แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่แพทย์ลงความเห็นว่า เมื่อได้รับการรักษาและไม่มีอาการแทรกซ้อนจะหายภายใน 8 สัปดาห์สำหรับผู้เสียหายที่ 2 และ 6 สัปดาห์ สำหรับผู้เสียหายที่ 3นั้น หมายความว่าผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ต้องป่วยเจ็บเป็นเวลาเกินกว่า 20 วัน การป่วยเจ็บนี้ย่อมหมายความรวมถึงอาจป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้ด้วย ดังนั้นการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายที่ 2และที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน และจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันนั้น จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ถูกต้องสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) แล้ว ไม่จำเป็นที่แพทย์ต้องลงความเห็นว่าผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เพราะผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 จะป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา การบรรยายฟ้องโจทก์และความเห็นของแพทย์ดังกล่าวมาข้างต้นมิได้ขัดกันหรือขัดต่อข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71, 93, 148, 151พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71, 93, 148, 151พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษ แต่ความผิดฐานขับโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 จำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาทให้ลงโทษฐานใช้รถยนต์ไม่จดทะเบียน เสียภาษีปรับ 4,000 บาทและฐานปฎิบัติ หน้าที่เป็นผู้ประจำรถโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับ4,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี ปรับ 12,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 6 ปี ปรับ 6,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันรายละเอียดปรากฎตามผลชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องแต่ตามรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ปรากฎว่าแพทย์ลงความเห็นว่าเมื่อได้รับการรักษา และไม่มีอาการแทรกซ้อนจะหายภายใน 8 สัปดาห์สำหรับผู้เสียหายที่ 2 และ 6สัปดาห์สำหรับผู้เสียหายที่ 3 ไม่ได้ลงความเห็นว่าผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันตามคำฟ้องการบรรยายฟ้องของโจทก์กับรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์จึงขัดกันและขัดต่อข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่าการที่แพทย์ลงความเห็นว่าเมื่อได้รับการรักษาและไม่มีอาการแทรกซ้อนจะหายภายใน 8 สัปดาห์สำหรับผู้เสียหายที่ 2 และ 6 สัปดาห์สำหรับผู้เสียหายที่ 3 นั้น หมายความว่าผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3ต้องป่วยเจ็บเป็นเวลาเกินกว่า 20 วัน การป่วยเจ็บนี้ย่อมหมายความรวมถึงอาจป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้ด้วย ดังนั้นการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 ได้รับอันตรายแก่การถึงสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินยี่สิบวันและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันนั้น จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ถูกต้องสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) แล้ว ไม่จำเป็นที่แพทย์ต้องลงความเห็นว่าผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เพราะผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 จะป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา การบรรยายฟ้องโจทก์และความเห็นของแพทย์ดังกล่าวมาข้างต้นมิได้ขัดกับหรือขัดต่อข้อเท็จจริงตามฎีกาของจำเลยแต่อย่างใดศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามาชอบแล้ว
พิพากษายืน