แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาจะซื้อจะขายมิได้ระบุเลขโฉนดที่ดินที่ซื้อขายไว้โดยระบุเฉพาะเนื้อที่และที่ตั้งของที่ดิน เป็นกรณีข้อความในสัญญาไม่ชัดเจน โจทก์ย่อมนำสืบได้ว่าเจตนาแท้จริงของการซื้อขายนั้นคือที่ดินโฉนดเลขที่เท่าใดการนำสืบเช่นนี้หาใช่การนำสืบว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอยู่อีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ไม่แต่เป็นการนำสืบเพื่ออธิบายข้อความในสัญญาซึ่งยังไม่ชัดเจนพอ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3475 ให้แก่โจทก์ในราคา 160,000 บาท โจทก์ได้วางเงินมัดจำ20,000 บาท ไว้กับจำเลยทั้งสอง ส่วนที่เหลือตกลงจะชำระให้แก่จำเลยทั้งสองในวันจดทะเบียนโอนที่ดิน แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับไปทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนขายแก่จำเลยที่ 3 ในราคา 85,000 บาท โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นผู้อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิในที่ดินดังกล่าวได้ก่อน ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3475 ตำบลตรีณรงค์ (บ้านป่า)อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์พร้อมกับรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 140,000 บาทจากโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนและหากไม่เพิกถอนสัญญาซื้อขายดังกล่าวก็ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2คืนเงินแก่โจทก์ 20,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้บอกแก่จำเลยที่ 3 ก่อนโอนแล้วว่าได้ทำสัญญาจะขายที่ดินไว้กับโจทก์
จำเลยที่ 3 ให้การว่า สัญญามิได้ระบุว่าขายที่ดินโฉนดเลขที่เท่าใด จึงมิใช่เป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3475 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3475 ตำบลตรีณรงค์ (บ้านป่า) อำเภอไชโยจังหวัดอ่างทอง ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขายกับจำเลยที่ 3ผู้ซื้อให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์โดยให้ชำระราคาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2140,000 บาท ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยที่ 3 ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาจากพยานหลักฐานในสำนวนศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ในราคา 160,000 บาท โจทก์วางมัดจำไว้แล้ว20,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 ได้รู้อยู่ก่อนรับโอนที่ดินพิพาทแล้วว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้กับโจทก์ก่อนแล้ว
จำเลยที่ 3 ฎีกาประการสุดท้ายว่า สัญญาตามเอกสารหมาย จ.3ไม่ได้ระบุเลขโฉนดที่ดินที่ซื้อขายไว้ ที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบว่าที่ดินที่ซื้อขายตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 เป็นที่ดินพิพาท เป็นการนำสืบเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น เห็นว่า สัญญาตามเอกสารหมาย จ.3 มิได้ระบุเลขโฉนดที่ดินที่ซื้อขายไว้ โดยระบุเฉพาะเนื้อที่และที่ตั้งของที่ดินเป็นกรณีข้อความในสัญญาไม่ชัดเจนโจทก์ย่อมนำสืบได้ว่าเจตนาแท้จริงของการซื้อขายนั้นคือที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3475 ตำบลตรีณรงค์ (บ้านป่า) อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทองซึ่งการนำสืบเช่นนี้หาใช่การนำสืบว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอยู่อีกตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ไม่ แต่เป็นการนำสืบเพื่ออธิบายข้อความในสัญญาซึ่งยังไม่ชัดเจนพอ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว”
พิพากษายืน