คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3287/2530

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ระบุว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์ภายในวันที่ 9 มกราคม 2518แต่เมื่อครบกำหนดแล้วมีการต่ออายุสัญญาต่อไปอีกจนถึงวันที่ 9 มกราคม 2519 และรับรองยอดเงินที่ค้างชำระกับให้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีผลใช้บังคับจนกว่าจำเลยจะได้ชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้น แต่ก็ไม่มีข้อสัญญาว่าเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาแล้วสัญญาเป็นอันเลิกกันทันทีแม้ผู้จำนองจะนำเงินมาชำระให้โจทก์ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์2521 เพื่อไถ่ถอนจำนอง บัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยก็ยังมีอยู่เพราะยังชำระหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดไม่หมดและไม่มีฝ่ายใดเลิกสัญญา ดังนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยได้จนถึงวันบอกเลิกสัญญา แต่หลังจากวันบอกเลิกสัญญาไปแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีก คงคิดได้แต่ดอกเบี้ยธรรมดาเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ถูกต้อง จำเลยเป็นหนี้โจทก์น้อยกว่าที่โจทก์ฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 738,233.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2521จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,541,301.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 1,506,023.27 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยเลิกกันแล้วตั้งแต่วันที่ 30มิถุนายน 2519 หลังจากนั้นโจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้เพราะเมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2519 สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยต่อจากนั้นไปจึงไม่ได้กำหนดเวลาหักทอนบัญชีกันไว้จึงต้องหักทอนกันทุก ๆ 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 858 ดังนี้บัญชีเดินสะพัดของจำเลยจึงสิ้นสุดลงเมื่อครบ6 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2519 หลังจากนั้นโจทก์ต้องคิดดอกเบี้ยธรรมดานั้น เห็นว่าแม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 4 ระบุว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ให้โจทก์หมดภายในวันที่ 9 มกราคม 2518 ก็ตาม แต่เมื่อครบกำหนดแล้วได้มีการต่ออายุสัญญาออกไปอีกจนถึงวันที่ 9 มกราคม 2519 ตามเอกสารหมาย จ.7 และรับรองยอดเงินที่ค้างชำระกับให้สัญญาว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีผลใช้บังคับตลอดไปจนกว่าจำเลยจะได้ชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้น แต่ก็ไม่มีข้อสัญญาว่าเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาแล้วสัญญาเป็นอันเลิกกันทันทีแม้หลังจากวันที่ 30 มิถุนายน2519 จำเลยที่ 1 ไม่เคยนำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอีกเลยก็ตามบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ก็ยังคงเดินสะพัดเรื่อยมาเพราะไม่มีฝ่ายใดเลิกสัญญาแม้ผู้จำนองจะนำเงินมาชำระให้โจทก์ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2521 เพื่อไถ่ถอนจำนองก็ตาม บัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ก็ยังมีอยู่เพราะยังชำระหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดไม่หมดและยังคงเดินสะพัดเรื่อยไป โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ได้จนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาโจทก์ขอคิดถึงวันที่ 30 กันยายน 2525 ซึ่งเป็นวันก่อนที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญา หลังจากวันที่ 30 กันยายน 2525 ไปแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีก คงคิดได้แต่ดอกเบี้ยธรรมดา หาใช่เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดแล้ว ถือว่าคู่สัญญามิได้กำหนดเวลาหักทอนบัญชีกันไว้ ต้องคิดหักทอดกับทุก 6 เดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 858 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา1,000 บาท แทนโจทก์”

Share