คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าหนี้มอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อร่วมลงทุน จำเลยที่ 1ออกเช็คพิพาทมอบให้เจ้าหนี้เพื่อเป็นหลักประกัน เช็คพิพาทมี ป.กับจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายโดยมิได้ประทับตราของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 มิได้เขียนว่ากระทำการแทน แต่การที่ ป. กับจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 เป็นการแสดงออกถึงความประสงค์ของนิติบุคคลโดยผู้แทนของนิติบุคคล จึงเป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ 1 มิใช่การกระทำของตัวแทนที่ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินแทนตัวการ แต่มิได้เขียนแถลงว่ากระทำแทนบุคคลอื่น ซึ่งบุคคลนั้นต้องรับผิดตามความในตั๋วเงินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 901 จำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำเลยที่ 2 ที่ 3 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามเช็คและสัญญาการลงทุนจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ที่ 3 จำเลยที่ 2 โต้แย้งว่า จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในเช็คร่วมกับนายปรีชา ในฐานะจำเลยที่ 2เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และเจ้าหนี้ได้ขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนายปรีชาเต็มจำนวนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามเช็คเป็นเงิน 71,170.55 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดด้วยโดยมีเงื่อนไขว่าหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนายปรีชาหรือจากจำเลยที่ 1 แล้วเพียงใดให้สิทธิได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายปรีชา สิโรรส และจำเลยที่ 2เป็นกรรมการ จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจากประชาชนทั่วไปเพื่อนำไปประกอบธุรกิจเงินทุนซื้อขายสินค้าล่วงหน้า โดยตกลงจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนอย่างสูง เจ้าหนี้ได้นำเงินจำนวน 65,000 บาท ไปร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาการลงทุนลงวันที่ 13 มีนาคม2528 ให้เจ้าหนี้ไว้ และจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาบางรัก ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2528จำนวนเงิน 65,000 บาท โดยมีนายปรีชาและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย และมีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสลักหลังมอบให้แก่เจ้าหนี้เพื่อเป็นหลักประกันเงินลงทุนของเจ้าหนี้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ปิดกิจการ นายปรีชากับจำเลยที่ 2 หลบหนี วันที่ 25มิถุนายน 2528 เจ้าหนี้ได้นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เจ้าหนี้จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3
ปัญหาในชั้นนี้มีเพียงว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทต่อเจ้าหนี้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เจ้าหนี้ได้มอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อร่วมลงทุน แล้วจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาทมอบให้เจ้าหนี้ไว้ เพื่อเป็นหลักประกันเงินลงทุนของเจ้าหนี้โดยเช็คพิพาทมีนายปรีชากับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย แม้เช็คพิพาทมิได้ประทับตราของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อไว้โดยมิได้เขียนว่าทำการแทนก็ตาม แต่การลงลายมือชื่อของนายปรีชากับจำเลยที่ 2 เป็นการลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นการแสดงออกถึงความประสงค์ของนิติบุคคลโดยผู้แทนของนิติบุคคลดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 เดิม (มาตรา 70 ที่แก้ไขใหม่)การกระทำของนายปรีชากับจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ 1 มิใช่การกระทำของตัวแทนที่ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินแทนตัวการ แต่มิได้เขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอื่นซึ่งบุคคลนั้นต้องรับผิดตามความในตั๋วเงินนั้น ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 901 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ตามเช็คจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share