แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยขายที่พิพาทให้ผู้ร้องย่อมถือได้ว่าผู้ร้องมีสิทธิตามคำพิพากษาที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1300 แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม แต่ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะบังคับคดีได้แล้ว ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการขายทอดตลาดที่พิพาทผู้ร้องย่อมใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ได้(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2511)
ย่อยาว
คดีนี้ศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงินโจทก์ จำเลยไม่ชำระโจทก์จึงนำพนักงานบังคับคดียึดที่ดินสวน 1 แปลง เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องขัดทรัพย์ว่าที่ที่ยึดไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพราะศาลได้พิพากษาให้จำเลยขายแก่ผู้ร้องแล้ว ขอให้ถอนการยึด
โจทก์ให้การว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย ผู้ร้องไม่มีบุริมสิทธิเกี่ยวกับที่พิพาท และที่ว่าจำเลยเคยยื่นคำร้องขอขายให้แก่ผู้ร้องคดีก็ยังไม่ถึงที่สุด ไม่แน่ว่าผลของคดีจะเป็นประการใด จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมมีอำนาจยึดได้
ศาลชั้นต้นสอบถาม ผู้ร้องแถลงว่าศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้จำเลยโอนขายที่พิพาทให้แก่ผู้ร้อง ตามคดีแดงที่ 312/2507 ของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน พิพากษาว่าที่ดินยังเป็นของจำเลยอยู่ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อย ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยขายที่พิพาทให้ผู้ร้อง ย่อมถือว่าผู้ร้องมีสิทธิตามคำพิพากษาที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะบังคับคดีได้แล้วหากศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้ร้องก็ต้องเลิกการบังคับคดีไปเอง ฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่มีการขายทอดตลาดที่พิพาทผู้ร้องย่อมใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่พิพาท พิพากษากลับ ให้ปล่อยทรัพย์ที่พิพาท