แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ต่างมุ่งประสงค์ให้การกำหนดและจ่ายเงินทดแทนอย่างเป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่น แต่มาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้คำนึงในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้ดังเช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 อย่างเป็นธรรม จึงต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์เช่นเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) กรณีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) คือ วันใช้บังคับ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน อันเป็นวันเริ่มต้นของการกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนมีผลใช้บังคับ ซึ่งคือวันที่ประกาศกำหนดเขตสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 28 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนจำนวน 2,431,350 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2542 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 115,905.45 บาท และดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวของต้นเงิน 2,431,350 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 540,300 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่าที่โจทก์ขอ นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 2,105,280 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพิ่มให้โจทก์เป็นอัตราร้อยละ 90 ของตารางวาละ 6,000 บาท นั้นสูงเกินไปหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ กำหนดให้แก่โจทก์เป็นธรรมแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ต่างมุ่งประสงค์ให้การกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่น แต่มาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้คำนึงในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้ดังเช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 อย่างเป็นธรรม จึงต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์เช่นเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) กรณีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) คือ วันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน อันเป็นวันเริ่มต้นของการกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนมีผลใช้บังคับ เมื่อเทียบกันกับกรณีในคดีนี้วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าคือวันที่ประกาศกำหนดเขตสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 28 (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 ซึ่งจำเลยได้ประกาศเรื่อง กำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ จากสถานีไฟฟ้าย่อยราชบุรี 3 ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยไทรน้อยในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 และประกาศเรื่อง กำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ จากจุดแยกสถานีไฟฟ้าย่อยไทรน้อย (บริเวณอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี) ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยวังน้อย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2537 ดังนั้น วันที่จะพิจารณาถึงราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ในแนวเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าทั้งสองสายนี้คือ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 และวันที่ 1 ธันวาคม 2537 ตามลำดับ ตามสารบัญจดทะเบียนในสำเนาโฉนดที่ดิน 3720 ของโจทก์เอกสารหมาย จ.2 โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทแปลงนี้มาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2538 ซึ่งขณะนั้นมีเนื้อที่ 4 ไร่ สภาพที่ดินไม่มีด้านใดติดทางสาธารณประโยชน์ ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2539 โจทก์ได้แบ่งหักบางส่วนของที่ดินด้านทิศตะวันตกเนื้อที่ 79 ตารางวา เป็นทางสาธารณประโยชน์ โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาภายหลังวันกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าทั้งสองสายนี้ในสภาพที่ดินที่ไม่มีด้านใดติดทางสาธารณประโยชน์ ทั้งโจทก์ไม่นำสืบถึงเลยว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาในราคาเท่าใด อันเป็นข้อพิรุธชวนให้ระแวงสงสัยว่าราคาที่ดินพิพาทที่โจทก์ซื้อมานี้น่าจะไม่เป็นประโยชน์ต่อคดีของโจทก์ในการขอเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่ม ส่วนที่โจทก์นำสืบถึงการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3222 และ 11139 ที่นายรุ่ง ทองมา ขายให้แก่นางคะนึงกิจ เตโชฬาร ซึ่งจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 โดยอ้างว่าก่อนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันมีการทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายกันตั้งแต่วันที่ 26 กันยาน 2538 และผ่อนชำระค่าที่ดินด้วยเช็คตามสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อขายและสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 นั้น โจทก์ก็ไม่ได้อ้างส่งหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับที่จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าจดทะเบียนซื้อขายกันในราคาตารางวาละเท่าใด แต่ปรากฏจากสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ เอกสารหมาย จ.15 ว่า จดทะเบียนซื้อขายกันในราคาตารางวาละ 4,109 บาท ทั้งสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ระบุว่าทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2538 ได้ระบุหมายเลขโฉนดที่ดินเลขที่ 3222 และ 11139 ไว้ด้วย ทั้ง ๆ ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาบางใหญ่ ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 11139 ให้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2539 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.26 จึงเชื่อว่าหนังสือสัญญาจะซื้อขายตามสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.10 ลงวันที่ย้อนหลัง ทั้งนายรุ่ง ทองมา ผู้ขายมีที่ดินอื่นอีก 5 แปลงที่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าในโครงการเดียวกันกับคดีนี้ด้วยตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย จ.31 มีเหตุให้ระแวงสงสัยได้ว่าเป็นการสร้างหลักฐานการซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวในราคาสูงเพื่อใช้ในการสนับสนุนเรียกร้องเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินจากจำเลยให้สูงขึ้น และที่โจทก์อ้างว่าเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2538 นายชัยยศ น้อยบุญเติม กับนายรุ่ง ทองมา ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 63278 ให้แก่นายจำรัส พลหนุ่ย และวันที่ 26 มีนาคม 2538 นางสาวอรนุช น้อยบุญเติม กับนายชัยยศ น้อยบุญเติม ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3518 ให้แก่นางวาสนา จันทร์แก้ว ในราคาตารางวาละ 6,000 บาท นั้น ก็มีเพียงแต่สำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 เท่านั้น ซึ่งง่ายแก่การทำขึ้นและกล่าวอ้าง โดยไม่ปรากฏว่าได้มีการจดทะเบียนซื้อขายกันเสร็จเด็ดขาดในราคาดังกล่าว ทั้งผู้เขียนสัญญาตามสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 เป็นบุคคลเดียวกันกับผู้เขียนสัญญาตามสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าเขียนขึ้นโดยลงวันที่ย้อนหลังอันเป็นพิรุธ จึงยังฟังไม่ได้ว่ามีการซื้อขายที่ดินดังกล่าวในราคาตารางวาละ 6,000 บาท ส่วนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 65308 เนื้อที่ 215 ตารางวา ระหว่างนายเสรี งานสัพพศิลป์ ผู้ขาย กับนางสาวรัตน์ชนก สุดใจ ผู้ซื้อ ในราคาตารางวาละ 5,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินและสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.13 และ จ.14 ก็จดทะเบียนซื้อขายที่ดินภายหลังวันประกาศกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าทั้งสองสายกว่า 3 ปี และที่ดินแปลงดังกล่าวก็อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าในคดีนี้ด้วย เป็นที่ดินแปลงเล็กกว่าที่ดินของโจทก์มากและอยู่ติดทางสาธารณประโยชน์ สภาพและที่ตั้งของที่ดินแปลงดังกล่าวจึงดีกว่าสภาพและที่ตั้งของที่ดินพิพาทในขณะที่มีการประกาศกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าทั้งสองสายซึ่งเป็นที่ดินที่ไม่มีด้านใดอยู่ติดทางสาธารณประโยชน์จากสภาพและที่ตั้งของที่ดินพิพาทดังกล่าวและพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังไม่ได้ว่าในวันประกาศกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าทั้งสองสายคือ ปลายปี 2537 ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3720 มีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดสูงถึงตารางวาละ 6,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดราคาที่ดินพิพาทตารางวาละ 6,000 บาท เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์นั้นสูงเกินไป แต่อย่างไรก็ตามปรากฏจากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ ว่า เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2536 ได้มีการจดทะเบียนซื้อขายโฉนดเลขที่ 5301 เนื้อที่ 150 ตารางวา อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินพิพาท ระหว่างนายชัยยศ น้อยบุญเติม กับนางมรกต แซ่ตั้ง ในราคาตารางวาละ 3,680 บาท ตามสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ เอกสารหมาย จ.15 ประกอบกับที่ดินของโจทก์ที่เหลืออยู่นอกแนวเขตที่ดินสายส่งไฟฟ้าทั้งสองสายมีเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 80.70 ตารางวา เป็นเนื้อที่ไม่มากนัก ซึ่งคงจะได้รับผลกระทบในแง่ลบอยู่บ้างด้วย จึงเห็นควรใช้อัตราที่ดินตารางวาละ 4,000 บาท มาเป็นฐานในการพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์เนื่องจากการเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลยพาดผ่านที่ดินนั้นเป็นการขอใช้ที่ดินโดยมิได้มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินส่วนที่อยู่ในแนวเขตสายส่งไฟฟ้าให้แก่จำเลย ที่ดินเหล่านั้นยังคงเป็นกรรมสิทธิ์หรือครอบครองของเจ้าของที่ดินอยู่ ดังนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นด้วยกับที่ฝ่ายจำเลยกำหนดอัตราถือจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามประเภทที่ดินที่ว่า ที่ดินที่เป็นที่ตั้งเสาไฟฟ้าจ่ายให้ร้อยละ 100 ที่บ้านจ่ายให้ร้อยละ 90 ที่สวนจ่ายให้ร้อยละ 70 ที่นาจ่ายให้ร้อยละ 50 จึงมีปัญหาว่า ที่ดินของโจทก์จัดอยู่ในที่ดินประเภทใด ฝ่ายจำเลยมีความเห็นว่าที่ดินของโจทก์เป็นที่นา จึงกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้ในอัตราร้อยละ 50 ส่วนโจทก์โต้แย้งว่าที่ดินของโจทก์เป็นที่บ้าน ควรได้เงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินในอัตราร้อยละ 90 ปัญหาข้อนี้เห็นว่าตามสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ เอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 9 ได้กำหนดคำนิยามของที่บ้านไว้ว่า ที่บ้าน ให้หมายถึง “…3 ที่ดินจัดสรรเพื่อปลูกอาคารบ้านเรือน จะถือว่าเป็นที่บ้านได้ต่อเมื่อผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินจากทางราชการ รวมทั้งได้ดำเนินการปรับปรุงที่ดิน เช่น ทำถนนหรือถมดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ก่อนมีการประชุมคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนครั้งนี้…” ตามคำเบิกความของนายชัยยศผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านได้ความเพียงว่า ที่ดินของโจทก์ลักษณะเป็นที่นาถมแล้ว แต่เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีภาพถ่ายที่ดินของโจทก์มาแสดงและไม่มีข้อเท็จจริงชัดเจนว่า ถมแล้วตั้งแต่เมื่อใดเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใด สูงขนาดไหน ทั้งขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินแปลงนี้มาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2538 ที่ดินแปลงนี้มีเนื้อที่ 4 ไร่ ไม่มีด้านใดที่ติดทางสาธารณประโยชน์ ยังไม่พร้อมที่จะใช้เป็นที่ปลูกบ้านอยู่อาศัย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าในวันที่กำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าทั้งสองสายนี้ ที่ดินพิพาทมีลักษณะเป็นที่นา จึงต้องกำหนดเงินนค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 50 ของราคาที่ใช้เป็นฐานในการพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินซึ่งเป็นที่นาเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 38.20 ตารางวา ตารางวาละ 2,000 บาท เป็นเงิน 1,076,400 บาท ที่ตั้งเสาไฟฟ้าเนื้อที่ 2.10 ตารางวา ตารางวาละ 4,000 บาท เป็นเงิน 8,400 บาท รวมเป็นเงิน 1,084,800 บาท จำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์แล้วจำนวน 813,600 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นอีก 271,200 บาท ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอีกจำนวน 271,200 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่าที่โจทก์ขอ นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ