คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5927/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ลักลอบปลอมหนังสือมอบอำนาจและนำโฉนดที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้มีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้ประมาทเลินเล่อ แม้จำเลยที่ 2 จะรับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตาม แต่ก็เป็นการรับจำนองอันสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยมิชอบ นิติกรรมจำนองดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ เพราะการจำนองทรัพย์สินนั้นนอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้วท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 705

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า หนังสือมอบอำนาจให้ทำนิติกรรมในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 82498 เลขที่ดิน 274 ตำบลนาดี อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ฉบับลงวันที่ 26 สิงหาคม 2541 และสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์และจำเลยที่ 2 ผู้รับจำนองเป็นโมฆะ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองดังกล่าว แล้วลงชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยปลอดจากภาระใดๆ ตามเดิมและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินเลขที่ 82498 คืนแก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลได้อ่านคำพิพากษา
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ จำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนจำนองที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 82498 เลขที่ดิน 274 ตำบลนาดี อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าว คืนแก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่กรรม นางเหม ใจดี ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 82498 เลขที่ดิน 274 ตำบลนาดี อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ จำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมของโจทก์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2541 จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจและโฉนดที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้ ซึ่งจำเลยที่ 1 กู้ยืมจำเลยที่ 2 ไปวงเงินจำนอง 260,000 บาท ตกลงจะให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต่อมาโจทก์ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 คดีถึงที่สุดแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองโดยไม่ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์เก็บต้นฉบับโฉนดที่ดิน บัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านไว้ที่บ้านของโจทก์โดยเก็บไว้ในลิ้นชักตู้เสื้อผ้าเป็นการเก็บไว้อย่างดี โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 นำโฉนดที่ดินไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือปลอม เมื่อพิจารณาลายมือชื่อของโจทก์ในเอกสารดังกล่าวเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของโจทก์ในสำเนาหนังสือถึงผู้ดำเนินงานและเลขานุการของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ (ณ ส ค.) สำเนาหนังสือถึงผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และสำเนาหนังสือขอรับบำเหน็จแล้วมีลักษณะการเขียนแตกต่างกัน ประกอบด้วยโจทก์ได้รัองทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดเกี่ยวกับเอกสาร จนกระทั่งต่อมาจำเลยมี่ 1 ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกและคดีถึงที่สุดแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ปลอมหนังสือมอบอำนาจโดยทำปลอมขึ้นทั้งฉบับ แล้วนำโฉนดที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำที่มิชอบดังกล่าวด้วย ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า รับจำนองที่ดินไว้โดยเชื่อว่าเอกสารที่จำเลยที่ 1 นำมาใช้ในการจดทะเบียนจำนองเป็นเอกสารที่นำมาถูกต้องนั้น เป็นเพียงความคิดของจำเลยที่ 2 เท่านั้น ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 มีว่า รับจำนองไว้โดยสุจริตมีผลใช้ยันแก่โจทก์ได้เพียงไร เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เก็บรักษาโฉนดที่ดิน บัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านไว้ในลิ้นชักตู้เสื้อผ้าอยู่ในบ้านเป็นอย่างดี จึงเป็นการใช้ความระมัดระวังดูแลเอกสารดังกล่าวดีพอสมควรไม่เป็นการประมาทเลินล่อแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 ลักลอบปลอมหนังสือมอบอำนาจและนำโฉนดที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้มีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้ประมาทเลินเล่อ แม้จำเลยที่ 2 จะรับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตาม แต่เป็นการรับจำนองอันสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยมิชอบ นิติกรรมจำนองดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์เพราะการจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้วท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705 ดังนั้น จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ได้ทรัพย์สิทธิอย่างไรในที่ดินของโจทก์ไป โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share