แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 โดยบรรยายฟ้องในส่วนผลของการกระทำว่า ผู้เสียหายที่ 2ที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันรายละเอียด ปรากฏตามผลชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง แม้ตามรายงานของแพทย์จะลงความเห็นว่า เมื่อได้รับการรักษาและไม่มีอาการแทรกซ้อนจะหายภายใน 8 สัปดาห์สำหรับผู้เสียหายที่ 2 และ 6 สัปดาห์สำหรับผู้เสียหายที่ 3 ก็ตาม ก็หมายความว่า ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3ต้องป่วยเจ็บเป็นเวลาเกินกว่า 20 วัน ซึ่งการเจ็บป่วยนี้ย่อมหมายความรวมถึงอาจเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้ด้วย ไม่จำเป็นที่แพทย์ต้องลงความเห็นว่า ผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เพราะผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 จะป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา การบรรยายฟ้องโจทก์และความเห็นของแพทย์ดังกล่าวมาข้างต้นมิได้ขัดต่อข้อเท็จจริง ฟ้องโจทก์ถูกต้องสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยได้ใช้รถยนต์บรรทุกที่ไม่มีหมายเลขทะเบียนขับไปตามถนนสายเชียงใหม่-ฮอด โดยรถยนต์คันดังกล่าวยังมิได้จดทะเบียนและเสียภาษีประจำปี 2534 ให้ครบถ้วนถูกต้อง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายจำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ประจำรถโดยสารเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวไปตามถนนสายเชียงใหม่-ฮอด โดยจำเลยมิได้รับใบอนุญาตขับรถจากนายทะเบียนตามกฎหมายและจำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุกไปตามถนนสายเชียงใหม่-ฮอด มุ่งหน้าจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ไปอำเภอฮอด ด้วยความประมาทโดยขับไปในขณะเมาสุราและขับด้วยความเร็วสูง ทั้งมิได้ขับให้ชิดขอบทางด้านซ้ายมือ เมื่อถึงบริเวณ ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นมีรถจักรยานยนต์แล่นอยู่ข้างหน้าในทิศทางเดียวกันจำเลยขับแซงรถจักรยานยนต์ ล้ำเข้าไปในทางเดินรถสวน ซึ่งขณะนั้น มีนายประดิษฐ์ เทพวงศ์ ผู้เสียหายที่ 1 ขับรถยนต์กระบะบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน บ-6340 เชียงใหม่ โดยมีนายบุญชม ปัญญา ผู้เสียหายที่ 2 และนางสาวแดง สมโน ผู้เสียหายที่ 3 กับพวกอีกหลายคนนั่งโดยสารมาด้วยแล่นสวนทางมาเป็นเหตุให้รถยนต์คันที่จำเลยขับมาพุ่งเข้าชนรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ได้รับความเสียหาย ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน และจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันรายละเอียดบาดแผลปรากฏตามรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71, 93, 148, 151 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 91
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71, 83 (ที่ถูกคือ 93), 151 (ที่ถูกคือ 148, 151) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษ แต่ความผิดฐานขับโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 จำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาท ให้ลงโทษฐานใช้รถยนต์ไม่จดทะเบียนเสียภาษีปรับ 4,000 บาท และฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับ 4,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี ปรับ 12,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน ปรับ 6,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันรายละเอียดปรากฏตามผลชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง แต่ตามรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ปรากฏว่าแพทย์ลงความเห็นว่า เมื่อได้รับการรักษาและไม่มีอาการแทรกซ้อนจะหายภายใน 8 สัปดาห์สำหรับผู้เสียหายที่ 2 และ 6 สัปดาห์สำหรับผู้เสียหายที่ 3 ไม่ได้ลงความเห็นว่าผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันตามคำฟ้อง การบรรยายฟ้องของโจทก์กับรายงานตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์จึงขัดกันและขัดต่อข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า การที่แพทย์ลงความเห็นว่า เมื่อได้รับการรักษาและไม่มีอาการแทรกซ้อนจะหายภายใน 8 สัปดาห์สำหรับผู้เสียหายที่ 2 และ 6 สัปดาห์สำหรับผู้เสียหายที่ 3 นั้น หมายความว่าผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ต้องป่วยเจ็บเป็นเวลาเกินกว่า 20 วัน การป่วยเจ็บนี้ย่อมหมายความรวมถึงอาจป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้ด้วย ดังนั้นการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน และจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันนั้นจึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ถูกต้องสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว ไม่จำเป็นที่แพทย์ต้องลงความเห็นว่าผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เพราะผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 จะป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา การบรรยายฟ้องโจทก์และความเห็นของแพทย์ดังกล่าวมาข้างต้นมิได้ขัดกันหรือขัดต่อข้อเท็จจริงตามฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน