คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3768/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญามีข้อความว่า ผู้รับจ้างยินยอมให้บรรดาสิ่งก่อสร้างที่ผู้รับจ้างได้กระทำขึ้น รวมทั้งสัมภาระอุปกรณ์การก่อสร้างที่ได้ทำไว้ ณ สถานที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะเพื่อการก่อสร้าง…. ให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ว่าจ้างทั้งสิ้น นั้น ทรัพย์สินที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมควบคุมโรคติดต่อ ผู้ว่าจ้างก็เฉพาะวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างที่จะใช้ในการก่อสร้างอาคารตามสัญญา และที่ได้ก่อสร้างเป็นส่วนของอาคารตามสัญญาไปแล้วเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำการก่อสร้างด้วย
ข้อสัญญาที่ว่า ในกรณีที่ผู้รับจ้างผิดสัญญาไม่ทำงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนด กรณีจะเป็นเรื่องผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาหรือให้ผู้รับจ้างทำการก่อสร้างล่วงเวลาไป ผู้รับจ้างยินยอมรับผิดต่อผู้ว่าจ้างในสิ่งก่อสร้างและสัมภาระอุปกรณ์ในการก่อสร้างของผู้รับจ้างคงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างโดยไม่ต้องใช้ราคาแก่ผู้รับจ้าง ข้อตกลงนี้มีลักษณะเป็นการที่ผู้รับจ้างให้สัญญาว่าจะชำระหนี้อย่างอื่นที่มิใช่จำนวนเงินให้เป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 382 แก่กรมควบคุมโรคติดต่อผู้ว่าจ้าง ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของกรมควบคุมโรคติดต่อ กับสภาพหรือผลงานและพฤติการณ์ที่บริษัทจันทนิมิตก่อสร้าง จำกัด ผู้รับจ้างปฏิบัติมาแล้ว เห็นว่า เบี้ยปรับส่วนนี้เป็นเงินพอสมควรแล้วกรมควบคุมโรคติดต่อจึงมีสิทธิรับผลงานไว้โดยไม่ต้องชดใช้ราคา
หนังสือสัญญาค้ำประกันระบุว่า “ข้าพเจ้ายอมรับรู้และยินยอมด้วยในกรณีที่กรมควบคุมโรคติดต่อได้ยินยอมให้ผัดหรือผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่บริษัทจันทนิมิตก่อสร้าง จำกัด โดยเพียงแต่กรมควบคุมโรคติดต่อแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้น” เช่นนี้เป็นการที่ธนาคารผู้ค้ำประกันยินยอมด้วยล่วงหน้าในการผ่อนผันเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาในการก่อสร้างเมื่อกรมควบคุมโรคติดต่อได้ผ่อนผันเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาในการก่อสร้างจึงไม่เข้าข่ายที่ธนาคารจะหลุดพ้นความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 แม้สัญญาตอนท้ายจะมีข้อความว่ากรมควบคุมโรคติดต่อต้องแจ้งให้ธนาคารทราบโดยไม่ชักช้า ข้อความดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญอันเป็นเงื่อนไขว่าถ้าไม่ได้แจ้งจะทำให้ข้อความตอนต้นไม่เป็นผล เพราะข้อความตอนต้นเป็นการแสดงเจตนาของธนาคารที่มีผลเป็นการยินยอมด้วยในการผ่อนผันเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาแล้ว มิใช่ข้อสัญญาว่าจะปฏิบัติการชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หากเป็นเพียงคำขอร้องหรือเสนอแนะเท่านั้น ฉะนั้น แม้กรมควบคุมโรคติดต่อจะไม่ได้แจ้งธนาคาร ธนาคารก็ไม่หลุดพ้นความรับผิด
สัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า ข้าพเจ้ายอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันบริษัท จ. ต่อกรมควบคุมโรคติดต่อ เป็นเงิน 1,122,868.80 บาท ข้อสัญญานี้เป็นการผูกพันรับผิดเป็นจำนวนจำกัดแน่นอน ถ้าบริษัท จ. ต้องรับผิดต่อกรมควบคุมโรคติดต่อไม่ถึง 1,122,867.80 บาท ธนาคารผู้ค้ำประกันก็ย่อมผูกพันรับผิดตามจำนวนที่บริษัท จ. ต้องรับผิดนั้น แต่ถ้าบริษัท จ. ต้องรับผิดเกิน 1,122,867.80 บาท ธนาคารก็รับผิดไม่เกินจำนวนเงินที่จำกัดไว้แล้ว ฉะนั้น เมื่อบริษัท จ. จะต้องรับผิดชอใช้ค่าเสียหายแก่กรมควบคุมโรคติดต่อเป็นเงิน 4,700,654 บาท ธนาคารจึงต้องรับผิดด้วยเป็นเงิน 1,122,867.80 บาท

ย่อยาว

สำนวนคดีแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยตกลงจ้างโจทก์สร้างตึก ๔ ชั้น ๑ หลัง เป็นเงิน ๒๒,๔๕๗,๓๕๖ บาท โดยแบ่งงวดงานและเงินภายหลังที่โจทก์เริ่มดำเนินงานแล้ว จำเลยและตัวแทนจำเลยได้กลั่นแกล้งโจทก์ เป็นเหตุให้เกิดการขัดข้องในการปฏิบัติงานเสมอมา และเมื่อโจทก์ก่อสร้างงานงวดที่ ๑๕ ที่ ๑๖ จำเลยจ่ายเงินขาดไป ๑๖๔,๐๐๐ บาท โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา โจทก์ได้ทำงานงวดที่ ๑๗, ๑๘ และ ๑๙ เป็นเงินค่าสัมภาระและแรงงานรวม ๓,๑๐๘,๑๖๐ บาท และโจทก์ได้นำทรัพย์สินเข้าไปใช้ในการก่อสร้างราคา ๒๒๕,๐๐๐ บาท จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ขนย้ายออกโดยไม่สุจริตและทรัพย์ดังกล่าวได้สูญหายเนื่องจากการกระทำของจำเลย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้าง ค่าสัมภาระและค่าเสียหาย ๓,๖๐๗,๑๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยและตัวแทนไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์ จำเลยไม่ได้ทำผิดสัญญาจ้างโจทก์ แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาส่งงานงวดที่ ๑๕ ที่ ๑๖ เลยกำหนดเวลาจึงถูกปรับและโจทก์ยินยอมแล้ว จำเลยได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๕ โจทก์ไม่เคยก่อสร้างงานงวดที่ ๑๗, ๑๘ และ ๑๙ โจทก์ไม่เคยนำทรัพย์สินไปใช้ในการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม สิ่งก่อสร้างที่โจทก์ได้ทำขึ้นรวมทั้งสัมภาระอุปกรณ์การก่อสร้างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนคดีที่สองโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยทำการก่อสร้างตึก ๕ ชั้น ๑ หลัง เป็นเงิน ๒๒,๔๕๗,๓๔๖ บาท แบ่งการจ่ายเงินเป็น ๒๒ งวด จำเลยที่ ๑ สัญญาจะทำงานให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายใน ๖๕๐ วัน ถ้าผิดสัญญายอมให้ปรับวันละ ๔,๐๐๐ บาท จนกว่าจะแล้วเสร็จ จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันภายในวงเงินร้อยละ ๕ ของเงินค่าจ้างตามสัญญา โจทก์ได้ต่ออายุสัญญาให้จำเลยสองครั้ง แต่จำเลยที่ ๑ ก็ไม่อาจทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ และมีพฤติการณ์ละทิ้งงาน โจทก์ได้บอกเลิกสัญญา และจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญทิพย์ก่อสร้างให้ทำงานต่อเป็นเงิน ๑๓,๒๐๐,๐๐๐ บาท โดยที่โจทก์มีเงินค่าจ้างจำเลยที่ ๑ ที่เหลืออยู่ ๘,๘๙๑,๓๔๖ บาท โจทก์จึงต้องจ่ายเงินเพิ่มจากเงินค่าจ้างที่เหลืออีก ๔,๓๕๘,๖๔๔ บาท และจำเลยที่ ๑ จะต้องถูกปรับเป็นเวลา ๖๗๗ วัน เป็นเงิน ๓,๗๐๘,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๙,๐๖๖,๖๔๔ บาท (ที่ถูกเป็น ๗,๐๖๖,๖๔๔ บาท) โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๗,๐๖๖,๖๔๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดเป็นเงิน ๑,๑๒๒,๘๖๗.๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ประพฤติผิดสัญญา โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยกลั่นแกล้งจำเลยหลายประการ จำเลยทำงานถูกต้องครบถ้วนตามกำหนดเวลาทุกงวด โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินที่ชำระเกินวงเงินในสัญญาจำนวน ๔,๓๕๘,๖๔๔ บาท เพราะเป็นความผิดของโจทก์ งานส่วนที่เหลือจะใช้เงินค่าจ้างไม่เกิน ๔ ล้านบาท โจทก์จ้างเป็นเงิน ๑๓,๒๐๐,๐๐๐ บาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ค่าเสียหายสูงเกินไป งานที่ค้างจะใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน ๔๐ วัน หากจำเลยจะถูกปรับก็ไม่เกิน ๔๐ วัน ค่าปรับสูงเกินไปไม่ควรเกินวันละ ๕๐๐ บาท ค่าปรับเป็นค่าเสียหายในอนาคตบังคับไม่ได้ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ผิดสัญญา การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จเป็นความผิดของโจทก์ โจทก์ต่ออายุสัญญาให้จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ยินยอม จำเลยที่ ๒ จึงหลุดพ้นความรับผิด โจทก์เสียหายจริงเป็นเงิน ๔,๓๕๘,๖๔๔ บาท อันเป็นค่าก่อสร้างที่โจทก์ต้องจ่ายเพิ่ม หากจำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดก็ไม่เกินร้อยละ ๕ ของเงินจำนวนนี้คิดเป็นเงินเพียง ๒๑๗,๔๓๒.๒๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนคดีแรก สำหรับสำนวนคดีที่สอง ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๓,๖๘๓,๓๔๖ บาท พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ จำนวน ๑,๑๒๒,๘๖๘.๘๐ บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยที่ ๒ สำนวนคดีที่สองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ ๒ สำนวนคดีที่สองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๒๓ การควบคุมโรคติดต่อ จำเลยในสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนคดีที่สอง (ต่อไปจะเรียกโดยย่อว่ากรมควบคุมโรคติดต่อ) ให้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทจันทนิมิตก่อสร้าง จำกัด โจทก์ในสำนวนคดีแรกซึ่งเป็นจำเลยที่ ๑ ในสำนวนคดีที่สอง (ต่อไปจะเรียกโดยย่อว่าบริษัทก่อสร้าง) ให้ก่อสร้างตึก ๕ ชั้น ๑ หลัง เป็นเงิน ๒๒,๘๕๗,๓๕๖ บาท โดยมีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด จำเลยที่ ๒ ในสำนวนคดีที่สอง (ต่อไปจะเรียกโดยย่อว่าธนาคาร) ทำสัญญาค้ำประกันบริษัทก่อสร้าง ซึ่งแบ่งงวดงานและการจ่ายเงินค่าจ้างออกเป็น ๒๒ งวด กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน ๖๔๐ วัน บริษัทก่อสร้างได้ทำการก่อสร้างส่งมอบงานและรับเงินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ๑๔ งวด แต่งานงวดที่ ๑๕ และที่ ๑๖ บริษัทก่อสร้างเสร็จและส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนด กรมควบคุมโรคติดต่อจึงจ่ายเงินให้แก่บริษัทก่อสร้างไม่ครบ คงขาดอยู่ ๑๖๙,๐๐๐ บาท โดยกรมควบคุมโรคติดต่ออ้างว่าหักเป็นค่าปรับ เมื่อกรมควบคุมโรคติดต่อรับงานงวดที่ ๑๖ แล้ว เหลือเวลาตามสัญญาเพียง ๑ วัน จึงได้มีการขยายระยะเวลาให้แก่บริษัทก่อสร้างออกไป ๒ ครั้ง ซึ่งครบกำหนดครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ แต่บริษัทก่อสร้างก็ทำงานงวดที่ ๑๗, ๑๘ และ ๑๙ ได้เสร็จเพียงบางส่วน คิดเป็นมูลค่า ๑,๙๐๐,๐๐๐ บาท เป็นการผิดสัญญากรมควบคุมโรคติดต่อจึงได้บอกเลิกสัญญา โดยหนังสือลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๕ ตอนนั้นมีเงินค่าจ้างตามสัญญาที่ยังเหลืออยู่ที่กรมควบคุมโรคติดต่อเป็นเงิน ๘,๘๔๑,๓๔๖ บาท แล้วกรมควบคุมโรคติดต่อได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญทิพย์ก่อสร้างงานที่เหลืออยู่ต่อไปจนเสร็จเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๖ โดยเสียค่าจ้างไปเป็นเงิน ๑๓,๒๐๐,๐๐๐ บาท รวมเวลาจากวันครบกำหนดตามสัญญาที่ขยายออกไปครั้งสุดท้ายระหว่างกรมควบคุมโรคติดต่อกับบริษัทก่อสร้างถึงวันที่อาคารเสร็จเป็นเวลา ๖๗๗ วัน
ประเด็นข้อแรก ทรัพย์สินตามฟ้องข้อ ๖ เป็นกรรมสิทธิ์ของกรมควบคุมโรคติดต่อหรือไม่ สัญญาข้อ ๔. มีความว่า “ข้อ ๔. เนื่องจากพันธะซึ่งจะมีต่อกันตามสัญญานี้ ผู้รับจ้างยินยอมให้บรรดาสิ่งก่อสร้างที่ผู้รับจ้างได้กระทำขึ้นรวมทั้งสัมภาระอุปกรณ์การก่อสร้างที่ได้นำมาไว้ ณ สถานที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะเพื่อการก่อสร้างดังกล่าวในข้อ ๑. ให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ว่าจ้างทั้งสิ้น….” ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า ทรัพย์สินที่จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมควบคุมโรคติดต่อ ตามสัญญาข้อนี้คงมีเฉพาะวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างที่จะใช้ในการก่อสร้างอาคารตามสัญญา และที่ได้ก่อสร้างเป็นส่วนของอาคารตามสัญญาไปแล้วเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำการก่อสร้างด้วย แต่ทรัพย์สินตามข้อ ๖. ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการก่อสร้าง หาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมควบคุมโรคติดต่อไม่ บริษัทก่อสร้างจึงมีสิทธิเอกไปได้ ส่วนที่ว่าศาลชอบที่จะพิพากษาให้กรมควบคุมโรคติดต่อคืนทรัพย์สินแทนที่จะให้ใช้ราคาหรือไม่นั้น เห็นว่า บริษัทก่อสร้างมิได้ขอให้คืนทรัพย์แต่ขอให้ใช้ราคา ศาลล่างทั้งสองให้กรมควบคุมโรคติดต่อใช้ราคาจึงชอบแล้ว
ประเด็นที่ว่าศาลชอบที่จะนำเงินมูลค่าอาคารงวดที่ ๑๗ – ๑๙ ที่ก่อสร้างไปบ้างแล้วมูลค่า ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท มาหักออกจากจำนวนเงินที่กรมควบคุมโรคติดต่อชำระเพิ่มในการที่ไปว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญทิพย์ก่อสร้างทำจนเสร็จหรือไม่ เห็นว่า แม้บริษัทก่อสร้างมีสิทธิได้รับชดใช้ราคาสิ่งก่อสร้างที่บริษัทก่อสร้างได้ทำไปแล้วในงวดที่ ๑๗, ๑๘ และ ๑๙ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๑ ก็ตาม แต่ปรากฎว่า ในกรณีนี้มีข้อสัญญาข้อ ๕. วรรคแรก ระบุว่า ผู้รับจ้างจะทำงานให้เสร็จบริบูรณ์ภายใน ๖๕๐ วัน และวรรคสองระบุว่า “ในกรณีมีการผิดสัญญาตามความในวรรคก่อน กรณีจะเป็นเรื่องที่ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญา หรือให้ผู้รับจ้างทำการก่อสร้างล่วงเวลาไป ผู้รับจ้างยินยอมรับผิดต่อผู้ว่าจ้างดังต่อไปนี้… ค. สิ่งก่อสร้างและสัมภาระอุปกรณ์ในการก่อสร้างของผู้รับจ้างคงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างโดยไม่ต้องใช้ราคาแก่ผู้รับจ้าง” ข้อตกลงนี้มีลักษณะเป็นการที่บริษัทผู้รับจ้างให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นที่มิใช่จำนวนเงินให้เป็นเบี้ยปรรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๒ แก่กรมควบคุมโรคติดต่อผู้ว่าจ้าง ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของผู้ว่าจ้างกับสภาพหรือผลงานและพฤติการณ์ที่บริษัทก่อสร้างผู้รับจ้างปฏิบัติมาแล้ว เห็นว่า เบี้ยปรับส่วนนี้เป็นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท พอสมควรแล้ว กรมควบคุมโรคติดต่อจึงมีสิทธิรับผลงานนี้ได้โดยไม่ต้องชดใช้ราคาให้แก่บริษัทก่อสร้างอันเป็นผลให้ไม่อาจนำเอาเงินจำนวนนี้ไปหักออกจากจำนวนเงินที่กรมควบคุมโรคติดต่อชำระเพิ่มขึ้นในการไปว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญทิพย์ให้ทำงานที่เหลืออยู่ให้เสร็จไป ฎีกาข้อนี้ของกรมควบคุมโรคติดต่อฟังขึ้น
ประเด็นที่ว่าศาลชอบที่จะลดค่าปรับจากวันละ ๔,๐๐๐ บาท เป็นวันละ ๑,๐๐๐ บาท หรือไม่ เห็นว่า แม้ในสัญญากำหนดค่าปรับวันละ ๔,๐๐๐ บาท แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๓ บัญญัติว่า ถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า การที่ศาลล่างทั้งสองลดเบี้ยปรับลงเป็นวันละ ๑,๐๐๐ บาท และให้กรมควบคุมโรคติดต่อมีสิทธิได้ค่าปรับเป็นเวลา ๖๗๗ วัน เป็นเงิน ๖๗๗,๐๐๐ บาท เหมาะสมแล้ว จึงคิดค่าเสียหายที่จะชดใช้แก่กันได้ ดังนี้ กรมควบคุมโรคติดต่อเสียค่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญทิพย์ก่อสร้างอาคารที่เหลือจนเสร็จเป็นเงิน ๑๓,๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่มีเงินที่ยังมิได้จ่ายให้บริษัทก่อสร้างเหลืออยู่ ๘,๘๔๐,๓๔๖ บาท จึงเป็นเงินค่าจ้างที่ได้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเงิน ๔,๓๕๘,๖๕๔ บาท เมื่อรวมกับเบี้ยปรับที่กรมควบคุมโรคติดต่อมีสิทธิได้อีก ๖๗๗,๐๐๐ บาท และหักค่าชดใช้ราคาทรัพย์สินที่ต้องใช้แก่บริษัทก่อสร้างออก ๓๓๕,๐๐๐ บาท แล้ว คงเป็นค่าเสียหายที่บริษัทก่อสร้างจะต้องชดใช้แก่กรมควบคุมโรคติดต่อ เป็นเงิน ๔,๗๐๐,๖๕๘ บาท
สำหรับในประเด็นว่าธนาคารจะหลุดพ้นความรับผิดหรือไม่ ปรากฏว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันที่ธนาคารทำไว้ต่อกรมควบคุมโรคติดต่อ ข้อ ๒. ระบุว่า “ข้าพเจ้ายอมรับรู้และยินยอมด้วยในกรณีที่กรมควบคุมโรคติดต่อได้ยินยอมให้ผิดหรือผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่บริษัทจันทนิมิตก่อสร้าง จำกัด โดยเพียงแต่กรมควบคุมโรคติดต่อแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้น” เช่นนี้ จึงเป็นการที่ธนาคารยินยอมด้วยล่วงหน้าในการที่หากจะมีการผ่อนผันเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่บริษัทก่อสร้าง ฉะนั้น จึงถือว่าการที่กรมควบคุมโรคติดต่อให้ผ่อนผันเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่บริษัทก่อสร้างได้รับความยินยอมจากธนาคารผู้ค้ำประกันแล้ว จึงไม่เข้าข่ายที่ธนาคารจะหลุดพ้นความรับผิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐๐ แม้จะมีข้อความตอนท้ายของสัญญาข้อ ๒. ระบุว่า “โดยเพียงแต่กรมควบคุมโรคติดต่อแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้น” และปรากฏว่ากรมควบคุมโรคติดต่อมิได้แจ้งให้ธนาคารทราบถึงการผ่อนผันเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาในเรื่องนี้ก็ตาม ข้อความตอนท้ายดังกล่าวแล้วมิใช่สาระสำคัญอันเป็นเงื่อนไขว่า หากมิได้ปฏิบัติตามแล้วจะทำให้ข้อความตอนต้นไม่เป็นผล เพราะข้อความตอนต้นของสัญญาข้อ ๒. นี้ เป็นการแสดงเจตนาของธนาคารที่มีผลเป็นการยินยอมด้วยในการผ่อนผันเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาไปแล้ว มิใช่ข้อสัญญาว่าจะปฏิบัติการชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หากเป็นเพียงคำขอร้องหรือเสนอแนะเท่านั้น ธนาคารจึงไม่หลุดพ้นความรับผิด
ส่วนในประเด็นที่ว่าธนาคารจะต้องรับผิดเพียงใด เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันข้อ ๑ ความว่า ตามที่บริษัทจันทนิมิตก่อสร้าง จำกัด ได้ทำสัญญาก่อสร้างตึกรังสีและผู้ป่วยแยกโรคขนาด ๕ ชั้น จำนวน ๑ หลัง ลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๒๓ กับกรมควบคุมโรคติดต่อซึ่งบริษัทจันทนิมิตก่อสร้าง จำกัด จะต้องวางเงินสดไว้เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาไว้ต่อกรมควบคุมโรคติดต่อ เป็นเงิน ๑,๑๒๒,๘๖๗.๘๐ บาท นั้น ข้าพเจ้ายอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันบริษัทจันทนิมิตก่อสร้าง จำกัด ต่อกรมควบคุมโรคติดต่อเป็นเงินไม่เหิน ๑,๑๒๒,๘๖๗.๘๐ บาท กล่าวคือ หากบรีษัทจันทนิมิตก่อสร้าง จำกัด ไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับกรมควบคุมโรคติดต่อหรือปฏิบัติผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งของสัญญาดังกล่าวซึ่งกรมควบคุมโรคติดต่อมีสิทธิเรียกค่าปรับและหรือค่าเสียหายใด ๆ จากบริษัทจันทนิมิตก่อสร้าง จำกัด ได้แล้ว ข้าพเจ้ายอมชำระเงินแทนให้ทันทีโดยมิต้องเรียกร้องให้บริษัทจันทนิมิตก่อสร้างชำระก่อน เช่นนี้ ย่อมเป็นการผูกพันรับผิดเป็นจำนวนจำกัดแน่นอน กล่าวคือ หากบริษัทจะต้องรับผิดต่อกรมควบคุมโรคติดต่อไม่ถึงจำนวน ๑,๑๒๒,๘๖๗.๘๐ บาท ธนาคารก็จะยอมผูกพันรับผิดตามจำนวนที่บริษัทต้องรับผิดนั้น แต่ถ้าบริษัทจะต้องรับผิดต่อกรมควบคุมโรคติดต่อเกินจำนวน ๑,๑๒๒,๘๖๗.๘๐ บาท ธนาคารยอมผูกพันรับผิดเพียงไม่เกินจำนวน ๑,๑๒๒,๘๖๗.๘๐ บาท มิได้กำหนดความรับผิดเป็นร้อยละห้าของเงินที่กรมควบคุมโรคติดต่อจ่ายเพิ่มขึ้นหรือร้อยละห้าของความรับผิดของบริษัทก่อสร้างตามที่ธนาคารอ้างในฎีกาแต่อย่างใด ฉะนั้น เมื่อบริษัทก่อสร้างจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมควบคุมโรคติดต่อเป็นเงิน ๔,๗๐๐,๖๕๙ บาท ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วในประเด็นข้อ ๑. ธนาคารจึงต้องร่วมรับผิดด้วยเป็นเงิน ๑,๑๒๒,๘๖๗.๘๐ บาท ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๔,๗๐๐,๖๕๔ บาท พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share