บาท ซึ่งล่างทั้งสองพิพากษายืนโดยใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยเท่ากันทุกกระทงความผิดอันเป็นโทษที่หนักเกินไปและไม่เหมาะสมกับสภาพความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดในแต่ละกรรม ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลย ให้เหมาะสมแก่สภาพความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดแต่ละกระทงตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องได้

Share