คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีที่พนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องว่า ได้มีการสอบสวนแล้วย่อมสันนิษฐานได้ว่ามีการสอบสวนชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยไม่คัดค้านโดยเสนอหรือนำสืบเป็นข้อต่อสู้ไว้ ถือว่าไม่มีข้อโต้เถียงกัน หากตามสำนวนไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงว่าการสอบสวนนั้นไม่ชอบการที่จำเลยเพิ่งมาคัดค้านขึ้นในชั้นอุทธรณ์ ย่อมไม่มีเหตุที่จะวินิจฉัยให้ กรณีถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดที่กล่าวหาตามฟ้องแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง แม้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลย เมื่อโจทก์จำเลยได้นำสืบพยานมาจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวไปได้เอง โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดก่อน อ. เคยถูกฟ้องร่วมกับจำเลยมาก่อน แต่ศาลได้สั่งแยกฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ต่างหากจากคดีที่ อ. ถูกฟ้องร่วมกับจำเลยและขณะที่ อ.เบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้อ.มิได้อยู่ในฐานะเป็นจำเลย โจทก์จึงอ้าง อ.เป็นพยานได้ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 56,61 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทหนักที่สุดลงโทษตามมาตรา 90 พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดที่มีโทษเบากว่า เพื่อให้ความผิดทุกกรรมรวมทั้งความผิดที่มีโทษหนักกว่าเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 ได้ ดังนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 61 ซึ่งเป็นความผิดบทเบาที่สุดการเปรียบเทียบนั้นก็ไม่ชอบ คดีจึงยังไม่เลิกกันศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390ซึ่งเป็น บทหนักที่สุดให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขับรถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน80-3375 กาญจนบุรี ไปตามถนนสายชุมแพ-ขอนแก่น มุ่งหน้าสู่จังหวัดขอนแก่น เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 34-35 ตำบลบ้างกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เวลากลางคืนรถยนต์คันที่จำเลยขับเสียจำเลยจึงจอดรถไว้ในทางเดินรถบนผิวจราจรในลักษณะกีดขวางการจราจรห่างจากเส้นแบ่งครึ่งถนน 1 เมตร โดยมิได้เปิดไฟหรือใช้แสงสว่าง นายองอาจ เพิ่มพูนผล จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1095/2528 ของศาลชั้นต้น ขับรถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียนน.2824 ขอนแก่น มาตามถนนดังกล่าวมุ่งหน้าสู่จังหวัดขอนแก่น เมื่อถึงบริเวณที่จำเลยจอดรถไว้เป็นเวลาพอดีกับมีรถเปิดไฟสูงแล่นสวนทางมาประกอบกับจำเลยไม่ได้ทำเครื่องหมายและสัญญาณแสดงไว้ ทำให้นายองอาจ เพิ่มพูนผล เห็นรถที่จำเลยจอดอยู่ในระยะกระชั้นชิดจึงหักหลบไม่พ้น เป็นเหตุให้รถที่ขับมาชนกระบะหลังด้านขวาของรถที่จอดอยู่ดังกล่าว และนายวัฒนา ประสาวภาหรือแก่นพรมซึ่งนั่งมาในกระบะรถของนายองอาจ เพิ่มพูนผลกระเด็นตกจากรถได้รับอันตรายบาดเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกิน 20 วัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 56, 61, 151, 152จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 56, 61, 151, 152 แต่เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 1 เดือนลดโทษ 1 ใน 5 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 24 วัน โดยไม่เห็นสมควรให้รอการลงโทษ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2527 เวลาประมาณเที่ยงคืน จำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ คันหมายเลขทะเบียน 80-3375 กาญจนบุรี มาจอดบนทางเดินรถที่เกิดเหตุเนื่องจากระบบช่วงล่างของรถเกิดชำรุด ปรากฎตามแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.9 จนถึงคืนวันที่ 27 ธันวาคม 2527เวลาประมาณ 19 นาฬิกา ได้มีรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ คันหมายเลขทะเบียนน.-2824 ขอนแก่น ซึ่งมีนายองอาจ เพิ่มพูนผล เป็นผู้ขับแล่นมาชนส่วนกระบะด้านท้ายรถคันเกิดเหตุดังกล่าวทางด้านขวา เป็นเหตุให้นายวัฒนา ประสาวภา ที่โดยสารมาในรถคันหลังดังกล่าวตกจากรถได้รับอันตรายแก่กาย ปรากฏตามรายงานการชันสูตรบาดแผลเอกสารท้ายฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ 1095/2528 ของศาลเดียวกันพนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับจำเลยเป็นเงิน 200 บาท ในข้อหาจอดรถในทางเดินรถที่ไม่มีแสงสว่างเพียงพอโดยไม่เปิดไฟ หรือใช้แสงสว่างตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 61, 151นายองอาจ เพิ่มพูนผลได้ถูกศาลพิพากษาลงโทษในข้อหาขับรถโดยประมาทปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 1095/2528 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ได้มีการสอบสวนความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 56 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าได้มีการสอบสวนความผิดดังกล่าวไว้แล้ว จึงสันนิษฐานได้ว่าได้มีการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยไม่คัดค้านโดยเสนอหรือนำสืบเป็นข้อต่อสู้ไว้ถือว่าไม่มีข้อโต้เถียงกัน หากตามสำนวนไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงว่าการสอบสวนนั้นไม่ชอบ จำเลยเพิ่งมาคัดค้านขึ้นในชั้นอุทธรณ์ ย่อมไม่มีเหตุที่จะวินิจฉัยให้ กรณีถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดที่กล่าวหาดังกล่าวตามฟ้องแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาและแม้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390 เมื่อโจทก์จำเลยได้นำสืบพยานกันมาจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวไปได้เองโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดก่อน ในปัญหาข้อนี้นายองอาจ เพิ่มพูนผล คนขับรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ คันหมายเลขทะเบียน น.-2824 ขอนแก่น พยานโจทก์เบิกความว่า ขณะขับรถยนต์คันดังกล่าวไปชนรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ คันหมายเลขทะเบียน80-3375 กาญจนบุรี ที่จำเลยขับและจอดทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุนั้นเป็นเวลาประมาณ 19.00 นาฬิกาเศษ ซึ่งมืดแล้ว และไม่ปรากฏว่ามีสัญญาณเป็นแสงไฟจากรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ จำเลยเองก็เบิกความรับว่าได้จอดรถอยู่บนผิวจราจรห่างจากไหล่ถนนด้านซ้ายประมาณฟุตเศษ และอยู่ห่างเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนประมาณ 2 ฟุต ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกบุญเลี้ยง พูนณรงค์พนักงานสอบสวน และแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมายจ.9 ที่ร้อยตำรวจเอกบุญเลี้ยงทำขึ้น ส่วนที่จำเลยเบิกความว่าได้เปิดไฟหรี่ ทิ้งไว้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2527 เวลาประมาณเที่ยงคืน และลืมปิดไฟในตอนรุ่งเช้าของวันที่ 27 ธันวาคม 2527 ทำให้ไฟหมดเป็นเหตุให้ไม่มีสัญญาณไฟในขณะเกิดเหตุนั้น ก็ขัดกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเอกสารหมาย จ.11 เอง ที่ว่าจำเลยไม่ได้สั่งให้นายธานี ชูขำ ซึ่งนั่งรถบรรทุก 10 ล้อมากับจำเลยด้วยเปิดไฟแต่อย่างใด เพียงแต่สั่งให้เฝ้ารถไว้ ทั้งนายธานีพยานจำเลยเองก็เบิกความว่าไม่ได้เปิดไฟรถไว้เพราะไม่มีความรู้เรื่องรถยนต์เลย และที่จำเลยอุทธรณ์ว่าได้นำอ้อยมาผูกติดปักเป็นกองไว้ด้านหน้าและหลังรถข้างละ 2 กอง เพื่อให้รถที่วิ่งมามองเห็นนั้นก็ได้ความจากบันทึกในแผนที่เกิดเหตุและคำเบิกความของนายองอาจว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นทุ่งนา ไม่มีบ้านคน มืดมากและเป็นถนนเรียบ และจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกบุญเลี้ยงว่า กองอ้อยที่วางไว้นั้นมีลักษณะเห็นได้ไม่ชัดเจนเมื่อขับรถผ่านมาในเวลากลางคืน จึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ที่จะจัดการป้องกันมิให้เกิดอันตรายขึ้นแก่ผู้ขับรถมาทางด้านหลังให้สามารถมองเห็นรถยนต์บรรทุกที่จำเลยจอดไว้ในระยะห่างเพียงพอที่ผู้นั้นจะหยุดรถหรือหลบหลีกไปได้แล้ว สำหรับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ว่า นายองอาจเคยเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยนี้ ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1095/2528 ของศาลชั้นต้นต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แยกฟ้องจำเลยนี้เป็นคดีนี้ ศาลย่อมจะรับฟังคำเบิกความของนายองอาจเพื่อลงโทษจำเลยซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดียวกันไม่ได้นั้น เห็นว่าแม้นายองอาจจะเคยถูกฟ้องร่วมกับจำเลยมาก่อน ศาลก็ได้สั่งแยกฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ต่างหากจากคดีที่นายองอาจถูกฟ้องร่วมกับจำเลย โจทก์จึงอ้างนายองอาจเป็นพยานได้โดยขณะที่นายองอาจเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้นายองอาจมิได้อยู่ในฐานะเป็นจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยจอดรถยนต์บรรทุก 10 ล้อบนทางเดินรถที่เกิดเหตุในเวลากลางคืนเนื่องจากรถชำรุดขัดข้อง ไว้ในทางเดินรถอันเป็นการกีดขวางการจราจรในเวลากลางคืน โดยมิได้เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามสมควร จนเป็นเหตุให้นายองอาจขับรถยนต์บรรทุกมาชนส่วนกระบะด้านท้ายรถของจำเลย และนายวัฒนาที่โดยสารมาในรถของนายองอาจตกจากรถได้รับอันตรายแก่กาย อันเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390 แล้ว และเนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท คือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 56, 61 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ใช้กฎหมายบทที่หนักที่สุดลงโทษ จึงต้องลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดที่มีโทษเบากว่า เพื่อให้ความผิดทุกกรรมรวมทั้งความผิดที่มีโทษหนักกว่าเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 ได้ ดังนั้นแม้พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 61 ซึ่งเป็นความผิดบทเบาที่สุด การเปรียบเทียบนั้นก็ไม่ชอบ คดียังไม่เลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้”
พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 56, 61 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 1 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 5 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 24 วัน

Share