แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์อุทธรณ์ข้อ 1. ว่าสิทธิประโยชน์ในการทำงานเป็นข้อตกลงของการจ้างจำเลยจะกำหนดเงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์ฝ่ายเดียวไม่ได้ซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์จะได้รับโบนัสงวดสุดท้ายหรือไม่ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขตามที่จำเลยกำหนด แต่โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติได้ อุทธรณ์ข้อนี้เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอุทธรณ์ข้อ 2. ว่าจำเลยอ้างเอกสารฝ่าฝืนกฎหมายเป็นหลักต่อสู้คดีว่าโจทก์ขายสินค้าขาดทุนจึงรับฟังไม่ได้ แต่ศาลแรงงานกลางมิได้หยิบยกเอกสารดังกล่าวขึ้นมาเป็นเหตุผลรับฟังว่าโจทก์ขายสินค้าขาดทุนเลยโจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ 259,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานมาตรา 54 ไม่รับอุทธรณ์
โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งว่า อุทธรณ์ข้อ 1. ที่ว่า จำเลยไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะยกข้อต่อสู้ใด ๆ มากล่าวอ้างเพื่อที่จะไม่จ่ายเงินโบนัสประจำปีพ.ศ. 2534 ให้แก่โจทก์ และอุทธรณ์ข้อ 2. ที่ว่า การที่ศาลแรงงานกลางหยิบยกเอาข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายขึ้นมาวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบต่อกฎหมาย เป็นปัญหาข้อกฎหมายทั้งสิ้น ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “โจทก์อุทธรณ์ข้อ 1. ว่า ตามเอกสารหมาย จ.3แจ้งการย้ายโจทก์นั้น โจทก์จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการทำงานเหมือนเดิม สิทธิประโยชน์ในการทำงานของโจทก์ที่ได้รับจากจำเลยเป็นข้อตกลงของการจ้าง ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติ หาใช่จำเลยกำหนดเงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์เพียงฝ่ายเดียวไม่ จำเลยไม่มีสิทธิไม่จ่ายโบนัสงวดสุดท้าย ในข้อนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์จะได้รับโบนัสงวดสุดท้ายตามระบบ ไอ.อาร์.เอส หรือไม่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขคือสามารถขายสินค้าและทำกำไรเข้าเป้าตามที่จำเลยกำหนด และมีความสามารถในการบริหารไม่ก่อปัญหาแก่บริษัท แต่ปี 2534 โจทก์ขายสินค้าไม่เข้าเป้า ทำให้จำเลยขาดทุนหลายแสนบาท ถือได้ว่าโจทก์ไม่สามารถบริหารงานให้ลุล่วงไปด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ข้อ 2. ว่าจำเลยอ้างเอกสารหมาย ล.4 แต่เป็นเอกสารที่ฝ่าฝืนกฎหมายคือเป็นสำเนาภาพถ่ายมิใช่ต้นฉบับทั้งข้อความเป็นภาษาต่างประเทศ จำเลยมิได้แปลเป็นภาษาไทยยื่นต่อศาลจำเลยอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นหลักต่อสู้คดีว่าโจทก์ขายสินค้าขาดทุนซึ่งรับฟังไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางยกข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยจึงไม่ชอบ ปรากฏว่าในข้อนี้ศาลแรงงานกลางไม่ได้หยิบยกเอกสารหมาย ล.4 ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์ขึ้นมาเป็นเหตุผลรับฟังว่าโจทก์ขายสินค้าขาดทุนเลย โจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่นำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลแรงงานกลางไม่รับอุทธรณ์ชอบแล้วให้ยกคำร้อง”