คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 742/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยตามข้อตกลงในสัญญาแม้จะไม่ได้ฟ้องบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องก็หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่
จำเลยผู้รับโอนสิทธิตามบัตรภาษีจากบริษัท อ. ให้สัญญาต่อโจทก์ว่าหากเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดๆ จำเลยยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้และไม่ใช่ความตกลงทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดในความประมาทเลินเล่อของตนทั้งไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงใช้บังคับได้ เมื่อบริษัท อ. ผู้โอนสิทธิตามบัตรภาษีมิได้ส่งสินค้าออกตามที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาออกจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษี จึงเป็นกรณีที่เกิดการทุจริตและเกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้ว ดังนั้นจำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาที่ให้ไว้แก่โจทก์ แม้ไม่ได้ความว่าจำเลยมีส่วนร่วมกับบริษัท อ. ในการสำแดงข้อความอันเป็นเท็จในใบขนสินค้าขาออก แต่จำเลยก็ต้องรับผิดตามสัญญา มิพักต้องคำนึงว่าจำเลยจะรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ และการกระทำของบริษัท อ. ต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่ เป็นความรับผิดคนละส่วนกันและไม่ใช่กรณีที่โจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลยแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีหนี้ใดที่จะนำมาหักกลบลบหนี้กับโจทก์
ตาม ป.พ.พ. มิได้บัญญัติเรื่องอายุความในกรณีสิทธิเรียกร้องตามสัญญา (คำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษี) ไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และตามสัญญาดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน จึงถือว่าจำเลยผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ย เมื่อโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่คืนเงินให้ตามที่โจทก์กำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคแรกและมาตรา 224 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 594,785.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 344,776.70 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ 344,776.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (2 มีนาคม 2549) ให้จำเลยรับผิดไม่เกิน 250,008.62 บาท ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อต่อไปมีว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยโดยสุจริตหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ความเสียหายตามฟ้องส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ แต่โจทก์ฟ้องจำเลยเพียงลำพังโดยสละสิทธิไม่ฟ้องบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดความเสียหาย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ตามคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีว่า กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดจำเลยยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งทั้งสิ้น อันเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีตามข้อตกลงในสัญญาและแม้โจทก์จะฟ้องจำเลยโดยไม่ได้ฟ้องบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อก็หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมีสาเหตุจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์หรือไม่ เป็นกรณีที่จำเลยต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีรายพิพาทในกรณีตามใบขนสินค้าขาออกที่มีการสำแดงเท็จทั้ง 13 ฉบับ ผูกพันจำเลยให้ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดและขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินชดเชยค่าภาษีอากรคืนจากจำเลย เนื่องจากข้อตกลงตามคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีไม่มีผลบังคับใช้ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความในมูลละเมิด โจทก์ต้องรับผิดในการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ จำเลยจึงขอใช้สิทธิหักกลบลบหนี้กับโจทก์ และจำเลยไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยเนื่องจากยังไม่ผิดนัดและสิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยขาดอายุความแล้ว เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่า จำเลยมีส่วนร่วมกับบริษัท แอล. อาร์. เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ในการสำแดงข้อความอันเป็นเท็จในใบขนสินค้าขาออกรายพิพาททั้ง 13 ฉบับ จำเลยจึงไม่ใช่ผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ แต่เมื่อในการขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีรายพิพาทจำเลยสัญญาต่อโจทก์ไว้ว่า กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่ขีข้อโต้แย้งทั้งสิ้น การแสดงเจตนาของจำเลยต่อโจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้และมิใช่ความตกลงทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน ทั้งเป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงใช้บังคับได้ จำเลยจึงมีความรับผิดตามสัญญาต้องใช้เงินคืนโจทก์ตามมูลค่าบัตรภาษีในส่วนของใบขนสินค้าขาออกรายพิพาทที่สำแดงเท็จทั้ง 13 ฉบับ ที่จำเลยนำไปใช้ชำระค่าภาษีอากรเป็นเงิน 302,326.70 บาท แก่โจทก์ โดยมิพักต้องคำนึงว่าจำเลยได้รับโอนบัตรภาษีรายพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ และบริษัท แอล. อาร์. เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่ เพราะเป็นความรับผิดคนละส่วนกัน และไม่ใช่กรณีที่โจทก์ทำละเมิดต่อจำเลยแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีหนี้ใดที่จะนำมาหักกลบลบหนี้กับโจทก์ ซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวไม่มีกำหนดอายุความโดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่า คดีขาดอายุความในมูลละเมิดหรือไม่ เนื่องจากจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลสัญญาเป็นความรับผิดที่แยกจากความรับผิดของบริษัท แอล. อาร์. เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด เมื่อความรับผิดของจำเลยเป็นความรับผิดในหนี้เงินอันเกิดแต่สัญญาและเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยเมื่อผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง และ 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งตามสำเนาหนังสือทวงถามและใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 105 และ 106 ปรากฏว่า หนังสือทวงถามระบุให้คืนบัตรภาษีหรือชดใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เมื่อจำเลยได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าววันที่ 14 ตุลาคม 2547 จึงครบกำหนดชำระหนี้วันที่ 29 ตุลาคม 2547 เมื่อครบกำหนดเวลานี้แล้วจำเลยไม่ชำระหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันถัดไปคือ วันที่ 30 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งในส่วนของดอกเบี้ยนั้นนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 5 ปี จึงไม่ขาดอายุความ…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์ 302,326.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share