คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บริการตามสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมซึ่งถือว่าเป็นหนี้เหนือบุคคลโจทก์จึงมีสิทธิที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
จำเลยนำเครื่องวิทยุคมนาคมมาขอใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าร์จากสำนักงานสาขาหรือตัวแทนของโจทก์ สำนักงานสาขาหรือตัวแทนของโจทก์จะเสนอคำขอ/สัญญาการใชบริการวิทยุคมนาคมดังกล่าวมาให้สำนักงานใหญ่ของโจทก์พิจารณาอนุมัติเมื่ออนุมัติแล้วสำนักงานใหญ่จะเป็นผู้เปิดสัญญาณคลื่นวิทยุคมนาคมที่อยู่ที่สำนักงานใหญ่ จำเลยจึงจะใช้บริการตามคำขอที่ยื่นไว้ได้ ย่อมถือได้ว่าคำขอใช้บริการวิทยุคมนาคมที่จำเลยยื่นต่อสำนักงานสาขาหรือตัวแทนของโจทก์ดังกล่าว เป็นการทำเสนอเพื่อขอใช้บริการวิทยุคมนาคมต่อโจทก์ ส่วนการพิจารณาอนุมัติของสำนักงานใหญ่ถือได้ว่าเป้นการกระทำอันใดอันหนึ่งซึ่งมีผลเป็นการแสดงเจตนาสนองรับคำเสนอของจำเลย แม้จะเป็นการแสดงเจตนาที่กระทำต่อจำเลยซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า แต่ก็ถือได้ว่าตามปกติประเพณีการตกลงทำสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กระทำขึ้นในลักษณะเช่นนี้ ได้เกิดเป็นสัญญาขึ้นเมื่อสำนักงานใหญ่ได้สนองรับคำเสนอโดยการเปิดสัญญาณวิทยุคมนาคมอันมีผลให้จำเลยสามารถใช้บริการได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำบอกกล่าวสนองไปถึงจำเลยผู้เสนอตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 วรรคสองอีก เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยได้เกิดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นและโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บริการตามสัญญาการใช้บริการวิทนุคมนาคมดังกล่าว จึงถือได้ว่าศาลชั้นต้นเป็นศาลหนึ่งที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศและยินยอมให้บุคคลทั่วไปจำหน่ายหรือให้เช่าหรือจัดหาเครื่องลูกข่ายวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์นำมาใช้กับระบบที่โจทก์ให้บริการ โดยได้รับอนุญาตจากการสื่อสารแห่งประเทศ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2545 จำเลยได้ยื่นคำขอใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์และทำสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์กับโจทก์ที่สำนักงานสาขาและต่อมามีการเสนอคำขอดังกล่าวไปให้สำนักงานใหญ่ของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตศาลชั้นต้นพิจารณาอนุมัติ โจทก์ได้กำหนดสัญญาณเรียกขานให้จำเลยหมายเลข 09-652-1856 โดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงในสัญญาว่าจำเลยจะนำค่าใช้บริการตามจำนวนที่โจทก์เรียกเก็บตามใบแจ้งหนี้แต่ละครั้งไปชำระให้แก่โจทก์ในระยะเวลาที่ระบุในใบแจ้งหนี้ ในกรณีที่จำเลยไม่ชำระเงินใดๆ ให้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขในสัญญา โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับค่าใช้บริการใด ๆ ที่ค้างชำระ ระหว่างเดือนเมษายน 2544 ถึงเดือนมิถุนายน 2545 จำเลยได้ใช้บริการวิทยุคมนาคมคิดเป็นเงิน 6,903.53 บาท และผิดสัญญาไม่ชำระค่าใช้บริการให้แก่โจทก์ภายในเวลากำหนด จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าใช้บริการที่ค้างชำระตามสัญญาเป็นเงิน 345.81 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,249.34 บาท โจทก์บอกเลิกสัญญาและทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 7,249.34 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า มูลคดีนีเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นหรือไม่พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยบังคับหนี้อันเกิดจากการใช้บริการตามสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมซึ่งถือว่าเป็นหนี้เหนือบุคคล โจทก์จึงไม่มีสิทธที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) ตามคำฟ้อง พยานเอกสารที่โจทก์อ้างส่งศาลแทนการสืบพยาน และคำแถลงของโจทก์ได้ความว่า เมื่อจำเลยนำเครื่องวิทยุคมนาคมขอใช้บริการและทำคำขอ/สัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคม ระบบเซลล์ลูลาร์จากสำนักงานสาขาหรือตัวแทนของโจทก์แล้ว สำนักงานสาขาหรือตัวแทนของโจทก์จะเสนอคำขอ/สัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมดังกล่าวมาให้สำนักงานใหญ่ของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นพิจารณาอนุมติ เมื่อสำนักงานใหญ่ของโจทก์พิจารณาอนุมัติสัญญาแล้วจะเปิดสัญญาณคลื่นวิทยุคมนาคมให้จำเลยใช้บริการ เห็นว่า การที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติคำขอ/สัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมที่จำเลยยื่นต่อสำนักงานสาขาหรือตัวแทนของโจทก์ และเมื่ออรนุมัติแล้วสำนักงานใหญ่ของโจทก์จะเป็นผู้เปิดสัญญาคลื่นวิทยุคมนาคมที่อยู่ที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ จำเลยจึงสามารถใช้บริการวิทยุคมนาคมตามคำขอที่ยื่นไว้ได้เช่นนี้ กรณีย่อมถือได้ว่าคำขอใช้บริการวิทยุคมนาคมที่จำเลยกรอกข้อความแล้วยื่นต่อสำนักงานสาขาหรือตัวแทนของโจทก์ดังกล่าว เป็นการทำคำเสนอเพื่อขอใช้บริการวิทยุคมนาคมต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์ที่ได้รับอนุญาติจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ส่วนการพิจารณาอนุมัติคำขอเปิดสัญญาณคลื่นวิทยุคมนาคมของสำนักงานใหญ่ของโจทก์นั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันใดอันหนึ่งซึ่งมีผลเป็นการแสดงเจตนาสนองรับคำเสนอของจำเลยตามคำขอที่ได้ยื่นขอใช้บริการ แม้จะเป็นการแสดงเจตนาที่กระทำต่อจำเลยซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า แต่ก็ถือได้ว่าตามปกติประเพณีการตกลงทำสัญญาการใช้วิทยุคมนาคมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กระทำขึ้นในลักษณะเช่นนี้ ได้เกิดเป็นสัญญาณจขึ้นเมื่อสำนักงานใหญ่ของโจทก์ได้สนองรับคำเสนอโดยการเปิดสัญญาณวิทยุคมนาคมอันมีผลให้จำเลยสามารถใช้บริการวิทยุคมนาคมจากโจทก์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำบอกกล่าวสนองไปถึงจำเลยผู้เสนอตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 361 วรรสองอีก เมื่อสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมระหว่างโจทก์กับจำเลยได้เกิดขึ้นที่สำนักงานของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นและโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บริการตามสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมดังกล่าว ถึงถือได้ว่าศาลชั้นต้นศาลหนึ่งที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตามประมวลกฎหมายกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ต้องค้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share