คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8411/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีและใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ที่มีผู้ทำปลอมขึ้นเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่าผู้ใดทำขึ้นเป็นความผิดซึ่งต้องริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นของผู้กระทำความผิด และมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ตาม ป.อ. มาตรา 32

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 264, 265, 268, ริบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีและใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 83 จำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาซึ่งโจทก์มิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นรับฟังเป็นยุติว่า นายอัฐพล เป็นผู้ครอบครองรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อฮอนด้า เลขตัวรถ MRHFD 16407 P104430 หมายเลขเครื่องยนต์ R18A17 P13461 หมายเลขทะเบียน ชพ 4580 กรุงเทพมหานคร ของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายอัฐพลและรายการจดทะเบียน และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายกฤศวัชร์ ผู้รับมอบอำนาจจากธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตรวจยึดรถยนต์เก๋งยี่ห้อฮอนด้าสีดำ ซึ่งติดหมายเลขทะเบียน ญฒ 9193 กรุงเทพมหานคร และจับกุมจำเลย พนักงานสอบสวนได้บันทึกคำให้การจำเลยไว้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า สำหรับปัญหาว่าแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีและใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เก๋งที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากรถยนต์เก๋งที่เจ้าพนักงานตำรวจเห็นจำเลยเป็นคนขับเป็นเอกสารราชการปลอมหรือไม่นั้น จำเลยมิได้นำสืบโต้เถียงเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามคำเบิกความของนายสนั่น เจ้าพนักงานขนส่งชำนาญการ กรมการขนส่งทางบก พยานโจทก์ว่าเป็นเอกสารราชการปลอมจริง คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยเพียงว่าจำเลยขับรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวโดยรู้หรือไม่ว่าเอกสารประจำรถทั้งหมด คือ แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีและใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ เป็นเอกสารราชการปลอม ตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกจักรี ไม่ปรากฏว่าก่อนหน้าวันเกิดเหตุพยานเห็นจำเลยใช้หรือขับรถยนต์เก๋งยี่ห้อฮอนด้าคันที่มีเอกสารประจำรถปลอมมาก่อนเลย ส่วนดาบตำรวจพสุวัฒน์ พยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมจำเลยอีกปากหนึ่ง เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า สายลับซึ่งพักอาศัยอยู่ภายในบริเวณที่เกิดเหตุ แจ้งให้พยานทราบว่ารถยนต์เก๋งยี่ห้อฮอนด้าถูกนำมาจอดไว้ที่หน้าบ้านเลขที่ 90 ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2554 สายลับแจ้งด้วยว่ารถยนต์เก๋งคันดังกล่าวมีคนขับออกจากจุดดังกล่าวไปประมาณ 5 ถึง 6 วัน แล้วจะมีคนขับมาจอดไว้ที่เดิมและขับออกไปในลักษณะเช่นนี้จนกระทั่งถึงวันเกิดเหตุโดยจะมีทั้งชายและหญิงสลับผลัดกันขับโดยบุคคลทั้งสองจะเป็นบุคคลที่เดินเข้าและออกจากบ้านเลขที่ 90 นั้น พยานหลักฐานโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมามีเหตุผลเพียงพอว่า จำเลยเคยนั่งโดยสารและขับรถยนต์เก๋งยี่ห้อฮอนด้าที่มีเอกสารประจำรถปลอมเท่านั้น แต่มิใช่เป็นพยานหลักฐานที่จะบ่งชี้ว่าจำเลยใช้รถยนต์โดยรู้อยู่แล้วว่าเอกสารประจำรถเป็นเอกสารปลอม ยิ่งไปกว่านั้น นายสนั่น เจ้าพนักงานขนส่งชำนาญการ กรมการขนส่งทางบก พยานโจทก์เบิกความว่า พยานตรวจใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์แล้ว ไม่ใช่ใบคู่มือที่กรมการขนส่งทางบกออกให้แก่ผู้ใช้รถเพื่อประจำรถ เนื่องจากพยานพิจารณาจากสีพื้นของใบคู่มือ นอกจากนี้ได้นำเลขที่ใบคู่มือตามที่ปรากฏที่หน้าปกด้านล่างข้างซ้ายว่าหมายเลขที่ 4729040 ของเอกสาร เข้าตรวจสอบข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก ตามฐานข้อมูลแล้วพบว่าหมายเลขดังกล่าวใช้กับหมายเลขทะเบียนของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 4 ษ – 7143 กรุงเทพมหานคร ไม่ได้ใช้กับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ญฒ 9193 กรุงเทพทหานคร ตามที่ปรากฏในใบคู่มือดังกล่าว สำหรับแผ่นป้ายเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ พยานตรวจดูชนิดของกระดาษและพื้นของกระดาษ ก็ไม่ใช่ประเภทที่กรมการขนส่งทางบกออกให้ อีกทั้งแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของกรมการขนส่งทางบกจะมีการระบุตัวอักษรว่า “ขส” เป็นเนื้อเดียวกับเนื้อของกระดาษแผ่นป้ายเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี แต่ตามเอกสารการระบุอักษรนั้นเป็นการนำกระดาษอีกส่วนหนึ่งมาปิดทับไว้ที่มุมด้านขวา สำหรับเลขคุมแผ่นป้ายเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีที่ตัวริมขอบกระดาษด้านซ้ายเลขที่ 10010233961 ซึ่งมีไว้เพื่อตรวจสอบการเสียภาษีประจำปีของรถยนต์นั้น เมื่อนำมาตรวจสอบกับฐานข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมการขนส่งทางบกแล้วพบว่า เลขคุมเป็นเลขคุมของแผ่นป้ายเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีที่ออกให้แก่รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 1 ม – 9353 กรุงเทพมหานคร ตามฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่วนแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ ซึ่งระบุเลขทะเบียน ญฒ 9193 กรุงเทพมหานคร นั้น พยานตรวจสอบแล้วก็ไม่ใช่แผ่นป้ายทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกออกให้แก่ผู้ใช้รถเพื่อประจำรถตามหมายเลขทะเบียน เนื่องจากแผ่นป้ายทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกออกให้จะมีการระบุตัวอักษร “ขส” ประทับเป็นรอยนูนเหนือแผ่นโลหะต่อท้ายข้อความกรุงเทพมหานคร อีกทั้งพื้นที่สีขาวบนแผ่นป้ายทะเบียนของจริง หากมองเฉียงในลักษณะประมาณ 45 ถึง 60 องศา จะเห็นลายน้ำตราราชรถ ยิ่งไปกว่านั้น แผ่นป้ายทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก จะมีการพิมพ์เลขคุมตามจำนวนที่จัดพิมพ์โดยมีการประทับไว้ที่ด้านใต้บริเวณมุมล่างด้านซ้ายด้วย แต่แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่พนักงานสอบสวนส่งมาให้พยานตรวจสอบหามีตัวอักษร “ขส” ภาพลายน้ำตราราชรถและเลขคุมตามลักษณะเช่นว่านั้นไม่ นายสนั่นเป็นเจ้าพนักงานขนส่งชำนาญการของกรมการขนส่งทางบก พยานยังเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยยอมรับว่า พยานรับราชการที่กรมการขนส่งทางบกมาตั้งแต่ปี 2547 มีประสบการณ์ในการตรวจป้ายทะเบียนรถ และใบคู่มือแสดงการเสียภาษีและใบคู่มือจดทะเบียนรถมารวมหลายล้านคัน การตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารประจำรถ นอกจากต้องตรวจตามลักษณะสภาพของวัสดุที่ใช้พิมพ์ข้อความซึ่งถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการปลอมแปลงแล้ว ยังจำเป็นต้องตรวจสอบหมายเลขทะเบียนคุมจากฐานข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกด้วย จึงจะทราบแน่ชัดว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริงหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นนายสนั่นยังเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยยอมรับด้วยว่า แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หากเป็นประชาชนทั่วไปมีไว้ในครอบครองแล้วจะไม่ทราบว่าแผ่นป้ายทะเบียน เป็นแผ่นป้ายปลอม เมื่อทางพิจารณาโจทก์ก็มิได้นำสืบพยานหลักฐานใด ๆ ที่บ่งบอกว่าจำเลยได้ร่วมกับนายสุชาติหรือผู้ใดกระทำความผิดใดเกี่ยวกับรถยนต์เก๋งยี่ห้อฮอนด้าที่จำเลยขับ พยานหลักฐานโจทก์จึงยังคงมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยขับรถยนต์เก๋งยี่ห้อฮอนด้าคันเกิดเหตุ โดยรู้อยู่แล้วว่าเอกสารประจำรถยนต์คันดังกล่าว คือ แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี และใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ เป็นเอกสารราชการปลอม จึงเป็นการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จำเลยจึงไม่มีเจตนากระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้องของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี และใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่าผู้ใดทำขึ้นเป็นความผิด ซึ่งต้องริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นของผู้กระทำความผิด และมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยมิได้สั่งริบของกลางทั้งหมดดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี และใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ของกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share