คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า ‘เจ้าหน้าที่’ ในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 ไม่ได้หมายความถึงเจ้าหน้าที่ตามความหมายทั่วไป แต่หมายความถึงเจ้าหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น
ในการเวนคืนที่ดินในเขตอำเภอเมืองชลบุรี พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอเมืองชลบุรีจังหวัดชลบุรี พ.ศ.2497 มาตรา 4 กำหนดให้เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบกเป็นเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการเวนคืน ต่อมาเมื่อมีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลนาป่า ตำบลบ้านสวน ตำบลบางทราย และตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พ.ศ.2502 มาตรา 3 ก็กำหนดให้ผู้บัญชาการทหารบกเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชบัญญัตินี้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๕ตุลาคม ๒๕๐๒ ตั้งกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลนาป่าอำเภอเมืองชลบุรี ประกอบด้วย ๑. เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี๒. นายอำเภอเมืองชลบุรี และ ๓. ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกฉะเชิงเทรานางระเบียบ บัณฑุวณิชย์ ไม่ยอมตกลงราคาที่ดินในเขตเวนคืนตามที่กรรมการเวนคืนกำหนด ทางราชการกองทัพบกจึงเสนอราคาเด็ดขาดไปให้นางระเบียบ บัณฑุวณิชย์ เจ้าของที่ดินในเขตเวนคืนทราย และเจ้าของที่ดินดังกล่าวไม่เสนอขอตั้งอนุญาโตตุลาการภายในกำหนด ๖ เดือนผู้ร้องจึงนำเงินค่าทดแทนมาวางศาล เพื่อผู้ร้องจะได้ครอบครองที่ดินต่อไปตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. ๒๔๙๗ ขอให้ศาลรับเงินค่าทดแทนรวมเป็นจำนวน ๘๑,๕๓๘ บาทสำหรับที่ดินเลขที่ ๑๐๖ และ ๑๐๗ ตามโฉนดที่ ๙๕๖ ตำบลบ้านสวนอำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ของนางระเบียบ บัณฑุวณิชย์ ขอให้ศาลแจ้งให้นางระเบียบ บัณฑุวณิชย์ ทราบถึงการวางเงินทดแทนต่อศาลด้วย
นางระเบียบ บัณฑุวณิชย์ ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ที่ดินทั้ง ๒แปลงดังกล่าวของผู้คัดค้าน ทางคณะกรรมการได้กำหนดราคาเวนคืนต่ำกว่าราคาประเมินของพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีมาก ผู้คัดค้านจึงไม่ยอม ต่อมากองทัพบกได้เสนอราคาเด็ดขาดมายังผู้คัดค้านและแจ้งว่า หากไม่ตกลงก็จะตั้งอนุญาโตตุลาการต่อไปตามหนังสือลงวันที่๒๕ ตุลาคม ๒๕๐๖ ผู้คัดค้านไม่ยินยอม และได้เสนอขอตั้งอนุญาโตตุลาการเช่นเดียวกัน ตามหนังสือลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ อันเป็นระยะภายในกำหนด ๖ เดือนตามกฎหมาย แต่กองทัพบกและคณะกรรมการเวนคืนหาได้จัดการนัดหมายเพื่อตกลงร่วมกันตั้งอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายให้เสร็จสิ้นไปไม่ ขอให้ยกคำร้อง หรือมิฉะนั้น ขอให้ศาลสั่งผู้ร้องกับผู้คัดค้านร่วมกันตกลงตั้งอนุญาโตตุลาการต่อไป
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้ร้องร้องเข้ามาก็เพียงเพื่อให้ผู้คัดค้านรับเงินและผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินเท่านั้น ในเมื่อเจ้าของที่ดินคัดค้านเช่นนี้ การดำเนินการเกี่ยวกับการวางเงินและรับเงินจึงไม่มีทางทำได้ และเมื่อผู้คัดค้านอ้างว่าผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายก็ชอบที่ผู้คัดค้านจะฟ้องร้องต่อไป จึงให้ยกคำร้องและคำคัดค้าน
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเข้ามาเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทแต่เมื่อผู้คัดค้านโต้แย้งว่าผู้ร้องไม่นัดหมายเพื่อตกลงตั้งอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมาย ถือว่าเป็นคดีมีข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๘๘ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องและคำคัดค้านจึงยังไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ากรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นผู้ยื่นคำร้องและในคำร้องก็ระบุชัดว่ากรรมการมี ๓ คนซึ่งถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑๘ แต่ท้ายคำร้องนี้คงมีเพียงนายอำเภอเมืองชลบุรีกรรมการผู้เดียวลงชื่อ จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องในกรณีเช่นนี้ได้ พิพากษาแก้คำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกาว่า กรณียื่นคำร้องขอวางเงินต่อศาลตามความในมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. ๒๔๙๗ ใช้คำว่า “เจ้าหน้าที่” เท่านั้น ก็ปฏิบัติการได้นายอำเภอเมืองชลบุรีร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งจึงมีสิทธิยื่นคำร้องได้นอกจากนี้ยังได้ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายอื่นมาอีกด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องหรือร้องของผู้ร้องมีความเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๒๔ บัญญัติว่า “ถ้าคำเสนอของเจ้าหน้าที่ไม่มีคำสนองรับภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ได้รับคำเสนอนั้น คู่กรณีแต่ละฝ่ายมีสิทธิขอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙ ได้
ถ้าผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนไม่เสนอตั้งอนุญาโตตุลาการดังกล่าวภายในกำหนด ๖ เดือน ให้ถือว่าราคาเด็ดขาดที่เจ้าหน้าที่เสนอเป็นเงินค่าทดแทนและเมื่อได้วางเงินต่อศาลแล้วเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นได้” คำว่า”เจ้าหน้าที่” จึงไม่ได้หมายความถึงเจ้าหน้าที่ตามความหมายทั่วไปแต่หมายความถึงเจ้าหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ และที่ได้ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๔ กำหนดให้เจ้ากรมการส่งกำลังบำรุงทหารบกเป็นเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกานี้ และต่อมาเมื่อมีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลนาป่า ตำบลบ้านสวนตำบลบางทราย และตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรีพ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓ ก็กำหนดให้ผู้บัญชาการทหารบกเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น นายอำเภอเมืองชลบุรีจึงหาใช่เจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. ๒๔๙๗ และไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป
พิพากษายืน

Share