คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6786/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในการขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษี จำเลยที่ 1 ให้สัญญาแก่โจทก์ว่า กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่กรมศุลกากรไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น และโจทก์ได้ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาดังกล่าวโดยต้องใช้เงินคืนโจทก์ตามมูลค่าบัตรภาษีทั้ง 7 ฉบับ ที่เกิดจากการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวไม่มีกำหนดอายุความโดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 หาใช่เป็นกรณีที่จะถือว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ในกรณีเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินชดเชยค่าภาษีอากรเป็นเงินตามมูลค่าบัตรภาษีจำนวน 174,769.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันรับบัตรจนถึงวันฟ้องจำนวน 126,328.30 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 301,097.45 บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 174,769.15 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติโดยที่คู่ความไม่อุทธรณ์โต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดและเป็หนุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2538 บริษัททักษิณ การ์เม้นท์ จำกัด ได้ยื่นคำขอรับเงินชดเชยภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออก ระบุว่า ได้ส่งสินค้าประเภทเสื้อผ้าออกไปจำหน่ายต่างประเทศตามใบขนสินค้าขาออกรวม 10 ฉบับ และขอโอนสิทธิรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีและสัญญาแก่โจทก์ว่า กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งในการยื่นขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรดังกล่าวบริษัททักษิณ การ์เม้นท์ จำกัด ได้สำแดงข้อความอันเป็นเท็จในใบขนสินค้าขาออกเลขที่ 0212 2048 0501 ถึง 10, 0212 2048 0505 ถึง 6, 0212 2048 0506 ถึง 7, 0212 2048 0620 ถึง 6, 0212 2048 1261 ถึง 7, 0212 2058 0103 ถึง 7 และ 0212 2068 0470 ถึง 5 รวม 7 ฉบับ เป็นเงิน 174,769.15 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 29, 34, 39, 44, 49, 54 และ 59 โดยไม่มีการส่งออกสินค้าจริง และได้ยื่นหลักฐานอันเป็นเท็จมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากร เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อได้จ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรเป็นบัตรภาษีเฉพาะตามใบขนสินค้าขาออกที่สำแดงข้อความอันเป็นเท็จในนามของจำเลยที่ 1 จำนวน 174, 769.15 บาท และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำบัตรภาษีดังกล่าวไปใช้ชำระค่าภาษีอากรแล้วมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในการขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ให้สัญญาแก่โจทก์ว่า กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่กรมศุลกากรไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น และโจทก์ได้ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาดังกล่าวโดยต้องใช้เงินคืนโจทก์ตามมูลค่าบัตรภาษีทั้ง 7 ฉบับ ที่เกิดจากการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวไม่มีกำหนดอายุความโดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 หาใช่เป็นกรณีที่จะถือว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ในกรณีเรียกคืนลาภมิควรได้ตามที่จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดีไว้ไม่ สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้เมื่อความรับผิดของจำเลยทั้งสามเป็นความรับผิดในหนี้เงินอันเกิดแต่สัญญาและเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมรับผิดใช้ดอกเบี้ยเมื่อผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 251 ถึง 256 ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้รับหนังสือทวงถามของโจทก์วันที่ 10 มิถุนายน 2547 ครบกำหนดชำระหนี้วันที่ 25 มิถุนายน 2547 จำเลยทั้งสามจึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องร่วมรับผิดใช้ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เมื่อจำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมูลหนี้อันเกิดแต่สัญญาแล้วกรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานลาภมิควรได้หรือเป็นกรณีที่โจทก์ติดตามเอาทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 174,769.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 20 พฤษภาคม 2548) ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดไม่เกิน 126,328.30 บาท ตามที่โจทก์ขอ

Share