คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำแปลเป็นภาษาไทยของหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้อง ไม่ปรากฏว่ามีการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแพ่งด้วยซึ่งไม่ตรงกับข้อความในภาษาอังกฤษในต้นฉบับ ต้องถือข้อความภาษาอังกฤษในต้นฉบับที่แท้จริงที่ดำเนินคดีแพ่งด้วยเป็นสำคัญ
สัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้ามีข้อตกลงในเรื่องการใช้สิทธิทางศาลว่า ศาลในประเทศของผู้จัดหาสินค้า (หมายถึงโจทก์) มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดจากข้อพิพาททางกฎหมายใด ๆ อย่างไรก็ตามถ้าผู้จัดหาสินค้าอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลในประเทศจของตัวแทน (หมายถึงจำเลย) ซึ่งมีความหมายชัดเจนอยู่แล้วว่า บรรดาข้อพิพาทอันเกี่ยวกับสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยให้เสนอต่อศาลในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนีแต่โจทก์ก็มีสิทธที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยในศาลของประเทศไทยได้ข้อตกลงดังกล่าวมิได้ขัดต่อกฎหมายใดหรือขัดต่อตวามสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับแก่โจทก์และจำเลยได้
จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์มาเพื่อประกอลบเข้ากับมอเตอร์และอุปกรณ์อื่นผลิตเป็นปั๊มเซตแล้วนำออกจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอันเป็นการประกอบธุรกิจของจำเลย การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ค่าสินค้าดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินค้าจากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ที่สั่งซื้อมาเพื่อนำมาใช้ในกิจการของลูกหนี้นั่นเอง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิตบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดจดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนีโจทก์มอบอำนาจให้บริษัท สเตอร์ลิง ฟลูอิด ซิสเต็มส์ (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้ดำเนินคดีแทน จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2527 โจทก์ตกลงแต่งตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเครื่องสูบน้ำและชิ้นส่วนอุปกรณ์ของโจทก์ในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดซีฮี แอนด์ โค. เคจี แต่ผู้เดียวในประเทศไทย ในยการสั่งซื้อสินค้าจำเลยจะส่งใบสั่งซื้อสินค้าให้แก่โจทก์ทางโทรสาร เมื่อโจทก์ส่งสินค้าให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจะต้องชำระค่าสินค้าภายในสี่สัปดาห์นับแต่วันที่ระบุในใบแจ้งหนี้ สัญญานี้มีกำหนดระยะเวลาหนึ่งปี แต่คู่สัญญาอาจบอกเลิกสัญญาก่อนโดยการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือน ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญา จึงได้บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2540 ในระหว่างเดือนเมษายน 2537 ถึงเดือนตุลาคม 2540 จำเลยได้สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์หลายรายการซึ่งจำเลยจะต้องชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ภายในสี่สัปดาห์นับแต่วันที่ที่ระบุในใบแจ้งหนี้แต่ละใบ แต่จะเลยไม่ชำระให้ครบถ้วน คงค้างชำระรวมเป็นเงินจำนวน 425,398.48 มาร็กเยอรมัน ต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าจำเลยจะส่งสินค้าที่ค้างสต๊อกคืนแก่โจทก์และจำนวนเงินที่ค้างชำระเหลือ 320,014.36 มาร์กเยอรมัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งเป็นวันยื่นฟ้องในอัตรา 1 มาร์กเยอรมัน เท่ากับ 19.46 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 6,227,479 บาท และโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นจำนวนดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนดตามใบแจ้งหนี้ใบสุดท้ายจนถึงวันฟ้องเป็นเงินค่าดอกเบี้ย 1,399,885 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 7,627,364 บท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 7,627,364 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 6,227,479 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเนื่องจาดหนังสือมอบอำนาจในฟ้องคดีระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจหฟ้องคดีอาญาและคดีล้มละลายเท่านั้น และผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่มีวัตถุประสงค์ในการฟ้องคดี ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีสิทธิคิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลนี้ เนื่องจากสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยกำหนดให้ฟ้องคดีต่อศาลของประเทศสหพันธสาธารณรัฐเยอรมันนี และใช้กฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนีบังคับยแก่สัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 392,017.57 มาร์กเยอรมัน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 320,014.36 มาร์เยอรมันนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยจะชำระเป็นเงินบาทให้คิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาใช้เงิน แต่เมื่อคิดเป็นเงินบาทแล้วต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 7,627,364 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 15,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โจทก์มีหนังสือมอบอำนาจให้บริษัทสเตอร์ลิง ฟลูอิด ซิสเต็มส์ (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้ดำเนินคดีแทน ตามหนังสือมอบอำนาจและคำแปลเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 จำเลยประกอบกิจการขายสินค้าประเภทปั๊มเซต เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2527 โจทก์แต่งตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเครื่องสูบน้ำและชิ้นส่วนอุปกรณ์ในนามห้างหุ้นส่วนจำกัด ซีฮี แอนด์ โค. เคจี แต่ผู้เดียวในประเทศไทย ในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์จำเลยจะส่งใบสั่งซื้อสินค้าไปยังโจทก์ เมื่อโจทก์ส่งสินค้าให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจะต้องชำระค่าสินค้าภายในสี่สัปดาห์ นับแต่วันที่ระบุในใบแจ้งหนี้ ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยเป็นตัวแทนอีกต่อไปจึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2540 ปรากฏว่าในระหว่างเดือนเมษายน 2537 ถึงเดือนตุลาคม 2540 ปรากฏว่าในระหว่างเดือนเมษายน 2537 ถึงเดือนตุลาคม 2540 จำเลยได้สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์หลายรายการ แต่จำเลยมิได้ชำระค่าสินค้าตามสัญญารวมเป้นเงินจำนวน 425,398.48 มาร์กเยอรมัน โดยวันที่ 1 ธันวาคม 2540 อันเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้รายการสุดท้าย ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2541 โจทก์และจำเลยตกลงกันว่ายอดหนี้ที่ค้างคงชำระคงเหลือ 320,014.36 มาร์กเยอรมัน จำเลยสั่งซื้อสินค้าประเภทเครื่องปั๊มจากโจทก์แล้วนำมาประกอบกับมอร์เตอร์และอุปกรณ์ที่จำเลยสั่งซื้อจากผู้อื่นมาผลิตเป็นปั๊มเซตจำหน่ายมห้แก่ลูกค้า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 มีข้อความภาษาอังกฤษว่า “Enter an action in court for civil on criminal cases, or bankruptcy…” ไม่ปรากฏข้อความชัดว่าให้มีอำนาจฟ้องคดีแพ่งได้ เนื่องจากข้อความว่า “civil on” ไม่มีความหมายในภาษาอังกฤษต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น เห็นว่า แม้ตามคำแปลเป็นภาษาไทยของหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้อง เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4 ในข้อ 2 ไม่ปรากฏว่ามีการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแพ่งด้วยก็ตาม แต่ต้องถือข้อความในต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจที่แท้จริงเป้นสำคัญ เมื่อพิเคราะห์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ทั้งฉบับแล้ว ข้อความในตอนต้นกล่าวว่า ขอมอบอำนาจให้บริษัทสเตอริง ฟลูอิด ซิสเต็ม (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อเป็นประโยชน์และดำเนินการฟ้องร้องจำเลยในคดีความเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายในชั้นศาลย่อมเห็นได้ชัดว่า โจทก์ประสงค์จะมอบอำนาจให้ดำเนินคดีเกี่ยวกับการผิดสัญญาซื้อขายแก่จำเลย ย่อมหมายถึงคดีแพ่งเป็นหลักใหญ่ข้อความภาอังกฤษว่า “civil on criminal, or bankruptcy…” น่าจะหมายความถึงคดีแพ่ง หรือคดีอาญา หรือคดีล้มละลายได้อย่างไม่มีข้อสงสัยแต่ประการใด คำว่า “on” ที่ปรากฏอยู่ดังกล่าวน่าจะเกิดจากความผิดพลาดในการพิมพ์ซึ่งที่ถูกต้องเป็นคำว่า “or” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “หรือ” มากกว่าข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้โดยชอบ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฟังว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อต่ไชอไปว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลในประเทศไทยหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงว่า หากมีกรณีพิพาทกันให้ฟ้องที่ศาลของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ข้อตกลงนี้ไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับแก่คู่สัญญาได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลในประเทศไทยนั้น เห็นว่า ตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้าได้มีข้อตกลงในเรื่องการใช้สิทธิทางศาลในข้อกำหนด 11.2 มีความว่า ศาลในประเทศของผู้จัดหาสินค้า (หมายถึงโจทก์) มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดจากข้อพิพาททางกฎหมายใด ๆ อย่างใดก็ตามถ้าผู้จัดหาสินค้าอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลในประเทศของตัวแทน (หมายถึงจำเลย) ซึ่งมีความหมายชัดเจนอยู่แล้วว่า บรรดาข้อพิพาทอันเกี่ยวกับสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยให้เสนอต่อศาลในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี แต่โจทก์ก็มีสิทธิที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยในศาลของประเทศไทยได้ ข้อตกลงดังกล่าวนี้มิได้ขัดต่อกฎหมายใดหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับแก่โจทก์และจำเลยได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในเหตุผล อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อสุดท้ายว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญาตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้าตามเอกสารหมาย จ.7 มิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 111 จึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามมตรา 118 จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามข้อต่อสู้ของจำเลยว่าเป็นเรื่องการซื้อขายระหว่างประเทศระหว่างผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมเรียกเอาของที่ได้ส่งมอบซึ่งจะมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่สินค้าแต่ละรายการถึงกำหนดชำระ สิทธิเรียกร้องตามฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยส่งซื้อสินค้าประเภทเครื่องปั๊มจากโจทก์ แล้วนำมาประกอบกับมอเตอร์และอุปกรณ์ที่จำเลยสั่งซื้อจากผู้อื่นผลิตเป้นปั๊มเซตจำหน่ายแก่ลูกค้านั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ฟังได้จากการนำสืบของโจทก์และจำหน่ายที่ตรงกันและไม่โต้แย้งกัน ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่รับฟังมาจากข้อกำหนดของสัญญาตัวแทนจำหน่ายสินค้าเอกสารหม่าย จ.7 ดังนั้น ปัญหาว่าสัญญาตัวแทนจำหน่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.7 จะต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐานดังที่จำเลยอ้างหรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ข้อเท็จจริงแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยสั่งซื้อสินค้าตามฟ้องจากโจทก์เพื่อประกอบเข้ากับมอเตอร์และอุปกรณ์อื่นผลิตเป็นปั๊มเซตแล้วนำออกจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอันเป็นการประกอบธุรกิจของจำเลย การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ค้าสินค้าดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมใช้สิทธิเรียกร้องเอ่าคาสินค้าจากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ที่สั่งซื้อมาเพื่อนำมาใช้ในกิจการของลูกหนี้เท่านั่นเอง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1) โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากหนี้สินของจำเลยในคดีเป็นหนี้เงินต่างประเทศสกุลมาร์กเยอรมันอันเป้นเงินตราของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งอยู่ในทวีปยุโรปที่มีการจัดตั้งสหภาพยุโรปขึ้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงสกุลเงินที่ใช้ในประเทศดังกล่าว จึงเห้นสมควรแก้ไขคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยกำหนดวิธีการคิดคำนวณมูลค่าเงินไว้เพื่อสะดวกในการบังคับคดีด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 392,017.57 มาร์กเยอรมัน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 320,014.36 มาร์กเยอรมัน นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยหากจำเลยชำระหนี้เงินมาร์กเยอรมันดังกล่าวด้วยเงินบาท ให้ชำระเงินบาทั้คำนวณโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินมาร์กเยอรมัน ณ สถานที่และเวลาใช้เงินจริง แต่ทั้งนี้ต้นเงินและเดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 7,627,364 บาท ตามคำฟ้องแต่หากในเวลาใช้เงินจริงเงินมาร์กเยอรมันเป็นเงินตราชนิดที่ยกเลิกไม่ใช้แล้ว ให้จำเลยชำระหนี้ด้วยเงินสกุลที่ใช้แทนเงินมาร์กเยอรมันที่มีมูลค่าเท่ากับจำนวนหนี้ต้นเงินมาร์กเยอรมันพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวข้างต้น โดยคิดดิกเบี้ยถึงวันก่อนวันคำนวณเปลี่ยนจำนวนหนี้เงินมาร์กเยอรมันเป็นเงินสกุลที่ใช้แทน ทั้งนี้ โดยการคำนวณเปลี่ยนจำนวนหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยที่เป็นเงินมาร์กเยอรมันเป็นเงินสกุลที่ใช้แทนนั้นด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ วันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเงินมาร์กเยอรมันเป็นเงินสกุลที่ใช้แทนที่สามารถแลกเปลี่ยนได้มรขณะหรือก่อนเวลาใช้เงินจริง และคิดดอกเบี้ยของต้นเงินที่เปลี่ยนเป็นเงินสกุลที่ใช้แทนเงินมาร์กเยอรมันนั้นนับแต่วันเปลี่ยนเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ และในกรณีนี้หากจำเลยจะชำระด้วยเงินไทยก็ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลที่ใช้แทนนั้นเป้นเงินบาท ณ สถานที่และเวลาใช้เงินจริง แต่จำนวนเงินบาทดังกล่าวทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องแล้วต้องไม่เกินจำนวน 7,627,364 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 25,000 บาท

Share