คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 81-82/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจได้ระบุให้อำนาจส. ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นคดีแพ่งแทนโจทก์ในศาลทั้งปวงและหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมิได้ระบุจำกัดว่าให้ฟ้องคดีแพ่งแทนโจทก์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียวจึงเป็นกรณีที่โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจทั่วไปให้ส. ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นคดีแพ่งแทนโจทก์ได้ทุกเรื่องโดยมิได้จำกัดแม้ส. ได้ใช้หนังสือมอบอำนาจนั้นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งในสำนวนแรกแล้วส. ย่อมนำหนังสือมอบอำนาจนั้นมาใช้ฟ้องจำเลยที่1เป็นคดีแพ่งในสำนวนหลังได้อีก แม้รูปลักษณะการวางตัวอักษรโรมันของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่1แตกต่างกันโดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวอักษรโรมันSPSในแนวนอนส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นตัวอักษรโรมันSPSซ้อนกันในแนวตั้งแต่การอ่านออกเสียงเครื่องหมายการค้าทั้งสองก็อ่านว่า”เอสพีเอส”เช่นเดียวกันทั้งยังใช้กับสินค้าจำพวกกางเกงในเหมือนกันสาธารณชนจึงอาจหลงผิดได้โดยง่ายว่าสินค้าของจำเลยที่1เป็นสินค้าของโจทก์เมื่อจำเลยที่1ทราบดีอยู่ก่อนแล้วว่าโจทก์ได้ใช้ตัวอักษรโรมันSPSในแนวนอนเป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้ากางเกงในการที่จำเลยที่1นำตัวอักษรโรมันSPSซ้อนกันในแนวตั้งไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้ากางเกงในเหมือนกับสินค้าของโจทก์แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่1มุ่งประสงค์จะแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยแอบอิงเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่สุจริตเพื่อให้ผู้ซื้อซึ่งจำคำเรียกขานของเครื่องหมายการค้าของโจทก์เข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยที่1เป็นสินค้าของโจทก์แม้โจทก์ยังมิได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในขณะที่จำเลยที่1ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่1แล้วโจทก์ก็มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยที่1 โจทก์ได้นำสืบความเสียหายของโจทก์จากการที่จำเลยทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของจำเลยทั้งสองทำให้ประชาชนทั่วไปหลงเข้าใจว่าสินค้าของจำเลยทั้งสองเป็นสินค้าของโจทก์แม้พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้ฟังได้แน่ชัดว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดแต่ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองศาลจึงมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้ตามสมควรโดยคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดี

ย่อยาว

โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของตัวอักษรคำประดิษฐ์ซึ่งมีลักษณะบ่งเฉพาะเป็นสำคัญในเครื่องหมายการค้า SPS อ่านว่า”เอส พี เอส” โดยได้จดทะเบียนการค้าไว้เมื่อวันที่17 กุมภาพันธ์ 2530 สำหรับสินค้ากางเกงใน จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งมีคำอ่านว่า “เอส พี เอส” ซึ่งมีตัวอักษรคำประดิษฐ์เฉพาะแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ซึ่งจำเลยทั้งสองทราบดีว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในตัวอักษร SPS ดังกล่าวการที่จำเลยทั้งสองนำตัวอักษรคำประดิษฐ์ เอส พี เอส (SPS) ไปใช้โดยไม่มีสิทธิทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย และให้ประกาศคำพิพากษาของศาลและข้อความในหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลา 1 เดือน
จำเลยสำนวนแรกให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งมีตัวอักษรเรียกว่า “เอส พี เอส” ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2528 จำเลยทั้งสองไม่เคยกระทำละเมิดเครื่องหมายการค้าของโจทก์ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์สำนวนหลังฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าSPS โดยโจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์อักษรวางรูปแบบคำ SPS ขึ้นใช้กับสินค้ากางเกงในเพื่อนำออกจำหน่ายจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายแก่บุคคลทั่วไปไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้วโจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามคำขอเลขที่ 157478 เมื่อวันที่31 กรกฎาคม 2529 โจทก์จึงเป็นเจ้าของตัวอักษรโรมันคำประดิษฐ์SPS ซึ่งมีลักษณะเฉพาะเป็นสาระสำคัญในเครื่องหมายการค้าอ่านว่า”เอส พี เอส” แต่ผู้เดียว จำเลยโดยไม่สุจริตนำคำว่า SPS ไปยื่นคำขอจดทะเบียนเมื่อ 30 กันยายน 2528 ตามคำขอเลขที่ 150585ในเครื่องหมายการค้า ซึ่งมีอักษรและคำอ่านว่า “เอส พี เอส”อันมีอักษรหรือตัวประดิษฐ์เฉพาะแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยจำเลยทราบดีว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในตัวอักษรโรมันคำประดิษฐ์ดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิที่จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 157478 ดีกว่าจำเลย ให้นายทะเบียนเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลย และห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 150585
จำเลยสำนวนหลังให้การว่า หนังสือมอบอำนาจไม่ได้ระบุว่าให้ฟ้องจำเลยด้วยเรื่องอะไร ที่ศาลไหน และมิได้มีการลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยเป็นผู้ทรงสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งมีอักษรและคำอ่าน อ่านว่า “เอส พี เอส”ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2528 ก่อนโจทก์ขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งได้จดทะเบียนไว้ก่อน ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำนวนแรกและพิพากษาสำนวนหลังว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิที่จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 157478 ดีกว่าจำเลย ให้นายทะเบียนเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยและสิทธิบัตรและห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 150585
โจทก์สำนวนแรกและจำเลยสำนวนหลังอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองสำนวนแรกร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 40,000 บาท ให้แก่โจทก์สำนวนแรกพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์มีข้อความว่า “ข้าพเจ้านางสาวเสาวณีย์ (โจทก์) ขอมอบอำนาจให้นายสรศักดิ์เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการในกิจการดังต่อไปนี้เอากับนายเสกสรร (จำเลยที่ 1) นางสุวรรณา (จำเลยที่ 2) กับพวกและผู้เกี่ยวข้องจนเสร็จการคือ ฟ้อง คดีแพ่ง แทนข้าพเจ้าโดยเป็นโจทก์ ในศาลทั้งปวงแทนข้าพเจ้าได้ตามกฎหมาย” ดังนี้ หนังสือมอบอำนาจได้ระบุให้อำนาจนายสรศักดิ์ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นคดีแพ่งแทนโจทก์ในศาลทั้งปวง จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อหนังสือมอบอำนาจนั้นมิได้ระบุจำกัดว่าให้ฟ้องคดีแพ่งแทนโจทก์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจมอบอำนาจทั่วไปให้นายสรศักดิ์ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นคดีแพ่งแทนโจทก์ในศาลทั้งปวงได้ทุกเรื่องโดยมิได้จำกัดให้ฟ้องคดีแพ่งได้เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเรื่องเดียว ดังนั้นแม้นายสรศักดิ์ได้ใช้หนังสือมอบอำนาจนั้นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งในสำนวนแรกแล้วนายสรศักดิ์ย่อมนำหนังสือมอบอำนาจนั้นมาใช้ฟ้องจำเลยที่ 1เป็นคดีแพ่งในสำนวนหลังแทนโจทก์ได้อีกโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องสำนวนหลังด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่จดทะเบียนไว้โดยสุจริตจำเลยที่ 1 มีสิทธิดีกว่าโจทก์หรือไม่นั้น แม้รูปลักษณะการวางตัวอักษรโรมันของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1แตกต่างกัน โดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวอักษรโรมัน SPSในแนวนอน ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นตัวอักษรโรมันSPS ซ้อนกันในแนวตั้งก็ตาม แต่การอ่านออกเสียงเครื่องหมายการค้าทั้งสองก็อ่านว่า “เอส พี เอส” เช่นเดียวกัน ทั้งยังใช้กับสินค้าจำพวกกางเกงในเหมือนกันด้วยสาธารณชนจึงอาจหลงผิดได้โดยง่ายว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าของโจทก์เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่ก่อนแล้วว่าโจทก์ได้ใช้ตัวอักษรโรมัน SPS อ่านว่า”เอส พี เอส”ในแนวนอนเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์สำหรับสินค้ากางเกงในการที่จำเลยที่ 1 นำตัวอักษรโรมัน SPS อ่านว่า “เอส พี เอส”ซ้อนกันในแนวตั้งไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1สำหรับสินค้าจำพวกเครื่องนุ่งห่มและแต่งกายซึ่งรวมถึงสินค้ากางเกงในจึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มุ่งประสงค์จะแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยแอบอิงเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่สุจริต เพื่อให้ผู้ซื้อซึ่งจำคำเรียกขานของเครื่องหมายการค้าของโจทก์เข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าของโจทก์ แม้โจทก์ยังมิได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในขณะที่จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 โจทก์ก็มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตัวอักษรโรมัน SPS อ่านว่า “เอส พี เอส” ดีกว่าจำเลยที่ 1
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า การที่โจทก์ไม่ได้นำสืบเรื่องค่าเสียหายให้เป็นที่ประจักษ์นั้น ศาลจะมีอำนาจกำหนดให้ได้หรือไม่ โจทก์นำสืบความเสียหายของโจทก์จากการที่จำเลยทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของจำเลยทั้งสองทำให้ประชาชนทั่วไปหลงเข้าใจว่า สินค้าของจำเลยทั้งสองเป็นสินค้าของโจทก์แล้ว แม้พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้ฟังได้แน่ชัดว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด แต่ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองแล้วศาลจึงมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้ตามสมควรโดยคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดี
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยค่าเสียหายให้เป็นบอกคำฟ้องโจทก์หรือไม่ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยระบุว่าจำเลยทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้ถือว่าเป็นการละเมิดในเครื่องหมายการค้า แต่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายจากประเด็นว่าจำเลยนำเอารูปรอยประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้ทำให้หลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยนั้นปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวจากการที่จำเลยทั้งสองเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของจำเลยทั้งสองทำให้ประชาชนทั่วไปหลงเข้าใจว่าสินค้าของจำเลยทั้งสองเป็นสินค้าของโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยค่าเสียหายดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกคำฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share