แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ นั้น กฎหมายประสงค์ให้ความคุ้มครองถึงผู้เช่าช่วงโดยได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าด้วย นาย ท.บิดานาย ป.เช่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ถึง 298 ไร่ จากนาง จ.มารดาโจทก์มาตั้งแต่ปี 2500 ทั้งผู้เช่าช่วงจากนาย ป.ก็เป็นผู้เช่าช่วงชุดเดิมจากนาย ท. ยิ่งกว่านี้ในสัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับนาย ป.ยังขีดข้อความว่า”จะไม่เอาที่ดินที่เช่านี้ไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงหรือโอนให้ผู้อื่นเช่าต่อไป” ออก และมีลายเซ็นชื่อของโจทก์กำกับไว้ด้วย แสดงให้เห็นว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้นาย ป.นำที่ดินพิพาทไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วงนาย ป.จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว สัญญาเช่ากำหนด 1 ปีก็ต้องถือว่ามีกำหนด 6 ปี นับแต่วันทำสัญญาเช่า
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านาย ป.เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์เพื่อเกษตรกรรมแล้วจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัด จำเลยที่ 4ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลจึงมีอำนาจวินิจฉัยคำร้องของนาย ป. การที่จำเลยที่ 4 ได้รับคำร้องของ นาย ป.โดยมีภาพถ่ายสัญญาเช่าและหนังสือบอกเลิกการเช่าแนบมาด้วยแล้วมีความเห็นว่า การบอกเลิกการเช่าเป็นการไม่ชอบตามมาตรา 31, 34,36 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากการบอกเลิกการเช่าของโจทก์ไม่ได้แจ้งเหตุผลตามมาตรา 36 และโจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกการเช่าต่อจำเลยที่ 4 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อให้โจทก์มาชี้แจง เพราะตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติให้อำนาจซึ่งอยู่ในดุลพินิจว่าจะใช้อำนาจหรือไม่ หาใช่เป็นบทบัญญัติบังคับคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลหรือจังหวัดต้องเรียกผู้ให้เช่ามาชี้แจง ยิ่งกว่านี้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลได้วินิจฉัยลงมติเป็นเอกฉันท์โดยให้เหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่าการบอกเลิกการเช่าของโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว การพิจารณาของจำเลยที่ 4 จึงชอบด้วยกฎหมาย
แม้จะเป็นความบกพร่องต่อหน้าที่ของนายเทียนชัยกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลที่ได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์แล้วปล่อยเรื่องทิ้งไว้เป็นปีจนกระทั่งย้ายไปรับราชการที่อื่น ไม่ดำเนินการส่งคำอุทธรณ์ไปภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันรับคำอุทธรณ์ก็ตาม แต่ตามมาตรา 56 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลตกไปหรือไม่มีผลบังคับหรือขาดอายุความ กำหนด15 วันดังกล่าวจึงเป็นแต่เพียงมุ่งหมายที่จะให้ดำเนินการไปโดยรวดเร็วไม่ชักช้าเท่านั้น หาได้มีผลทำให้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดไม่มีอำนาจวินิจฉัยคำอุทธรณ์ของโจทก์ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และเป็นผู้ใช้อำนาจและรักษาให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๒๔จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีและเป็นประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดปทุมธานี จำเลยที่ ๔ เป็นกำนันตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวงจังหวัดปทุมธานี และเป็นประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคลองหนึ่งเมื่อประมาณต้นปี ๒๕๒๖ นายประสิทธิ์ แก้วสว่าง ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๔ ในฐานะประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคลองหนึ่งว่าเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๔นายประสิทธิ์ทำสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๒๑ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหนึ่ง จังหวัดปทุมธานีเนื้อที่ ๒๙๘ ไร่ ๒ งาน จากโจทก์เพื่อทำกสิกรรม ต่อมาเดือนมกราคม ๒๕๒๖ โจทก์มีหนังสือบอกเลิกการเช่า ขอให้จำเลยที่ ๔ วินิจฉัยตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๒๔ ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเลิกสัญญาเช่า เพราะการเช่าที่ดินนั้นขยายอายุการเช่าไปเป็น ๖ ปี นับแต่วันเช่าจำเลยที่ ๔ ได้รับคำร้องแล้วไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ และไม่ทำการสอบสวนหาข้อเท็จจริงที่จะนำไปใช้เป็นหลักในการวินิจฉัย กลับเรียกประชุม คชก.ตำบล เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๒๖ แล้ววินิจฉัยว่าเป็นการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อายุการเช่ายืดออกไปเป็น ๖ ปี นับแต่วันทำสัญญาเช่า โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกการเช่าและแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๒๖ คำวินิจฉัยนั้นผิดพลาดต่อข้อเท็จจริงและกฎหมาย ต่อมาวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๒๖ โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยนั้นต่อจำเลยที่ ๓ ในฐานะประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดปทุมธานีผ่านจำเลยที่ ๔แต่จำเลยที่ ๔ ไม่เสนออุทธรณ์นั้นไปให้จำเลยที่ ๓ พิจารณาภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันรับตามมาตรา ๕๖ วรรคสาม เป็นเวลาเกือบขวบปีจึงเสนอไป จำเลยที่ ๓ ไม่มีสิทธิที่จะพิจารณาวินิจฉัยแต่จำเลยที่ ๓ กลับรับอุทธรณ์และวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกการเช่า คำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๔ต้องตกไปไร้ผลบังคับเพราะขาดอายุความ แม้สัญญาเช่ากำหนดว่าเป็นการเช่าที่ดินเพื่อไว้ทำไร่กล้วยแต่นายประสิทธิ์ แก้วสว่าง มิได้นำที่ดินที่เช่านั้นไปประกอบการเกษตรกรรมด้วยตนเอง กลับนำไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงหมดทั้งแปลง เป็นการแสวงหาประโยชน์ในเชิงการค้า จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลคลองหนึ่งจำเลยที่ ๔จึงไม่ชอบ และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๓ เช่นนั้นก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ได้ทราบคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่สั่งการอย่างใดถือว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้สมคบร่วมกันให้เกิดคำวินิจฉัยหรือคำสั่งที่ไม่ชอบนั้นด้วย ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง คชก.จังหวัดปทุมธานี โดยถือว่าเป็นคำวินิจฉัยหรือคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า สัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับนายประสิทธิ์ แก้วสว่างระบุว่าเป็นการเช่าที่ดินเพื่อทำไร่กล้วย จึงเป็นการเช่าที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรมและกล้วยเป็นพืชไร่จึงอยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๒๔ มาตรา ๒๖ แม้สัญญาเช่ามีกำหนด ๑ ปี ก็ให้ถือว่าการเช่านั้นมีกำหนด ๖ ปี นับแต่วันทำสัญญาเช่า โจทก์บอกเลิกการเช่าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และตามมาตรา ๑๙ ได้กำหนดให้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลมีอำนาจเรียกผู้เช่า ผู้ให้เช่า หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือชี้แจง หรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการเช่ามาเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลได้แล้วแต่กรณี เป็นการให้อำนาจคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลจะเรียกคู่กรณีมาชี้แจงหรือไม่ก็ได้ แม้จำเลยที่ ๔ ไม่เรียกโจทก์หรือผู้แทนมาชี้แจง คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคลองหนึ่งก็มีอำนาจวินิจฉัยโดยดูจากคำร้องที่ยื่นและหลักฐานประกอบ ซึ่งได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด แม้นายประสิทธิ์จะได้ให้ผู้อื่นเช่าช่วงต่อก็ตาม แต่โจทก์ทราบนานแล้วไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านตามมาตรา ๓๑ (๒) โจทก์บอกเลิกการเช่านาก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลา ๖ ปีไม่ได้ คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคลองหนึ่งจึงชอบแล้ว มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยนั้นต่อจำเลยที่ ๔ โดยตรง เหตุที่ส่งคำอุทธรณ์ไปยังประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดปทุมธานีล่าช้า เพราะมีการสับเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ แม้ส่งไปเมื่อเลยกำหนด ๑๕ วัน ก็ไม่ทำให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลไร้ผลหรือขาดอายุความ เพราะมาตรา ๕๖ วรรคสาม บัญญัติเพียงว่า ให้ประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลส่งคำอุทธรณ์ดังกล่าวไปยังประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ในพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติใดว่าเมื่อล่วงเลยระยะเวลาดังกล่าวแล้ว จะทำให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลไร้ผลบังคับหรือขาดอายุความคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดปทุมธานีจึงชอบด้วยกฎหมายและมีผลใช้บังคับ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นเพียงผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินั้น มิใช่เจ้าหน้าที่ดำเนินการแต่อย่างใด ไม่มีอำนาจเข้าไปก้าวก่ายสั่งการคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลหรือจังหวัด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์รับมรดกที่ดินพิพาทมาจากนางแจ่มหวั่งหลี ผู้เป็นมารดา นางแจ่มให้นายเทียม แก้วสว่าง บิดาของนายประสิทธิ์ แก้วสว่าง เช่าที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ นายเทียมไม่ได้ทำประโยชน์เอง แต่ให้ผู้อื่นเช่าช่วงปลูกกล้วยและผลไม้อื่น ๆจนกระทั่งปี ๒๕๒๓ นายเทียมให้นายประสิทธิ์รับช่วงต่อ โจทก์จึงทำสัญญาให้นายประสิทธิ์เช่าที่ดินพิพาทปีต่อปี เมื่อปี ๒๕๒๔ นายประสิทธิ์ไม่ได้ปลูกต้นกล้วยเอง คงให้ผู้เช่าช่วงเดิมเช่าช่วงต่อ คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคลองหนึ่งไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบถึงคำร้องของนายประสิทธิ์เรื่องโจทก์บอกเลิกการเช่าที่ดินพิพาท และจำเลยที่ ๔ ไม่ได้ส่งอุทธรณ์ของโจทก์ไปยังประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัด จำเลยที่ ๓ เพื่อพิจารณาภายในกำหนด ๑๕ วัน โจทก์ฎีกาประการ-แรกว่า นายประสิทธิ์ไม่ได้ปลูกกล้วยในที่ดินพิพาทด้วยตนเอง แต่ให้ผู้อื่นเช่าช่วงปลูกต้นกล้วยโดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบ จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๒๔ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๒๔ มาตรา ๕ บัญญัติว่า
“เกษตรกรรม” หมายความว่า การทำนา ทำสวน ทำไร่ ทำนาเกลือเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“การเช่า” หมายความว่า การเช่าหรือการเช่าช่วงโดยได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซึ่งที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภถทที่การเช่าที่ดินเพื่อการนั้นมีการควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ไม่ว่าการเช่าหรือการเช่าช่วงนั้นจะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตามและหมายความรวมถึงการยินยอมให้ใช้เพื่อประกอบเกษตรกรรมดังกล่าวโดยได้รับค่าเช่าและการทำนิติกรรมอื่นใด อันเป็นการอำพรางการเช่านั้น
มาตรา ๒๑ “ทำนา” หมายความว่า การเพราะปลูกข้าวหรือพืชไร่
มาตรา ๒๖ การเช่านา ให้มีกำหนดคราวละไม่น้อยกว่าหกปี การเช่านารายใดที่ทำไว้โดยไม่มีกำหนดเวลา หรือมีแต่ต่ำกว่าหกปี ให้ถือว่าการเช่านารายนั้นมีกำหนดเวลาหกปี …
จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่ากฎหมายประสงค์ให้ความคุ้มครองถึงผู้เช่าช่วงโดยได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าด้วย นายเทียมบิดานายประสิทธิ์เช่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ถึง ๒๙๘ ไร่เศษ จากนางแจ่มมารดาโจทก์มาตั้งแต่ ปี ๒๕๐๐ ทั้งผู้เช่าช่วงจากนายประสิทธิ์ก็เป็นผู้เช่าช่วงชุดเดิมกับผู้เช่าช่วงจากนายเทียม ยิ่งกว่านี้ในสัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับนายประสิทธิ์เอกสารหมาย จ.๖ ข้อ ๔ ยังขีดฆ่าข้อความว่า “จะไม่เอาที่ดินที่เช่านี้ไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงหรือโอนให้ผู้อื่นเช่าต่อไป” ออก และมีลายเซ็นชื่อของโจทก์จำเลยกำกับ แสดงให้เห็นว่า โจทก์รู้เห็นยินยอมให้นายประสิทธิ์นำที่ดินพิพาทไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วง นายประสิทธิ์จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว สัญญาเช่ามีกำหนด ๑ ปี ก็ต้องถือว่ามีกำหนด ๖ ปี นับแต่วันทำสัญญาเช่า
โจทก์ฎีกาประการต่อมาว่า จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ไม่มีอำนาจรับคำร้องของนายประสิทธิ์เรื่องขอให้วินิจฉัยการบอกเลิกการเช่าที่ดินพิพาทของโจทก์ไว้วินิจฉัยเพราะมิใช่การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากจะฟังว่าจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ มีอำนาจรับคำร้องของนายประสิทธิ์ไว้วินิจฉัย จำเลยที่ ๔ ก็ไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบก่อนวินิจฉัย โดยมิได้ให้โจทก์มีโอกาสต่อสู้กรณีพิพาทเป็นการไม่ให้ความเป็นธรรมและผิดกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายประสิทธิ์เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์เพื่อเกษตรกรรมแล้วจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ จึงมีอำนาจวินิจฉัยคำร้องของนายประสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๑๓ (๒) บัญญัติให้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าเช่า ระยะเวลาของการเช่า ตลอดจนข้อพิพาทอื่นหรือค่าเสียหายอันเกิดจากการเช่าตามคำร้องขอของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าและมีคำสั่งใด ๆ ให้ผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าปฏิบัติหรือมิให้ปฏิบัติการใดเพื่อให้เกิดผลตามคำวินิจฉัย
มาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดหรือตำบลหรือผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจเรียกผู้เช่า ผู้ให้เช่าหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือชี้แจง หรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการเช่ามาเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดหรือตำบลแล้วแต่กรณี
เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๔ ได้รับคำร้องจากนายประสิทธิ์โดยมีภาพถ่ายสัญญาเช่าและหนังสือบอกเลิกการเช่าแนบมาด้วยแล้วมีความเห็นว่า การบอกเลิกการเช่าเป็นการไม่ชอบตามมาตรา ๓๑, ๓๔ และ ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเนื่องจากการบอกเลิกการเช่าของโจทก์ไม่ได้แจ้งเหตุผลตามมาตรา ๓๖ และโจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกการเช่าต่อจำเลยที่ ๔แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ เพื่อให้โจทก์มาชี้แจงเพราะตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติให้อำนาจซึ่งอยู่ในดุลพินิจว่าจะใช้อำนาจหรือไม่ หาใช่เป็นบทบัญญัติบังคับคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลหรือจังหวัดต้องเรียกผู้ให้เช่ามาชี้แจงยิ่งกว่านี้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคลองหนึ่งได้วินิจฉัยลงมติเป็นเอกฉันท์โดยให้เหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่าการบอกเลิกการเช่าของโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายรายงานการประชุมเอกสารหมาย ป.ล.๑ การพิจารณาของจำเลยที่ ๔ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
โจทก์ฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ ๔ มิได้ดำเนินการส่งอุทธรณ์ของโจทก์ไปให้ประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดจำเลยที่ ๓ รับไว้พิจารณาต่อภายใน๑๕ วัน นับแต่วันรับคำอุทธรณ์ของโจทก์ตามมาตรา ๕๖ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคลองหนึ่งจึงเป็นอันไร้ผลบังคับเพราะขาดอายุความ คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดจำเลยที่ ๓ จึงไม่มีอำนาจรับไว้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะเป็นความบกพร่องต่อหน้าที่ของนายเทียนชัย ตั้งทองกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคลองหนึ่งที่รับคำอุทธรณ์ของโจทก์แล้วปล่อยเรื่องทิ้งไว้เป็นปีจนกระทั่งย้ายไปรับราชการที่อื่น ไม่ดำเนินการส่งคำอุทธรณ์ไปภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันรับคำอุทธรณ์ก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลตกไปหรือไม่มีผลบังคับหรือขาดอายุความ กำหนดเวลา ๑๕ วัน ดังกล่าวจึงเป็นแต่เพียงมุ่งหมายที่จะให้ดำเนินการไปโดยรวดเร็วไม่ชักช้าเท่านั้น หาได้มีผลทำให้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดไม่มีอำนาจวินิจฉัยคำอุทธรณ์ของโจทก์ไม่
พิพากษายืน.