คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5924/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้คัดค้านไม่ได้ไปทำงานคงนั่งล้อมวงดู อ.และส.เล่นหมากรุก กันอยู่ จนเวลา 13 นาฬิกาเศษ น. ผู้จัดการแรงงานสัมพันธ์ของผู้ร้องมาพบทั้งสามคนจึงได้แยกย้ายกันไปทำงานเห็นได้ว่า เมื่อถึงเวลาทำงานแล้ว ผู้คัดค้านและ อ.กับส.มิได้ไปทำงานตามหน้าที่ การไม่ทำงานตามหน้าที่ในเวลาทำงานเช่นนี้เป็นการละทิ้งหน้าที่การงานอย่างหนึ่ง การที่ อ.และส.ซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องสั่งให้ผู้คัดค้านทำงานละทิ้งหน้าที่ไม่ไปทำงานตามเวลานั้น ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่ผู้คัดค้านซึ่งจะต้องทำงานที่จะละทิ้งหน้าที่การงานไปด้วยไม่ ในเมื่อทั้งสามคนร่วมกันไม่ปฏิบัติงานตามเวลาทำงานในหน้าที่ กรณีจึงต้องถือว่าละทิ้งหน้าที่การงานด้วยกัน ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะลงโทษผู้คัดค้านได้ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) เมื่อผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้าง ผู้ร้องมีอำนาจที่ร้องขอให้ลงโทษได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 52.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง และเป็นกรรมการลูกจ้าง ปัจจุบันยังคงทำงานอยู่กับผู้ร้อง เมื่อวันที่ 28มีนาคม 2534 ผู้คัดค้านได้ละทิ้งหน้าที่ในระหว่างเวลาปฏิบัติงานอันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง และเป็นความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) ซึ่งผู้ร้องเห็นสมควรลงโทษโดยการตักเตือนเป็นหนังสือ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษด้วยการเตือนเป็นหนังสือ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ในวันที่ 28 มีนาคม 2534ผู้คัดค้านมิได้ละทิ้งหน้าที่และมิได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง หรือกระทำผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิลงโทษผู้คัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า ระหว่างเวลา 12.30 ถึงเวลา 13 นาฬิกาเศษนั้นเป็นเวลาทำงานของผู้คัดค้าน ในระหว่างนั้นผู้คัดค้านไม่ได้ไปทำงานคงนั่งล้อมวงดูนายอุดมและนายสัมฤทธิ์เล่นหมากรุกกันอยู่ จนเมื่อเวลา 13 นาฬิกาเศษ นายนิกรผู้จัดการแรงงานสัมพันธ์ของผู้ร้องมาพบ ทั้งสามคนจึงได้แยกย้ายกันไปทำงาน ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้เป็นที่เห็นได้ว่าเมื่อถึงเวลาทำงานแล้วผู้คัดค้านและนายอุดมกับนายสัมฤทธิ์มิได้ไปทำงานตามหน้าที่ การไม่ทำงานตามหน้าที่ในเวลาทำงานเช่นนี้เป็นการละทิ้งหน้าที่การงานอย่างหนึ่ง การที่นายอุดมและนายสัมฤทธิ์ซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องสั่งให้ผู้คัดค้านทำงานละทิ้งหน้าที่ไม่ทำงานตามเวลานั้น ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่ผู้คัดค้านซึ่งจะต้องทำงานที่จะละทิ้งหน้าที่การงานไปด้วยไม่ ในเมื่อทั้งสามคนร่วมกันไม่ปฏิบัติงานตามเวลาทำงานในหน้าที่ กรณีจึงต้องถือว่าละทิ้งหน้าที่การงานด้วยกัน ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะลงโทษผู้คัดค้านได้ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) เมื่อผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้าง ผู้ร้องมีอำนาจที่จะร้องขอให้ลงโทษได้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 คำสั่งศาลแรงงานกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้นและกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องในข้ออื่นอีก เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดี”
พิพากษากลับ อนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือได้.

Share