แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีเกี่ยวกับกฎหมายทะเลต้องบังคับตามกฎหมายและกฏข้อบังคับว่าด้วยการนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคท้าย แต่ปัจจุบันนี้กฎหมายและกฎข้อบังคับของประเทศไทยว่าด้วยการรับขนของทางทะเลยังไม่มี อายุความฟ้องร้องจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 จะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 มาใช้บังคับหาได้ไม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1295/2516)
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเกี่ยวกับการขนสินค้าทางทะเลเนื่องจากถุงบรรจุสินค้าฉีกขาดสินค้าสูญหาย จำเลยให้การด้วยว่า ตามเงื่อนไขในใบตราส่งมีข้อยกเว้นให้จำเลยไม่ต้องรับผิดในกรณีสินค้าสูญหายเกิดจากการรั่วของภาชนะที่บรรจุศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ข้อยกเว้นความผิดตามใบตราส่งเป็นโมฆะ แต่เมื่อคดีโจทก์ขาดอายุความโจทก์ต้องแพ้ พิพากษายกฟ้อง เมื่อจำเลยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น และแม้จะว่ากล่าวโต้แย้งประเด็นข้อนี้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์ แต่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำแก้อุทธรณ์ เพราะเหตุจำเลยมิได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงต้องห้ามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าวัตถุดิบสำหรับผลิตยางรถยนต์ ซึ่งบริษัทกู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด สั่งซื้อจากท่าเรือเกาซุง (ไต้หวัน) ซึ่งขนส่งโดยเรือนิวลินดา หากสินค้าเกิดการเสียหายระหว่างการขนส่งโจทก์ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ ครั้นสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพฯ ปรากฏว่าถุงบรรจุสินค้าฉีกขาด สินค้าสูญหายไปคิดเป็นเงิน ๑๑,๔๔๑.๑๗ บาท โจทก์ได้จ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่บริษัทกู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด แล้ว จึงรับช่วงสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยผู้รับผิดชอบดำเนินกิจการเรือนิวลินดา จำเลยไม่ยอมชำระให้จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า สินค้าไม่ได้สูญหายในระหว่างการขนส่ง และไม่ว่าสินค้าจะสูญหายในระหว่างการขนส่งหรือไม่จำเลยไม่ต้องรับผิด เพราะบริษัทกู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับมอบสินค้าไปจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๑๗ โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า ๑ ปี นับแต่วันรับมอบ คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๒๔ แล้ว ทั้งด้านหลังตราสารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญามีข้อความว่า ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในสินค้าซึ่งสูญหายอันเกิดจากการรั่วของภาชนะที่บรรจุ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สินค้ารายพิพาทสูญหายไปในระหว่างการขนส่งของจำเลย คดีนี้ควรบังคับตามกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๒๔ คดีโจทก์ขาดอายุความ ข้อยกเว้นความรับผิดตามใบตราส่งเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๒๕ แต่เมื่อคดีขาดอายุความโจทก์ต้องแพ้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีไม่ขาดอายุความ พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นกรณีเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเลซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๐๙ วรรคท้ายบัญญัติไว้ว่า “รับขนของทางทะเล ท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น” แต่ปัจจุบันนี้กฎหมายและกฎข้อบังคับของประเทศไทยว่าด้วยการรับขนของทางทะเลยังไม่มี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ บัญญัติว่า “อันอายุความนั้นถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้มีกำหนดสิบปี” ฉะนั้น อายุความฟ้องร้องในคดีนี้จึงมีกำหนด ๑๐ ปี จะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๖๒๔ มาใช้บังคับแก่คดีนี้หาได้ไม่ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๙๕/๒๕๑๖ ระหว่างบริษัท เอ.ไอ.ซี.อี.เอนเตอร์ไพร์ส (ไทย) จำกัด โจทก์ บริษัท โทรีเซ็น (กรุงเทพฯ) จำกัด จำเลย บริษัทกู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสินค้ารายพิพาทจากโกดังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๑๗ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๑๘ เป็นเวลายังไม่เกินกว่า ๑๐ ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
ที่จำเลยฎีกาว่า ตามเงื่อนไขในใบตราส่งมีข้อความจำกัดความรับผิดไว้ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดเพราะภาชนะที่บรรจุเกิดรั่วโดยไม่คำนึงว่าโจทก์ (ที่ถูกน่าจะเป็นบริษัทกู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด จะตกลงยินยอมด้วยหรือไม่นั้น ประเด็นข้อนี้จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้จำเลยจะได้ยกขึ้นว่ากล่าวโต้แย้งไว้แล้วในคำแก้อุทธรณ์ของจำเลย แต่ศาลชั้นต้นก็สั่งไม่รับคำแก้อุทธรณ์ของจำเลย เพราะเหตุจำเลยมิได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน