แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
มูลหนี้ตามฟ้องเป็นเรื่องเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท ไม่ใช่การจัดการงานแทนและทดรองจ่ายเงินแทน เมื่อไม่มีบมบัญญัติกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
สัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ระบุให้ธนาคารโจทก์คิดดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดได้เพียงตามอัตราที่ระบุในสัญญาข้อ 4 และในสัญญาข้อ 4 ระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระภายในกำหนดเวลาตามสัญญาอันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัด แม้สัญญาข้อ 4 จะระบุให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของโจทก์ ย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าที่ไม่ผิดนัดเท่านั้น ฉะนั้น กรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดสัญญามีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้เพียงในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศของโจทก์ มิใช่อัตราสูงสุกในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญาเพราะตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยในอัตราสำหรับลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้เฉพาะกรณีที่ลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้ว
สัญญาทรัสต์รีซีทที่ระบุให้กรรมสิทธิ์ในสินค้าตกอยู่แก่ธนาคารโจทก์ ก็เพื่อให้โจทก์มีสิทธิอยู่ในฐานเจ้าหนี้มีประกันเหนือสินค้านั้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 หาได้เป็นการตกลงโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์เพื่อทดแทนการชำระหนี้ไม่ จำเลยที่ จึงยังต้องผูกพันชำระหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท
บริษัท ส. ผู้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิโจทก์โดยมีเอกสารแนบท้ายคำร้องแสดงฐานะของผู้ร้อง ผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้องหนังสือโอนกรรมสิทธิ์เรียกร้องระหว่างโจทก์กับผู้ร้อง แม้เอกสารแนบท้ายจะเป็นเพียงภาพถ่ายก็เป็นเพียงภาพถ่ายจากต้นฉบับ และจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารเหล่านี้ จำเลยทั้งสองเพียงแต่โต้แย้งว่า ไม่เคยได้รับแจ้งหรือให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับผู้ร้องเท่านั้น ทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ก็เป็นไปตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตรวจสอบเอกสารท้ายคำร้อง คำแถลงคัดค้านของจำเลยทั้งสองและบทบัญญัติในพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 แล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิโจทก์โดยมิได้ไต่สวนพยานหลักฐานอื่นอีก จึงเป็นการชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ขอให้ธนาคารโจทก์ สาขาราชวงศ์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ โดยจำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะปฏิบัติตามระเบียบและประเพณีของธนาคารพาณิชย์ทุกประการ โจทก์จึงเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่จำเลยที่ 1 รวม 3 ฉบับ
ฉบับที่ 1 เลตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ เอ 939610901 ฉบับลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2539 เพื่อสั่งซื้อสินค้าประเภทม้วนเหล็กอัลลอย จากประเทศอิตาลีจำนวนเงิน 71,140 ดอลลาร์สหรัฐ
ฉบับที่ 2 เลตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ เอ 939610903 ฉบับลงวันที่ 12 ธันวาคม 2540 เพื่อสั่งซื้อสินค้าประเภทม้วนเหล็กจากประเทศญี่ปุ่น จำนวนเงิน 6,360,000 เยน
ฉบับที่ 3 เลตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ เอ 939610904 ฉบับลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2539 เพื่อสั่งซื้อสินค้าประเภทม้วนวงแหวนทังสเตน คาร์ไบด์ ไม่มีร่อง จากประเทศเยอรมนี จำนวนเงิน 135,690 มาร์กเยอรมัน
ครั้นเมื่อผู้ขายในประเทศไทยได้ส่งสินค้ามาให้ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 แล้ว ตัวแทนของธนาคารโจทก์ในต่างประเทศได้จ่ายเงินค้าสินค้าตามตั๋วแลกเงินหรือเอกสารกำกับสินค้าที่เรียกเก็บเงินให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศแล้ว โดยตัวแทนของธนาคารโจทก์ในต่างประเทศได้หักบัญชีของธนาคารโจทก์และส่งตั๋วแลกเงินและเอกสารกำกับสินค้ามายังธนาคารโจทก์ เพื่อให้ธนาคารโจทก์เรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าเมื่อสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อไว้ส่งมายังประเทศไทยแล้ว ธนาคารโจทก์ได้เรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินชำระค่าสินค้าดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงขอทำสัญญารับมอบสินค้าเชื่อ (ทรัสต์รีซีท) ให้ไว้กับธนาคารโจทก์จำนวน 3 ฉบับ แล้วขอรับเอกสารแสดงสิทธิในสินค้าเพื่อนำไปออกสินค้าที่ได้สั่งซื้อไว้ดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะชำระเงินกับธนาคารโจทก์เป็นเงินไทยโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันครบกำหนดชำระเงินตามทรัสต์รีซีทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายใด ๆ อันเกี่ยวกับหนี้ทรัสต์รีซีทมาชำระให้แก่ธนาคารโจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญารับมอบสินค้าเชื่อ (ทรัสต์รีซีท) เมื่อสัญญาดังกล่าวถึงกำหนดจำเลยที่ 1 ได้ผิดนัดผิดสัญญาไม่นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ธนาคารโจทก์ ดังนั้น ธนาคารโจทก์จึงคิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าอากรแสตมป์เอากับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาดังนี้
ฉบับที่ 1 สัญญารับมอบสินค้าเชื่อ (ทรัสต์รีซีท) ฉบับลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 เลตเตอร์ออฟเครดิตหมายเลข เอ 939610901 ตั๋วแลกเงินเลขที่ เอ 939720178 ตั๋วลงวันที่ 18 เมษายน 2540 จำนวนเงิน 71,140 ดอลลาร์สหรัฐ
จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระต้นเงินจำนวน 71,140 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยจำนวน 2,639,294 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 37.10 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 คิดเป็นดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 4,191.33 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยจำนวน 155,498.34 บาท ต่อจากนั้นจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระต้นเงินจำนวน 2,639,294 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยนับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น คำนวณยอดหนี้เพียงวันที่ฟ้องวันที่ 3 สิงหาคม 2543 คิดเป็นดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 1,426,228.01 บาท ค่าอากรแสตมป์ค้างชำระจำนวน 49 บาท รวมเป็นยอดหนี้ค้างชำระจำนวน 4,065,571.01 บาท
ฉบับที่ 2 สัญญารับมอบสินค้าเชื่อ (ทรัสต์รีซีท) ฉบับลงวันที่ 23 เมษายน 2540 เลตเตอร์ออฟเครดิตหมายเลข เอ 939610903 ตั๋วแลกเงินเลขที่ เอ 939724054 ตั๋วลงวันที่ 15 เมษายน 2540 จำนวนเงิน 6,360,000 เยน
จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระต้นเงินจำนวน 6,360,000 เยน คิดเป็นเงินไทยจำนวน 1,982,491.50 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 0.311713 บาท ต่อ 1 เยน) พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 19ตุลาคม 2540 คิดเป็นดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 149,460 เยน คิดเป็นเงินไทยจำนวน 46,588.55 บาท ต่อจากนั้นจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระต้นเงินจำนวน 1,982,491.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยนับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2540 จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น คำนวณยอดหนี้เพียงวันที่ฟ้องวันที่ 3 สิงหาคม 2543 คิดเป็นดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 1,023,332.25 บาท รวมเป็นยอดหนี้ค้างชำระจำนวน 3,005,823.75 บาท
ฉบับที่ 3 สัญญารับมอบสินค้าเชื่อ (ทรัสต์รีซีท) ฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2540 เลตเตอร์ออฟเครดิตหมายเลข เอ 939610904 ตั๋วแลกเงินเลขที่ เอ 939724041 ตั๋วลงวันที่ 11 มีนาคม 2540 จำนวนเงิน 135,690 มาร์กเยอรมัน
จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระต้นเงินจำนวน 135,690 มาร์กเยอรมัน คิดเป็นเงินไทยจำนวน 2,760,952.27 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 20.3475 บาท ต่อ 1 มาร์กเยอรมัน) พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2540 ถึงวันที่ 28 กันยายน 2540 คิดเป็นดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 5,250.45 มาร์กเยอรมัน คิดเป็นเงินไทยจำนวน 106,833.53 บาท ต่อจากนั้นจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระต้นเงินจำนวน 2,760,952.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยนับแต่วันที่ 29 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น หักชำระจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยค้างชำระมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2540 เป็นเงินจำนวน 121,583.48 บาท คำนวณยอดหนี้เพียงวันที่ฟ้องวัยที่ 3 สิงหาคม 2543 คิดเป็นดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 1,376,504.90 บาท รวมเป็นยอดหนี้ค้างชำระจำนวน 4,137,457.17 บาท และในการทำสัญญารับมอบสินค้าเชื่อ (ทรัสต์รีซีท) ทั้งสามฉบับดังกล่าวจำเลยที่ 2 ยังได้ทำสัญญาค้ำประกันทรัสต์รีซีทไว้กับโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนและไม่มีเงื่อนไขหรือข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิน เพียงวันที่ 3 สิงหาคม 2543 จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นลูกหนี้โจทก์ในหนี้ตามสัญญารับมอบสินค้าเชื่อ (ทรัสต์รีซีท) เป็นต้นเงินจำนวน 7,182,737.77 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 3,826,065.16 บาท ค่าอากรแสตมป์จำนวน 49 บาท รวมเป็นยอดหนี้ จำนวน 11,208.93 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 11,208,851.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 7,382,737.77 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ยังไม่ได้ชำระเงินค่าสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยที่ 1 ขอเปิด จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ไม่ได้เพราะไม่ได้ตกลงกัน ดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นเบี้ยปรับ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว เนื่องจากมูลหนี้ตามฟ้องมีอายุความฟ้องร้องเพียง 2 ปี โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาผูกพันตามสัญญาทรัสต์รีซีท การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์และผู้เข้าแทนที่โจทก์ไม่ชอบเพราะไม่บอกกล่าวต่อจำเลยที่ 1 ก่อน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์สินค้าตามฟ้องให้แก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้ค้างชำระหนี้อีก การโอนกรรมสิทธิ์เรียกร้องระหว่างโจทก์และผู้เข้าแทนที่โจทก์ไม่ชอบ เพราะไม่บอกกล่าวต่อจำเลยที่ 2 ก่อน ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ตามพระราชกำหนดบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 11,208,851.93 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราลอยตัวตามประกาศของโจทก์แต่ไม่เกินร้อยละ 14.50 ต่อปี คำนวณจากต้นเงิน 7,382,737.77 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3 สิงหาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 50,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตตามฟ้องเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ เมือ่ผู้ขายส่งสินค้ามาให้แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิต จึงทำสัญญาทรัสต์รีซีท จำนวน 3 ฉบับ มอบให้โจทก์เพื่อขอรับสินค้าไปจำหน่ายก่อน และตกลงชำระเงิแก่โจทก์เป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนวันที่โจทก์ต้องชำระเงินค่าสินค้าแทนหรือตามอัตราแลกเปลี่ยนของโจทก์ ณ วันครบกำหนดชำระเงินตามทรัสต์รีซีทโดยให้โจทก์เป็นผู้เลือกจะใช้อัตราใด ภายหลังโจทก์เลืออัตราแลกเปลี่ยนวันที่โจทก์ชำระค่าสินค้าแทนตามทรัสต์รีซีททั้งสามฉบับเป็นเงิน 7,382,737.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทรัสต์รีซีทถึงกำหนดชำระถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,826,065.16 บาท ค่าอากรแสตมป์เป็นเงิน 69 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 11,208,851.93 บาท และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันด้วย……
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยทั้งสองในประการที่สี่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า มูลหนี้ตามฟ้องเป็นเรื่องเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท ไม่ใช่การจัดการงานแทนและทดรองจ่ายเงินแทน เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์จำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยทั้งสองในประการที่ห้ามีว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองชอบหรือไม่ เห็นว่า ในการคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีทในคดีนนี้ โจทก์ต้องปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ซึ่งตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9, 10, 11 ในข้อ 4 ของสัญญาระบุว่า จำเลยที่ 1 ต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายสัญญาทรัสต์รีซีท โดยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามประกาศของโจทก์นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลย 1 รวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใด ๆ เกี่ยวกับหนี้ทรัสต์รีซีท และในสัญญาข้อ 7 ระบุว่าในกรณีที่จำเลยที่ ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 เมื่อตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดได้เพียงตามอัตราที่ระบุในสัญญาข้อ 4 และข้อความในสัญญาข้อ 4 ดังกล่าวข้างต้นเป็นกรณีระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระภายในกำหนดเวลาสัญญาเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัด ซึ่งแม้สัญญาข้อ 4 นี้จะระบุให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของโจทก์ก็ตาม ย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น ฉะนั้น กรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้เพียงในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศของโจทก์เท่านั้นมิใช่อัตราสูงสุดในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา เพราะตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดเอกสารหมาย จ.13 ข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยในอัตราสำหรับลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้เฉพาะกรณีลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วเท่านั้น
คดีนนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ธนาคารโจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินค้าตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตทั้งสามฉบับไปแล้วตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2540 วันที่ 15 เมษายน 2540 และวันที่ 14 มีนาคม 1540 ตามลำดับ ทั้งตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสามฉบับได้ระบุวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 วันที่ 19 ตุลาคม 2540 และวันที่ 28 กันยายน 2540 โดยโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี 4.5 ต่อปี และ 7 ต่อปี นับแต่วันที่จ่ายงินแทนจำเลยที่ 1 ไปเป็นดอกเบี้ย 155,498.34 บาท 46,588.55 บาท และ 106,833.53 บาท ตามลำดับ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี 4.5 ต่อปี และ 7 ต่อปี ไม่เกินอัตราที่คิดสำหรับลูกค้าทั่วไปไม่ผิดนัดซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดได้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ในช่วงก่อนที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยโดยชอบแล้ว ทั้งปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้นตั้งแต่วันที่โจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินค้าแทนไป ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยก่อนวันที่จ่ายเงินค่าสินค้าจึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดที่จะต้องชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับ โจทก์เริ่มคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าผิดนัดตามประกาศของโจทก์จนถึงวันฟ้องโดยอาศัยสัญญาข้อ 7 ของสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสามฉบับ เป็นดอกเบี้ย 2,639,274 บาท 1,982,491.50 บาท และ 1,376,504.90 บาท ซึ่งได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นว่า ในกรณีที่สัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเดียวกับสัญญาข้อ 4 เมื่อฟังว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอหเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามข้อ 4 ได้เพียงอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปไม่ผิดนัดการชำระหนี้แล้ว ในคดีนี้โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 หลังจากวันครบกำหนดชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์นับแต่วันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถัดจากวันฟ้องต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ได้บางส่วน
โดยสรุปแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับแรก ต้นเงิน 2,639,294 บาท และดอกเบี้ยถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 540 จำนวน 155,498.34 บาท หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยจากต้นเงิน 2,639,294 บาท ในอัตราสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปไม่ผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ 2 ต้นเงิน 1,982,491.50 บาท และดอกเบี้ยถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2540 จำนวน 46,588.55 บาท หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยจากต้นเงิน 1,982,491.50 บาท ในอัตราสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปไม่ผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ 2 ต้นเงิน 2,760,592.27 บาท และดอกเบี้ยถึงวันที่ 28 กันยายน 2540 จำนวน 106,833.53 บาท หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยจากต้นเงิน 2,760,592.27 บาท ในอัตราสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปไม่ผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ
รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเพียงวันที่ครบกำหนดชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับจำนวน 7,691,658.19 บาท จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยไปบางส่วนจำเลย 121,583.84 บาท และค้างค่าอากรแสตมป์ 49 บาท คงเหลือเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสามฉบับและค่าอากรแสตมป์ค้าชำระรวม 7,570,123.35 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในประการที่หกมีว่า ตามสัญญาทรัสต์รีซีทระบุให้กรรมสิทธิ์ในสินค้าตกอยู่แก่โจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ เห็นว่า เหตุที่สัญญาทรัสต์รีซีทระบุ้ช่นนี้ก็เพื่อให้โจทก์มีสิทธิอยู่ในฐานเจ้าหนี้มีประกันเหนือสินค้านั้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 หาได้เป้นการตกลงโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์เพื่อทดแทนการชำระหนี้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงยังต้องผูกพันชำระหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในประการสุดท้ายมีว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เข้าแทนที่โจทก์เข้าสวมสิทธิโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ผู้เข้าแทนที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิโจทก์โดยมีเอกสารแนบท้ายคำร้องแสดงฐานะของผู้ร้อง ผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้อง หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับผู้ร้อง แม้เอกสารแนบท้ายจะเป็นเพียงภาพถ่ายก็เป้นภาพถ่ายจากต้นฉบับและจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารเหล่านี้ จำเลยทั้งสองเพียงแต่โต้แย้งว่า ไม่เคยได้รับแจ้งหรือให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับผู้ร้องเท่านั้นทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ก็เป็นไปตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตรวจสอบเอกสารท้ายคำร้องคำแถลงคัดค้านของจำเลยทั้งสองและบทบัญญัติในพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 แล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เข้าแทนที่โจทก์สวมสิทธิโจทก์โดยมิได้ไต่สวนพยานหลักฐานอื่นอีก จึงเป็นการชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 7,570,123.35 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปไม่ผิดนัดตามประกาศของโจทก์จากต้นเงิน 2,639,294 บาท ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 และจากต้นเงิน 2,760,952.27 บาท ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท