คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5841/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์นำสืบแสดงสำเนาเอกสารต่อศาล จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งว่าโจทก์มิได้ส่งต้นฉบับเอกสารแต่อย่างใด การที่ศาลวินิจฉัยรับฟังตามสำเนาเอกสารดังกล่าว ถือได้ว่าศาลได้อนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบได้ในกรณีไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาได้โดยประการอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) แล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องขออนุญาตศาลก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 979,606.68 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 979,606.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า การที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังพยานเอกสารหมาย จ.9 ของโจทก์ ซึ่งเป็นสำเนาเอกสาร เป็นการรับฟังพยานเอกสารที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์นำสืบแสดงสำเนาใบส่งของ ใบจ่ายสินค้าและใบยืมของชั่วคราว เอกสารหมาย จ.9 ต่อศาล จำเลยที่ 1มิได้โต้แย้งหรือนำสืบโต้แย้งว่า โจทก์มิได้ส่งต้นฉบับเอกสารหมาย จ.9 แต่อย่างใด เมื่อศาลวินิจฉัยรับฟังตามสำเนาเอกสารดังกล่าว ถือได้ว่าศาลได้อนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบได้ในกรณีไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาได้โดยประการอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) แล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องขออนุญาตศาลก่อน ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายเชิดศักดิ์ วรุณวัชรินทร์หุ้นส่วนผู้จัดการเบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2540 จำเลยที่ 2 ได้โทรศัพท์มาหาพยานบอกว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเหมางานก่อสร้างในค่ายทหารสุรนารีจะให้จำเลยที่ 3เป็นหัวหน้างานของจำเลยที่ 1 และจะเป็นผู้สั่งสินค้าวัสดุก่อสร้างจากโจทก์เช่นเคยปฏิบัติมา หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 ได้มาสั่งสินค้าจากโจทก์หลายครั้งโดยช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2540 จำเลยที่ 3 ได้สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์อีกหลายครั้งรวมเป็นเงิน979,608.68 บาท ตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.9 โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.10 แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นมีจำเลยที่ 2เบิกความว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างช่วงจากจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงว่าในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และค่าแรงคนงานนั้นจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดหาด้วยตนเองไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญารับเหมาค่าแรงและค่าวัสดุในการก่อสร้างเอกสารหมาย ล.8 พยานไม่เคยพาจำเลยที่ 3 ไปแนะนำให้โจทก์รู้จักและไม่เคยโทรศัพท์แจ้งให้โจทก์ทราบว่า จะให้จำเลยที่ 3 สั่งซื้อสินค้าในนามของจำเลยที่ 1 หรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 เห็นว่าพยานโจทก์เบิกความสมเหตุผล ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 เคยติดต่อค้าขายกันมาเป็นเวลานานย่อมมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น ไม่ปรากฏว่าเคยรู้จักหรือร่วมทำธุรกิจกับโจทก์มาก่อน การที่โจทก์จะให้จำเลยที่ 3 ซื้อเชื่อสินค้าของตนไปก่อนเช่นนี้ย่อมเป็นการเสี่ยงต่อการทำธุรกิจของตนยิ่งนัก บุคคลที่กระทำธุรกิจเช่นนี้ย่อมไม่กระทำกัน ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประมูลการก่อสร้างคลังเก็บสิ่งอุปกรณ์ประเภทที่ 5 ของกองบัญชาการช่วยรบที่ 2 มณฑลทหารบกที่ 21และกองพันทหารม้าที่ 8 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา จากกองทัพบกได้ตามสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.14 อีกทั้งร้อยโทดำรง กันพุดซา ผู้ดูแลผลประโยชน์เกี่ยวกับการก่อสร้างให้แก่กองทัพและนายจรวย แซ่ลิ้ม พยานจำเลยได้เบิกความว่า ที่บริเวณก่อสร้างมีป้ายติดไว้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อสร้างย่อมเป็นที่ทราบแก่บุคคลทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมาว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประมูลการก่อสร้างดังกล่าว ถึงแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับเหมาช่วงจากจำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญารับเหมาค่าแรงและค่าวัสดุในการก่อสร้างเอกสารหมาย ล.8 ก็ตามก็เป็นเรื่องภายในระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 3 อันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่อาจทราบได้ อีกประการหนึ่งหากจำเลยที่ 3 ได้สั่งสินค้าจากโจทก์ในนามของตนเองจริงแล้ว โจทก์ก็น่าจะระบุในใบส่งของใบจ่ายสินค้าและใบยืมของชั่วคราวเอกสารหมาย จ.9 ในนามของจำเลยที่ 3 แต่กลับปรากฏว่าโจทก์ระบุชื่อจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า เหตุที่ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เพื่อความสะดวกในการขนวัสดุอุปกรณ์นั้น เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 1 อ้างเอกสารหมาย จ.7 ว่าข้อความในเอกสารดังกล่าวเป็นการเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 3โดยตรง ไม่ได้เรียกจากจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมทราบแล้วว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับเหมาช่วงจากจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า เอกสารดังกล่าวไม่อาจชี้ชัดได้ว่าโจทก์ทราบแล้วว่าจำเลยที่ 3มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 อีกทั้งการไปขอรับเงินจากจำเลยที่ 1 นั้นก็เป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ได้ส่งวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้นำจำเลยที่ 3 มาเบิกความสนับสนุนด้วย ทำให้คำกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนัก พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 สั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างจากโจทก์แทนและในนามของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าสินค้าตามฟ้องแก่โจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share