คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5925/2538

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์ที่ 2 จะมิใช่ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยแต่โจทก์ที่ 2 เป็นผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยผู้รับประกันภัยโดยตรง และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 เมื่อมีข้อพิพาทโต้แย้งสิทธิกันขึ้นตามสัญญาประกันภัย โจทก์ที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์กับโจทก์ที่ 2โดยมีโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับประโยชน์จริง เช่นนี้สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยจึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เมื่อรถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยสูญหายไปเพราะถูก ท. ยักยอกเอาไป จำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ตามสัญญาประกันภัยนั้น โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัยแก่โจทก์ที่ 1 ผู้รับประโยชน์ได้ แม้โจทก์ที่ 2 จะไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 1 ก็ตาม จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่า โจทก์ที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมิได้ฟ้องร้องหรือติดตามเอาคืนจาก ท. กลับมาฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยเป็นการกระทำไม่สุจริตเท่านั้น คำให้การของจำเลยดังกล่าวยังไม่ชัดเจนถึงขนาดว่าวินาศภัยซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตของโจทก์ที่ 1 ผู้เอาประกันภัยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879 วรรคแรก และศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดประเด็นข้อนี้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ อีกทั้งจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านปัญหาเรื่องความไม่สุจริตของโจทก์ที่ 2จึงไม่เป็นประเด็นพิพาทในคดี ความเสียหายหรือความสูญหายตามคำฟ้องโจทก์เกิดจากการยักยอกทรัพย์ของ ท. ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้ยืมรถยนต์นั้นจากโจทก์ที่ 2ผู้เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ที่ 1 ท. มิใช่เป็นผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าผู้รับจำนำหรือผู้ซื้อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้ ทั้งมิใช่ผู้ครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า เช่าซื้อ ซื้อขาย หรือสัญญาจำนำการที่รถยนต์ซึ่งจำเลยรับประกันไว้ถูก ท. ยักยอกเอาไปจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย หากจะตีความเจตนาของคู่สัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวแล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดว่าโจทก์ที่ 2 เอาประกันภัยรถยนต์ไว้กับจำเลยตามความประสงค์ของโจทก์ที่ 1 ก็เพื่อคุ้มครองรถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 เช่าซื้อมาจากโจทก์ที่ 1 ซึ่งหากเกิดความเสียหายใดแก่รถยนต์ที่โจทก์ที่ 2เช่าซื้อมา โจทก์ทั้งสองย่อมประสงค์จะได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2ฟ้องคดีแทน โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7บ-1581กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ที่ 1 และในวันเดียวกันโจทก์ที่ 1 ได้ให้โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้กับจำเลยทุนประกันภัย 130,000 บาท กำหนดเบี้ยประกัน 9,137 บาท ต่อปีโดยตกลงให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม2531 ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุสัญญา นายทักษิณ รุ่งโต ได้ยืมรถยนต์คันดังกล่าวไปจากโจทก์ที่ 2 แล้วยักยอกเอารถยนต์คันนั้นไปโจทก์ที่ 2 ได้แจ้งให้จำเลยทราบพร้อมทั้งขอรับเงินค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย จำเลยมีหนังสือตอบปฏิเสธ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 134,062.50 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 130,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยให้การว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 ไม่สมบูรณ์โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 1 จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง เนื่องจากโจทก์ที่ 2ได้ยินยอมส่งมอบรถยนต์ที่เอาประกันภัยให้แก่นายทักษิณซึ่งมิได้เป็นลูกจ้าง การที่นายทักษิณยักยอกรถยนต์ไปอยู่นอกเหนือเงื่อนไขที่จำเลยให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 3.1 และข้อ 3.5.3นอกจากนี้โจทก์ที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมิได้ฟ้องร้องหรือติดตามเอารถยนต์คืนจากนายทักษิณ กลับมาฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยจึงเป็นการกระทำไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 134,062.50 บาทแก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน 130,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ที่2 ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยจากจำเลยเพราะโจทก์ที่ 2 ไม่ใช่ผู้รับประโยชน์นั้น เห็นว่า แม้โจทก์ที่ 2จะมิใช่ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยก็ตาม แต่โจทก์ที่ 2เป็นผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยผู้รับประกันภัยโดยตรงและเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 374 เมื่อมีข้อพิพาทโต้แย้งสิทธิกันขึ้นตามสัญญาประกันภัยโจทก์ที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่า เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ที่ 1 แล้ว เท่ากับโจทก์ที่ 1ไม่มีอำนาจฟ้องตามสิทธิของโจทก์ที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์กลับพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยรวมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1จึงไม่ชอบนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์กับโจทก์ที่ 2 โดยมีโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับประโยชน์จริงเช่นนี้สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยจึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เมื่อรถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยสูญหายไปเพราะถูกนายทักษิณยักยอกเอาไปจำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ตามสัญญาประกันภัยนั้นโจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัยแก่โจทก์ที่ 1 ผู้รับประโยชน์ได้ แม้โจทก์ที่ 2 จะไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 1 ก็ตาม ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยรวมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแก่จำเลยที่ 1 ได้ด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายข้อต่อมาว่า โจทก์ที่ 2 ไม่สุจริตเพราะมีพฤติการณ์ร่วมกับนายทักษิณกระทำการยักยอกเอารถยนต์ที่ประกันภัยไปเสียเองและอ้างว่าปัญหาข้อนี้จำเลยอุทธรณ์โดยชี้ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ที่ 2 ไม่ได้กล่าวอ้างเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการไม่ชำระค่าสินไหมทดแทน เพราะจำเลยย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าตามกรมธรรม์มิได้มีเงื่อนไขที่จะต้องให้ผู้เอาประกันติดตามทรัพย์คืนก่อนจึงจะขอรับค่าสินไหมทดแทนได้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าตามสัญญาประกันภัยไม่ได้ระบุให้โจทก์ที่ 2 มีหน้าที่ติดตามเอาทรัพย์คืนจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้เกี่ยวกับปัญหานี้เพียงว่า โจทก์ที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมิได้ฟ้องร้องหรือติดตามเอาคืนจากนายทักษิณกลับมาฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยเป็นการกระทำไม่สุจริตเท่านั้น คำให้การของจำเลยดังกล่าวยังไม่ชัดเจนถึงขนาดว่าวินาศภัยซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตของโจทก์ที่ 1 ผู้เอาประกันภัย อันจะเป็นเหตุให้จำเลยผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879 วรรคแรกและศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดประเด็นข้อนี้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ อีกทั้งจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน ปัญหาเรื่องความไม่สุจริตของโจทก์ที่ 2 จึงไม่เป็นประเด็นพิพาทในคดีนี้แต่อย่างใด ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องความไม่สุจริตของโจทก์ที่ 2 จึงถูกต้องแล้วฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายมีใจความว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ เพราะกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.5ข้อ 3.7.7 ระบุว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความเสียหายหรือสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์โดยบุคคลที่ได้รับมอบหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ สัญญาซื้อขายหรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่กระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า กรณียืมไม่มีระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ได้พิจารณาถึงเจตนาของคู่สัญญาแต่อย่างใดจึงไม่ชอบ ขอศาลฎีกาพิจารณาตามหลักเจตนามากกว่าตามลายลักษณ์อักษรนั้น เห็นว่า ความเสียหายหรือความสูญหายตามคำฟ้องโจทก์เกิดจากการยักยอกทรัพย์ของนายทักษิณซึ่งเป็นบุคคลที่ได้ยืมรถยนต์นั้นจากโจทก์ที่ 2 ผู้เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ที่ 1 นายทักษิณมิใช่เป็นผู้เช่าซื้อ ผู้เช่า ผู้รับจำนำหรือผู้ซื้อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้ ทั้งมิใช่ผู้ครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า เช่าซื้อ ซื้อขายหรือสัญญาจำนำเลย การที่รถยนต์ซึ่งจำเลยรับประกันภัยไว้ถูกนายทักษิณยักยอกเอาไปจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.5ข้อ 3.7.7 ตามที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาจำเลยแต่อย่างใดหากจะตีความเจตนาของคู่สัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวแล้วยิ่งเห็นได้ชัดว่าโจทก์ที่ 2 เอาประกันภัยรถยนต์ไว้กับจำเลยตามความประสงค์ของโจทก์ที่ 1 ก็เพื่อคุ้มครองรถยนต์ที่โจทก์ที่ 2เช่าซื้อมาจากโจทก์ที่ 1 ซึ่งหากเกิดความเสียหายใดแก่รถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 เช่าซื้อมา โจทก์ทั้งสองย่อมประสงค์จะได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า กรณีรถยนต์ที่เอาประกันภัยถูกนายทักษิณยักยอกไปไม่เข้าเงื่อนไขการยกเว้นความรับผิดและการยกเว้นภัยตามกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 3.7.7 และตารางกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.6แผ่นที่ 3 จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยนั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share