แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลย 9 คน โดยยื่นสำเนาฎีกาให้ศาลฉบับเดียว เพื่อส่งให้จำเลยที่ 1 ดังนี้การที่โจทก์มิได้คัดสำเนาฟ้องฎีกาส่งศาลพร้อมฟ้องฎีกาเพื่อส่งให้จำเลยที่ 2 ถึง 9 แต่ศาลชั้นก็ต้นก็ได้สั่งรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว ในกรณีเช่นนี้ศาลฎีการับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปได้
ในกรณีที่ส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยไม่ได้เนื่องจากจำเลยออกไปนอกประเทศไทยนั้นถือได้ว่าส่งไม่ได้ เพราะหาตัวไม่พบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 201 แล้ว
ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 38นั้น เป็นกรณีที่เรือบรรทุกสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตามช่องทางท่าอนุมัติแต่การลักลอบนำสินค้าเข้ามาตามช่องทางซึ่งมิใช่ท่าอนุมัติไม่ผิดตามมาตรา 38
(ปัญหาข้อ 1 และ ข้อ 2 วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 26/2507)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 9 คนร่วมกันกระทำผิดลักลอบนำยางพารา505 มัด ราคา 198,720 บาท ที่ต้องเสียภาษีศุลกากรขาเข้า 54,648 บาทและเป็นของต้องกำกัดควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร กับนำสินค้าปลาเค็มตากแห้ง กะเพาะปลาตากแห้ง หูฉลาม รวมราคาสินค้าและค่าอากรทั้งสิ้น 487,199.30 บาท บรรทุกเรือมีระวางบรรทุก 83 ตันจากดินแดนต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทยที่อ่าวกะตะอำเภอเมืองภูเก็ตจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมิใช่ท่าอนุมัติและเขตศุลกากรโดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และมิได้ผ่านด่านศุลกากรภูเก็ตโดยถูกต้อง โดยมีเจตนาฉ้อค่าภาษี หลีกเลี่ยงอากรและไม่ได้เสียภาษีอากร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากรและริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27, 32, 38 ฯลฯ จำคุกคนละ 6 เดือน จำเลยที่ 2 ถึง 9 ต้องขังมาพอแก่โทษให้ปล่อยตัวไป ริบของกลาง ฯลฯ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้องในเหตุลักษณะคดี ปล่อยจำเลยทั้งหมดพ้นข้อหาของกลางคืนจำเลย
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาแต่ส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยที่ 1 ได้คนเดียว ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ศาลชั้นต้นยังมิได้จัดการส่งสำเนาฎีกาให้จำเลย ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นจัดการส่งสำเนาฎีกาให้ถูกต้อง โจทก์แถลงว่า ที่โจทก์ยื่นสำเนาฎีกาให้ศาลฉบับเดียวเพื่อส่งให้จำเลยที่ 1 เพราะเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษา จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ถูกขังมาพอแก่โทษ จึงปล่อยตัวไป คงขังจำเลยที่ 1 คนเดียว โจทก์และจำเลยที่ 2ถึงที่ 9 ไม่อุทธรณ์ คดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จึงยุติ เจ้าพนักงานส่งตัวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 กลับประเทศพม่า ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องตลอดถึงจำเลยทุกคน โจทก์จึงฎีกา เนื่องจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ไม่มีตัวอยู่ในประเทศไทยถึงแม้โจทก์จะส่งสำเนาฎีกาต่อศาลครบจำนวนจำเลยก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่อาจส่งสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ได้ จึงแถลงให้ศาลทราบ
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่โจทก์มิได้คัดสำเนาฟ้องฎีกาส่งศาลพร้อมกับฟ้องฎีกา เพื่อส่งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 แต่ศาลชั้นต้นก็ได้สั่งรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว ในกรณีเช่นนี้ศาลฎีการับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปได้
และเห็นว่า ในกรณีที่ส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยไม่ได้ เนื่องจากจำเลยออกไปนอกประเทศไทยนั้น ถือได้ว่าส่งไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 201 แล้ว
และฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้นำเรือเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเพื่อลักลอบขนสินค้าขึ้นฝั่งโดยเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร และมีเจตนานำของเข้าโดยไม่รับอนุญาตดังฟ้อง
ส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 38 นั้น เห็นว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงความผิดตามมาตรานี้ และมาตรา 38 เป็นกรณีที่เรือบรรทุกสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตามช่องทางท่าอนุมัติ นายเรือจึงมีหน้าที่ทำรายงานแถลงรายละเอียดแห่งสินค้าที่บรรทุกมา แต่การกระทำของจำเลยในคดีนี้เป็นเรื่องจำเลยลักลอบนำสินค้าเข้ามาตามช่องทางซึ่งมิใช่ท่าอนุมัติ การกระทำของจำเลยจึงไม่ผิดตามมาตรา 38
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยทุกคนผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 จำคุกจำเลยคนละ 6 เดือนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ต้องขังมาพอแก่โทษแล้วให้ปล่อยตัวไป ของกลางริบตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 32 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 17 จ่ายสินบนนำจับและรางวัลเจ้าพนักงาน ยกฟ้องข้อที่ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 38