คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5535/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การรับสภาพหนี้ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้ซึ่งจะต้องกระทำโดยลูกหนี้เองหรือโดยตัวแทนของลูกหนี้เท่านั้นเมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยที่2ได้แต่งตั้งให้กรป.กลางเป็นตัวแทนไปรับสภาพหนี้ต่อโจทก์รูปคดีฟังไม่ได้ว่ามีการรับสภาพหนี้ที่มีผลผูกพันจำเลยที่2อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่1และที่2ร่วมกันว่าจ้างโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่1และที่2เชิดกรป.กลางให้เป็นตัวแทนของตนแต่อย่างใดข้อฎีกาดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สิทธิเรียกร้องค่าจ้างซ่อมนี้โจทก์สามารถเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่2ในฐานะคู่สัญญาได้นับตั้งแต่วันที่โจทก์ส่งมอบรถยนต์ที่ซ่อมเสร็จจึงถือได้ว่าโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นแก่จำเลยที่2ได้ตั้งแต่วันดังกล่าวและอายุความย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันนั้นแต่โจทก์รีรอฟังผลจากกรป.กลางเรื่อยมาจนกระทั่งพ้นกำหนด2ปีนับแต่วันที่มีการส่งมอบและรับมอบรถยนต์ที่ซ่อมเสร็จจึงถือว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และในฐานะส่วนตัวได้จ้างโจทก์ซ่อมรถยนต์จำนวน 9 คันโจทก์ซ่อมเสร็จเรียบร้อยและส่งมอบให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าซ่อม ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 621,622.15 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์จำเลยที่ 2 ว่า จ้างโจทก์ซ่อมรถยนต์ทั้ง 9 คัน จริง แต่โจทก์ไม่ได้ซ่อมตามรายการที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องข้อ 2 ค่าซ่อมรถยนต์ทั้ง 9 คัน ไม่เกิน 250,000 บาท จำเลยที่ 3 ว่าจ้างโจทก์ซ่อมรถยนต์จำนวน 9 คัน ในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 มิได้กระทำในฐานะส่วนตัว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า แม้คณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามที่ กรป.กลาง ตั้งขึ้นดังกล่าวจะมิได้ตั้งโดยจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์ และในทางปฎิบัติที่โจทก์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 ก็ต้องติดต่อผ่าน กรป.กลางการนำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องจะต้องนำเสนอต่อ กรป.กลางเสมอ เมื่อ กรป.กลาง ได้กระทำไปโดยจำเลยที่ 2 ยอมรับในผลการกระทำและถือเอาประโยชน์จากรถยนต์ทั้ง 9 คัน ที่โจทก์ซ่อมก็ต้องถือว่า กรป.กลาง ทำแทนจำเลยที่ 2 แล้วเมื่อผลการสอบสวนของคณะกรรมการที่ กรป.กลางตั้งขึ้น ได้มีการเสนอให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามขั้นตอนตามเอกสารหมาย จ.35 แม้ไม่ปรากฎว่าผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 2 ลงชื่อรับทราบผลการสอบสวน ก็เป็นการกระทำโดยเจตนาของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์แล้วนั้น เห็นว่าคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ กรป.กลาง ตั้งขึ้นเพื่อสอบให้แน่ชัดว่าได้มีการซ่อมรถยนต์ 9 คัน กับโจทก์จริงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องภายในของหน่วยราชการที่สังกัดจำเลยที่ 2 แม้คณะกรรมการดังกล่าวสอบสวนแล้วจะลงความเห็นว่าได้ว่าจ้างให้โจทก์ซ่อมจริงและควรหาทางนำเงินค่าซ่อมไปชำระแก่โจทก์ตามบันทึกเอกสารหมายจ.35 ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเพราะการรับสภาพหนี้ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้ซึ่งจะต้องกระทำโดยลูกหนี้เอง หรือโดยตัวแทนของลูกหนี้เท่านั้น แต่ตามบันทึกในเอกสารหมาย จ.35 ไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 ได้รับทราบในการกระทำดังกล่าว และไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 ได้แต่งตั้งให้ กรป.กลาง เป็นตัวแทนไปรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ แม้ กรป.กลาง จะเป็นส่วนราชการในสังกัดของจำเลยที่ 2ก็มิได้หมายความว่าเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาเท่านั้น จะเปรียบลักษณะอย่างผู้ทำการแทนบริษัทกับบริษัทหาได้ไม่ รูปคดีฟังไม่ได้ว่ามีการรับสภาพหนี้ที่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่าพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เชิด กรป.กลาง ออกเป็นตัวแทนของตนนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกันว่าจ้างโจทก์เป็นผู้รับจ้างซ่อมรถยนต์ทั้ง 9 คันมิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เชิด กรป.กลาง ให้เป็นตัวแทนของตนแต่อย่างใด ข้อฎีกาดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อ กรป.กลาง เป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งจะต้องปฎิบัติภารกิจตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมายโดยเฉพาะการทำนิติกรรมสัญญากับบุคคลภายนอก กรป.กลาง ย่อมไม่อาจทำได้เพราะมิใช่นิติบุคคลตามกฎหมาย จำต้องให้จำเลยที่ 2เป็นคู่สัญญากับบุคคลภายนอก หรือให้ กรป.กลาง เป็นผู้กระทำแทนในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ดังจะเห็นได้จากหนังสือสัญญาค้ำประกันที่โจทก์วางเป็นหลักประกันตามเงื่อนไขในการประกวดราคาตามเอกสารหมาย จ.26 ถึง จ.34 ก็ได้ระบุให้จำเลยที่ 2เป็นคู่สัญญา ดังนี้ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าสิทธิเรียกร้องค่าจ้างซ่อมรายนี้โจทก์สามารถเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาได้นับตั้งแต่วันที่โจทก์ส่งมอบรถยนต์ที่ซ่อมเสร็จ จึงถือได้ว่าโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นแก่จำเลยที่ 2 ได้ตั้งแต่วันดังกล่าว และอายุความย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันนั้น แต่โจทก์ก็รีรอฟังผลจาก กรป.กลาง เรื่อยมาจนกระทั่งพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่มีการส่งมอบและรับมอบรถยนต์ที่ซ่อมเสร็จจึงต้องถือว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share