คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6435/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์ภายหลังมีการประกาศใช้บังคับ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ 2)ฯ มาตรา 3 แล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตามกฎหมายทีแก้ไขใหม่นี้มาใช้บังคับ เมื่ออุทธรณ์ของผู้คัดค้านเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายกลางตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งอุทธรณ์ได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคสอง (1) ถึง (5) แต่คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้ผู้ร้องเป็นคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายที่ดิน และให้ขยายระยะเวลาให้ผู้ร้องชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านมานั้นเป็นการมิชอบ
แม้คดีจะต้องห้ามอุทธรณ์แต่ศาลฎีกามีอำนาจรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไว้พิจารณาพิพากษาได้หากพิจารณาแล้วเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายฯ มาตรา 26 วรรคสี่ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ 2)ฯ มาตรา 4
การที่มีผู้ยื่นคำร้องขออ้างว่าได้ที่ดินดังกล่าวมาโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนดังกล่าวนี้ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง แม้จะมีผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ผู้ร้องประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาดโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม สิทธิดังกล่าวก็ไม่อาจยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองซึ่งย่อมได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายโดยสุจริต สิทธิของผู้ร้องจึงมิเสียไปแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์นั้นมิใช่ของผู้ล้มละลายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 แม้ผู้ร้องจะยังมิได้มีการชำระราคาทรัพย์ครบถ้วนหรือยังมิได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ผู้ร้องก็ยังได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ผู้อื่นจะอ้างเหตุว่าเป็นผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินดังกล่าวขึ้นต่อสู้สิทธิของผู้ร้องมิได้ การที่มีผู้ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินที่ผู้ร้องประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาดจึงมิได้มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้ร้องแต่อย่างใด
แม้มีผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดแต่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้น เมื่อศาลล้มละลายกลางยกคำร้องดังกล่าวไปแล้วและศาลอุทธรณ์ยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงยังคงได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2546 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ผู้รับจำนองของลูกหนี้ได้นำผู้คัดค้านยึดที่ดินอันเป็นทรัพย์จำนองของลูกหนี้ ผู้ร้องประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาดผู้ร้องชำระเงินจำนวน 10,050,000 บาท ยังค้างชำระจำนวน 682,950,000 บาท ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านว่า มีผู้ยื่นคำร้องขออ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ และมีผู้ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดครั้งนี้ คดีอยู่ระหว่างพิจารณาทำให้สถาบันการเงินชะลอการให้กู้เงินแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงขอให้ขยายระยะเวลาชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือออกไปจนกว่าคดีที่มีการร้องขอครอบครองปรปักษ์จะถึงที่สุด ผู้คัดค้านมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาการวางเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือ ให้ริบเงินมัดจำจำนวน 10,050,000 บาท เข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้และนำที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดใหม่ หากขายได้ราคาต่ำกว่าที่ผู้ร้องเคยให้ไว้ให้ผู้ร้องรับผิดชอบ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำสั่งของผู้คัดค้าน และให้ผู้ร้องเป็นคู่สัญญาตามเดิมเพื่อผู้ร้องจะได้ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายที่ดินต่อไป
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งของผู้คัดค้านให้ผู้ร้องเป็นคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายที่ดินตามเดิม และให้ขยายระยะเวลาให้ผู้ร้องชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือภายใน 30 วัน นับแต่คดีหมายเลขดำที่ 1449/2546 และที่ 1450/2546 ของศาลจังหวัดมีนบุรีถึงที่สุด
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยประการแรกว่า ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านมานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2547 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังมีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 มาตรา 3 แล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้มาใช้บังคับ เมื่ออุทธรณ์ของผู้คัดค้านเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะอุทธรณ์ได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคสอง (1) ถึง (5) แต่คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้ผู้ร้องเป็นคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายที่ดิน และให้ขยายระยะเวลาให้ผู้ร้องชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านมานั้นเป็นการมิชอบ แต่ศาลฎีกามีอำนาจรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไว้พิจารณาพิพากษาได้หากพิจารณาแล้วเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 26 วรรคสี่ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 มาตรา 4 จึงมีปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปว่า ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้ร้องกลับเข้าเป็นคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายที่ดินและให้ขยายระยะเวลาให้ผู้ร้องชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2546 ผู้ร้องประมูลซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 667, 170978 และ 171080 แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร อันเป็นทรัพย์จำนองของลูกหนี้ได้จากการขายทอดตลาดในราคา 693,000,000 บาท ผู้ร้องชำระเงินจำนวน 10,050,000 บาท และขอขยายระยะเวลาการชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือออกไปก่อน โดยขณะเดียวกันผู้ร้องได้ดำเนินการขอสินเชื่อจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ยูนิโก้ เฮ้าซิ่ง จำกัด ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2546 มีนางวรรณา เพชรปานกัน ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 667 แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว (บางกะปิ) กรุงเทพมหานครและนายกฤษฎานันท์ เพชรปานกัน ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 170978 และ 171080 แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ดินที่ผู้ร้องประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1449/2546 และที่ 1450/2546 ของศาลจังหวัดมีนบุรี ตามลำดับ และมีนางสาววรรณา แจ้งจบ ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวต่อศาลล้มละลายกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 430/2547 เป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องไม่อาจนำเหตุที่มีผู้ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ในที่ดินทั้งสามแปลงที่ผู้ร้องประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาดมาเป็นเหตุขอขยายระยะเวลาชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือออกไปจนกว่าคดีดังกล่าวจะถึงที่สุดได้นั้น เห็นว่า แม้จะมีผู้ยื่นคำร้องของอ้างว่าได้ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวมาโดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนดังกล่าวนี้ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินทั้งสามแปลงซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ดังนั้น แม้จะฟังได้ว่ามีผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามแปลงที่ผู้ร้องประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาดโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตามสิทธิดังกล่าวก็ไม่อาจยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองซึ่งย่อมได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ผู้ร้องจึงไม่อาจนำเหตุที่มีผู้ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์มาอ้างเพื่อขอขยายระยะเวลาชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือออกไปได้ อีกทั้งเมื่อผู้ร้องเป็นซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายโดยสุจริต สิทธิของผู้ร้องจึงมิเสียไปแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์นั้นมิใช่ของผู้ล้มละลายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 และแม้ผู้ร้องจะยังมิได้มีการชำระราคาทรัพย์ครบถ้วนหรือยังมิได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ผู้ร้องก็ยังได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ดังนั้นผู้อื่นจะอ้างเหตุว่าเป็นผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวขึ้นต่อสู้สิทธิของผู้ร้องมิได้ การที่มีผู้ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินที่ผู้ร้องประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาดจึงมิได้มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้ร้องแต่อย่างใด เหตุดังกล่าวจึงไม่มีผลต่อการที่สถาบันการเงินจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ร้องหรือไม่ ผู้ร้องไม่อาจนำมาเป็นเหตุขอขยายระยะเวลาชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือต่อไปได้อีกเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นปรากฏจากทางนำสืบของผู้คัดค้านว่า คดีที่มีผู้ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ดังกล่าวนั้น ศาลจังหวัดมีนบุรีได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว เนื่องจากผู้ร้องไม่วางเงินค่าขึ้นศาลภายในกำหนดประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความอีกด้วยว่า นับแต่วันที่ผู้ร้องประมูลซื้อที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวได้จากการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2546 ผู้คัดค้านได้ขยายระยะเวลาชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ร้องจำนวนหลายครั้งเป็นระยะเวลากว่า 7 เดือน การที่ผู้ร้องขอขยายระยะเวลาชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือโดยอ้างเหตุเดียวกันมาโดยตลอดว่ามีผู้ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ในที่ดินทั้งสามแปลงที่ผู้ร้องประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาดประกอบกับสถาบันการเงินชะลอการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ร้องจึงน่าจะเป็นไปเพื่อประวิงคดีและเป็นเหตุหนึ่งซึ่งส่อแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่ามีผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดก็ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวไปแล้วคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ดังนั้น เมื่อศาลล้มละลายกลางยกคำร้องดังกล่าวไปแล้วและศาลอุทธรณ์ยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงยังคงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 และไม่อาจนำเหตุดังกล่าวมากล่าวอ้างเพื่อขอขยายระยะเวลาชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือได้เช่นเดียวกัน ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งของผู้คัดค้านให้ผู้ร้องเป็นคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 667, 170978 และ 171080 แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร ตามเดิม และให้ขยายเวลาให้ผู้ร้องชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือภายใน 30 วัน นับแต่คดีหมายเลขดำที่ 1449/2546 และที่ 1450/2546 ของศาลจังหวัดมีนบุรีถึงที่สุด จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการผิดพลาดไป ศาลฎีกาจึงรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านเพื่อพิจารณาแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวข้างต้น”
พิพากษากลับ ให้ริบเงินมัดจำจำนวน 10,050,000 บาท เข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ และนำที่ดินโฉนดเลขที่ 667, 170978 และ 171080 แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดใหม่ หากได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ให้ผู้ร้องรับผิดในส่วนที่ขาด

Share