แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กับจำเลยทำสัญญาตัวแทนจำหน่ายสินค้ายาสูบประเภทบุหรี่ ในสัญญาตัวแทนจำหน่ายดังกล่าวมีกรรมการคนหนึ่งของจำเลยลงลายมือชื่อท้ายสัญญาโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยตามข้อบังคับของบริษัทซึ่งปกติจะไม่มีผลผูกพันจำเลย แต่ปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์ว่าหลังจากทำสัญญาดังกล่าวกับจำเลยแล้ว จำเลยบอกเลิกสัญญาดังกล่าวต่อโจทก์ก่อนครบกำหนด เนื่องจากจำเลยต้องการจำหน่ายสินค้าบุหรี่เอง และปรากฏจากคำร้องของจำเลยที่ให้จำหน่ายคดีนี้เพราะในสัญญาตัวแทนจำหน่ายดังกล่าวมีข้อตกลงให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ และจำเลยได้ยื่นข้อเรียกร้องต่ออนุญาโตตุลาการของหอการค้านานาชาติให้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ซึ่งเท่ากับว่า จำเลยได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของกรรมการผู้มีอำนาจของตน สัญญาตัวแทนจำหน่ายดังกล่าวจึงใช้บังคับได้
แม้ในขณะทำสัญญาตัวแทนจำหน่ายดังกล่าว ยังไม่มีการบัญญัติกฎหมาย พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ มาใช้บังคับ แต่สิทธิในความลับทางการค้าก็ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยสัญญาระหว่างคู่สัญญา และโดยหลักละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 421 อยู่แล้ว จึงเป็นสิทธิทางแพ่งอย่างหนึ่งที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ โจทก์กับจำเลยจึงสามารตกลงกันในเรื่องข้อมูลความลับทางการค้าในสัญญาดังกล่าวได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของความลับทางการค้าข้อมูลธุรกิจการค้าเกี่ยวกับการตลาดในการจำหน่ายสินค้ายาสูบประเภทบุหรี่ของร้านค้าซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ไม่น้อยว่า 30,000 ร้าน รวมทั้งแผนที่ตั้งร้านค้าทุกร้าน จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทในต่างประเทศทำสัญญาให้โจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าบุหรี่หลายตราแต่ผู้เดียวในประเทศไทย ต่อมาก่อนครบอายุสัญญาตัวแทนจำหน่าย จำเลยต้องการจำหน่ายสินค้าเองจึงส่งพนักงานของจำเลยมาดูแลกิจการและข้อมูลความลับทางการค้าของโจทก์กับติดต่อทาบทามพนักงานของโจทก์เฉพาะที่รู้ข้อมูลความลับทางการค้าบุหรี่ไปทำงานกับจำเลย แล้วจำเลยได้บอกเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายต่อโจทก์และทำการจำหน่ายสินค้าให้แก่ร้านค้าตามข้อมูลความลับทางการค้าของโจกท์เองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายจากการที่ได้ใช้เงินพัฒนาข้อมูลนั้น และขาดประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้า ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายก่อนว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้หรือไม่ โดยอ้างว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทตามสัญญาตัวแทนจำหน่าย โดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญานั้น เป็นการขัดต่อข้อสัญญาตัวแทนจำหน่าย และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530
โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านและคำแถลงคัดค้านเพิ่มเติม ขอให้ยกคำร้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนแล้ว วินิจฉัยว่า ข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การเป็นข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการ และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องได้ยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดีภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย อีกทั้งไม่ปรากฏว่าสัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า …โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ก่อนวินิจฉัยปัญหานี้ เห็นควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ก่อนว่า สัญญาตัวแทนจำหน่ายสินค้ายาสูบประเภทบุหรี่ ซึ่งมีนายอึ้ง ซิว ธง หรือ อึ้ง ซิว ทง กรรมการคนหนึ่งของจำเลยลงลายมือชื่อ แต่ไม่ได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยด้วยจะผูกพันจำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้ในสัญญาตัวแทนจำหน่ายมีเพียงนายอึ้ง ซิว ธง หรือ อึ้ง ซิว ทง ลงลายมือชื่อท้ายสัญญาโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยตามข้อบังคับของบริษัทซึ่งปกติจะไม่มีผลผูกพันจำเลย แต่ปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์เองว่าหลังจากทำสัญญาดังกล่าวกับจำเลยแล้ว โจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญากับจำเลยอย่างถูกต้องครบถ้วนตลอดมา กิจการของโจทก์เป็นไปได้ด้วยดี จนต่อมาจำเลยต้องการจำหน่ายสินค้าบุหรี่เองจึงส่งพนักงานของจำเลยเข้ามาดูแลกิจการของโจทก์ ไม่ส่งสินค้าให้โจทก์จนโจทก์ไม่มีสินค้าจำหน่ายให้ร้านค้าซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ แล้วจำเลยบอกเลิกสัญญาดังกล่าวต่อโจทก์ก่อนครบกำหนด และปรากฏจากคำแถลงคัดค้านของโจทก์ต่อคำร้องของจำเลยที่ให้จำหน่ายคดีนี้เพราะมีข้อตกลงให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการว่า จำเลยได้ยื่นข้อเรียกร้องต่ออนุญาโตตุลาการของหอการค้านานาชาติเพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลย ซึ่งเท่ากับจำเลยรวมทั้งโจทก์ต่างถือเอาสัญญานี้มาใช้เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของตน ถือว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของนายอึ้ง ซิว ธง หรือ อึ้ง ซิว ทง กรรมการผู้มีอำนาจของตนแล้ว สัญญานี้จึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยในฐานะคู่สัญญา สัญญาตัวแทนจำหน่ายดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่นั้น เห็นว่า ในสัญญาตัวแทนจำหน่ายข้อ 14 ระบุว่า ทีไอ เทรดดิ้ง (โจทก์) จะถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับการขายและข้อมูลด้านตลาดอื่นๆ ในฟอร์มหรือรูปแบบที่เจทีไอ (จำเลย) จัดให้ ให้แก่เจทีไอโดยทันที ในสัญญาข้อ 15 ระบุว่า หากทีไอ เทรดดิ้ง ได้รับการร้องขอ จะต้องอนุญาตให้ผู้แทนของเจทีไอติดตามพนักงานของทีไอ เทรดดิ้ง ในขณะพนักงานเหล่านั้นปฏิบัติหน้าที่ และในสัญญาข้อ 20 ระบุว่า ทีไอ เทรดดิ้ง ตกลงที่จะไม่บอก เปิดเผยหรือมอบความลับทางการค้า ข้อมูลที่เป็นความลับหรือที่ล่อแหลม (เป็นต้นว่า ข้อมูลการผลิต การขาย และการตลาดของเจทีไอ หรือของบริษัทในเครือของเจทีไอด้วย) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทีไอ เทรดดิ้ง คุ้นเคยดีเนื่องจากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นตามสัญญานี้ ให้แก่บุคคลที่ไม่ใช่เป็นคู่สัญญาในสัญญานี้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจทีไอก่อน ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับการขาย การตลาด ตามข้อตกลงเหล่านี้เป็นข้อมูลการค้าที่การวินิจฉัยว่าเป็นความลับทางการค้าหรือไม่ และจำเลยละเมิดสิทธิในข้อมูลที่โจทก์อ้างว่าเป็นความลับทางการค้าของโจทก์ด้วยการส่งพนักงานของจำเลยมาดูแลกิจการของโจทก์และข้อมูลเกี่ยวกับร้านค้าบุหรี่ที่เป็นลูกค้าของโจทก์ กับพยายามทาบทามพนักงานของโจทก์เฉพาะผู้ที่รู้ข้อมูลการค้านี้ของโจทก์ ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อสัญญาเหล่านี้ เมื่อในสัญญาดังกล่าวข้อ 22 ระบุว่า ข้อพิพาททั้งปวงที่เกิดจากข้อสัญญานี้จะต้องตัดสินชี้ขาดภายใต้ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของหอการค้านานาชาติ ข้อพิพาทเกี่ยวกับข้อสัญญาในเรื่องข้อมูลการค้าดังกล่าวของโจทก์ จึงต้องตัดสินชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการด้วย จึงไม่ชอบที่โจทก์จะนำมายื่นฟ้องเป็นคดีนี้ต่อศาล ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ขณะทำสัญญาตัวแทนจำหน่าย เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2543 ยังไม่มีการบัญญัติกฎหมายพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาใช้บังคับ จึงนำกฎหมายนี้มาใช้บังคับย้อนหลังไปคุ้มครองสิทธิของคู่สัญญาคือโจทก์กับจำเลยตามสัญญาดังกล่าวไม่ได้นั้น เห็นว่า ก่อนหน้าการใช้บังคับพระราชบัญญัติความลับทางการค้าดังกล่าว สิทธิในความลับทางการค้าก็ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยสัญญาระหว่างคู่สัญญา และโดยหลักละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, 421 อยู่แล้ว จึงเป็นสิทธิทางแพ่งอย่างหนึ่งที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ โจทก์กับจำเลยจึงสามารถตกลงกันในเรื่องข้อมูลความลับทางการค้าลงในสัญญาดังกล่าวได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางช้ากว่าวันยื่นคำให้การหรือพ้นระยะเวลาที่มีสิทธิยื่นคำให้การ ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าเกี่ยวกับข้อมูลการค้าบุหรี่ของโจทก์ จำเลยได้ยื่นคำให้การต่อสู้ประการหนึ่งว่า ข้อมูลการค้าดังกล่าวซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นความลับทางการค้าเป็นข้อสัญญาในสัญญาตัวแทนจำหน่ายที่ต้องวินิจฉัยชี้ขาดภายใต้ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของหอการค้านานาชาติ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยชี้ขาดตามข้อสัญญาดังกล่าวก่อน เป็นการผิดสัญญาและกฎหมายอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง คำให้การดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยประสงค์จะขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่โจทก์ไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยชี้ขาดก่อนที่จะฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 แล้ว การที่จำเลยยื่นคำร้องในเวลาต่อมาขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายก่อนว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้นเป็นการยืนยันถึงความต้องการดังกล่าวของจำเลย แม้จำเลยจะยื่นคำร้องช้ากว่าวันยื่นคำให้การก็ไม่เป็นเหตุทำให้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการใช้บังคับไม่ได้ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อให้ศาลได้ทำการไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเสียก่อนที่จะได้มีการพิจารณาคดีตามประเด็นข้อพิพาท คดีนี้จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในเรื่องดังกล่าวของโจทก์ก่อนวันนัดชี้สองสถานและกำหนดแนวทางการดำเนินคดี และโจทก์ก็มีโอกาสแถลงคัดค้านคำร้องดังกล่าวของจำเลยแล้ว ทั้งปรากฏจากคำแถลงคัดค้านของโจทก์เองว่าก่อนโจทก์มาฟ้องคดีนี้ จำเลยได้ยื่นข้อเรียกร้องต่ออนุญาโตตุลาการแห่งหอการค้านานาชาติให้ตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเรื่องอื่นตามสัญญาตัวแทนจำหน่าย ซึ่งโจทก์ก็ยื่นคำให้การและร้องแย้งต่ออนุญาโตตุลาการเรียกค่าเสียหายจากจำเลย แต่อนุญาโตตุลาการไม่รับร้องแย้งทั้งหมดของโจทก์รวมทั้งปัญหาเรื่องความลับทางการค้าของโจทก์ด้วย แสดงว่าโจทก์ก็เคยใช้ช่องทางระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการซึ่งแต่งตั้งโดยอนุญาโตตุลาการแห่งหอการค้านานาชาติแล้ว เมื่ออนุญาโตตุลาการซึ่งไม่รับร้องแย้งซึ่งมีปัญหาเรื่องจำเลยละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของโจทก์อยู่ด้วย โจทก์ก็ต้องหาทางดำเนินการตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวต่อไป ฉะนั้น เพียงแต่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่เพื่อให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีให้โจทก์ไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการช้ากว่าเวลาที่กฎหมายกำหนดจึงยังไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อไปโดยไม่สั่งจำหน่ายคดีตามคำให้การและคำร้องของจำเลย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์โดยมิได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลแก่โจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรมีคำสั่งแก้ไขเสียให้ถูกต้อง