คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ได้ให้คำรับรองต่อธนาคารผู้ให้กู้ว่าจำเลยที่ 2 ทำงานเกษตรกับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีและรับผูกพันว่าเงินที่จำเลยที่ 1 กู้นั้นเป็นเงินที่นำไปเพื่อใช้ในการเกษตรหนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้อันเนื่องจากการงานซึ่งสามีภรรยาทำด้วยกัน จำเลยทั้งสองจึงมีฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม แม้จำเลยที่ 2ไม่ได้ลงชื่อในหนังสือกู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ก็ตาม เมื่อโจทก์ซึ่งมีความผูกพันร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ใช้หนี้ของจำเลยที่ 1 ให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้ไปแล้วโจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของธนาคารผู้ให้กู้ที่มีต่อจำเลยทั้งสอง แม้จำเลยที่ 2 จะไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1จึงรับผิดต่อโจทก์ด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และผู้มีชื่อรวม 11 คนได้กู้เงินไปจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยจำเลยที่ 1กู้เงินจำนวน 13,500 บาท โจทก์จำเลยที่ 1 และผู้มีชื่อรวม 11 คนยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภรรยาให้คำรับรองและรู้เห็นเป็นใจ ยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งนำเงินกู้ไปใช้จ่ายในครอบครัว ครบกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ ธนาคารดังกล่าวทวงถามโจทก์ฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม โจทก์ได้นำเงินจำนวน 15,415.50 บาทไปชำระ โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากธนาคาร โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน———– จำนวน 15,415.50 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 15,415.50 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่าได้มอบเงินแก่โจทก์เพื่อให้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การชำระหนี้ของโจทก์เป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 และลูกหนี้อื่นอีก 9 คนด้วย โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยเพียง 1,401.41 บาท พร้อมดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 15,415.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 23 มกราคม2528 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1ชำระเงิน 15,415.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 23 มกราคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2 นำสืบรับและไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2516 จำเลยที่ 1ได้ขอขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าประจำของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาตรัง ในวันเดียวกันนี้เอง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภรรยาของจำเลยที่ 1 ได้ให้คำรับรองต่อธนาคารดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2ทำงานเกษตรกับจำเลยที่ 1 โดยตลอด ฉะนั้น จำเลยที่ 2 จึงรับผูกพันว่าบรรดาการกู้เงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 กู้จากธนาคารนี้เพื่อใช้ในการเกษตร เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภรรยาทำด้วยกันตามเอกสารหมาย จ.2 และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขาตรัง ได้รับจำเลยที่ 1 ขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าไว้แล้ว นอกจากนี้เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2521 จำเลยที่ 2 ยังได้ทำหนังสือไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาตรัง ว่า บรรดานิติกรรมทั้งหลายที่จำเลยที่ 1 คู่สมรสของจำเลยที่ 2 ทำไว้กับธนาคารดังกล่าวในเวลานี้หรือในภายหน้า จำเลยที่ 2 ขอให้ความยินยอมกับการทำนิติกรรมดังกล่าวนั้น และให้มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ด้วยตามเอกสารหมาย จ.4ต่อมาโจทก์ จำเลยที่ 1 และผู้มีชื่อรวม 11 คน ได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาตรัง เพื่อนำมาลงทุนในการผลิตยางพารา เฉพาะจำเลยที่ 1 กู้ไปจำนวน 13,500 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี กำหนดชำระคืนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2527ในการกู้เงินดังกล่าวผู้กู้ทุกคนตกลงรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตามเอกสารหมาย จ.1 เมื่อครบกำหนดสัญญาผู้กู้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาตรังครบถ้วนแล้ว คงเหลือแต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์ซึ่งได้รับการทวงถามจึงชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยจำนวน 15,415.50 บาท แทนจำเลยที่ 1ให้แก่ธนาคารดังกล่าวไป คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้ให้คำรับรองต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาตรัง ว่า จำเลยที่ 2ทำงานเกษตรกับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามี จึงรับผูกพันว่าบรรดาการกู้เงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 กู้จากธนาคารดังกล่าวเพื่อใช้ในการเกษตรเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภรรยาทำด้วยกันเมื่อต่อมาจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาตรัง เพื่อนำมาลงทุนในการผลิตยางพารา อันเป็นการใช้ในการเกษตรตรงกับคำรับรองของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวข้างต้นเช่นนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1กู้มานั้น เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภรรยาทำด้วยกัน แม้จำเลยที่ 2 จะได้ได้ลงชื่อในหนังสือกู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 ด้วย ก็ต้องถือว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วมกันตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490(3) จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้นั้นต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาตรัง ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่าโจทก์ซึ่งมีความผูกพันร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้เข้าใช้หนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาตรัง ไปแล้วเช่นนี้ โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของธนาคารดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229(3)และชอบที่จะใช้สิทธิที่ธนาคารนั้นมีอยู่โดยมูลหนี้ได้ในนามของโจทก์เองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 แม้จำเลยที่ 2จะไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ แต่โดยผลของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share