แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมจัดการเดินรถแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรถ แล้วจำเลยที่ 1ขับรถชนโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหาย แต่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่เก็บสตางค์ค่าโดยสารในรถยนต์ของจำเลย ไม่ใช่เป็นผู้ควบคุมจัดการเดินรถแทนจำเลยที่ 2 ดังฟ้อง จึงเป็นการสืบนอกประเด็น จะรับฟังมาวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบตามฟ้องไม่ได้ ต้องยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 เสีย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมจัดการเดินรถสายชลบุรี – กรุงเทพฯ แทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรถ วันที่ 20 มีนาคม 2491 จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อได้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ถอยหลังชนรถยนต์ของโจทก์ ซึ่งจอดอยู่เสียหายโจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยทั้ง 2 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน
จำเลยที่ 1 รับว่าประมาทจริง แต่เป็นเพียงลูกจ้างเก็บสตางค์ค่าโดยสารรถ ไม่ใช่ผู้ควบคุมจัดการเดินรถแทนจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงคนเก็บสตางค์ค่าโดยสารเท่านั้น จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะค่าเสียหายที่ต้องรับผิดแก่โจทก์น้อยลงมา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์กล่าวในฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมจัดการเดินรถ ฯลฯ แทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรถ แต่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่เก็บค่าโดยสารรถยนต์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ควบคุมจัดการเดินรถแทนจำเลยที่ 2 คำฟ้องเมื่อโจทก์นำสืบไปอีกอย่างหนึ่งต่างกับที่กล่าวในฟ้องเช่นนี้ จึงเป็นการสืบนอกประเด็น จะรับฟังมาวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบตามฟ้องไม่ได้
จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2