แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์นำสืบว่าหนี้เงินกู้ตามสัญญาจำนองส่วนหนึ่งเป็นมูลหนี้เดิมระหว่างสามีโจทก์กับบิดาจำเลย แต่ได้มีการตกลงกันระหว่างสามีโจทก์และจำเลย โดยจำเลยยอมรับใช้หนี้จำนวนที่บิดาจำเลยเป็นหนี้สามีโจทก์ก่อนตาย รวม กับเงินอีกจำนวนหนึ่งซึ่งจำเลยขอกู้เพิ่มและได้ตกลงกันให้โจทก์เป็นเจ้าหนี้เงินกู้จำนวนดังกล่าว การนำสืบของโจทก์เป็นการนำสืบถึงข้อตกลงแปลงหนี้อันเป็นที่มาของหนี้ตามสัญญาจำนอง จึงไม่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ 183,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี โดยจำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 2525 ตำบลท่าเรืออำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เป็นประกัน นับแต่กู้จำเลยไม่เคยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามแจ้งการบังคับจำนอง จำเลยทราบแล้วเพิกเฉยนับแต่จำนองจนถึงวันนัดเป็นเวลากว่า 10 ปี โจทก์ขอคิดดอกเบี้ย5 ปี เป็นเงินค่าดอกเบี้ย 139,475 บาท รวมต้นเงินแล้วเป็นเงิน322,475 บาท ขอให้จำเลยไถ่ถอนจำนองจำนวน 322,475 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 183,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามโฉนดเลขที่ 2525ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้กู้เงินตามฟ้อง สัญญาจำนองเป็นเพียงสัญญาอุปกรณ์ ไม่มีมูลหนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ประธาน สัญญาจำนองจึงไม่มีผลบังคับจำเลยเพราะโจทก์หลอกลวงให้จำเลยจดทะเบียนจำนองก่อนโดยรับว่าจะให้เงินกู้ 183,000 บาท ในวันรุ่งขึ้น แต่โจทก์บิดพลิ้ว อ้างว่าบิดาจำเลยค้างชำระหนี้โจทก์อยู่จึงถือเป็นการหักชำระหนี้ของบิดาจำเลย โดยจำเลยมิได้ยินยอมด้วย โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ถึง 30 วัน และฟ้องคดีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากสามี จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 183,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ 23พฤษภาคม 2521 ถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2526 และดอกเบี้ยร้อยละ 15ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ไม่ชำระให้ยึดทรัญืจำนองโฉนดเลขที่ 2525 ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาข้อแรกว่า สัญญาจำนองเอกสารหมายล.4 ระบุข้อตกลงว่าเป็นการจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้กู้ยืมระหว่างโจทก์จำเลย โจทก์จึงจะนำสืบว่าเป็นการจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของนายกิมสุยไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น เห็ฯว่า โจทก์นำสืบว่าหนี้เงินกู้ตามสัญญาจำนองส่วนหนึ่งจำนวน 153,000 บาท เป็นมูลหนี้เดิมระหว่างนายใช่สามีโจทก์และนายกิมสุยบิดาจำเลย แต่ได้มีการตกลงกันระหว่างนายใช่และจำเลย โดยจำเลยยอมรับใช้หนี้จำนวนที่นายกิมสุยเป็นหนี้นายใช่ก่อนตายรวมกับเงินอีกจำนวน 30,000 บาท ซึ่งจำเลยขอกู้เพิ่มรวมเป็นเงิน 183,000 บาท และได้ตกลงกันให้โจทก์เป็นเจ้าหนี้เงินกู้จำนวนดังกล่าวตามหลักฐานสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.4 การนำสืบของโจทก์เป็นการนำสืบถึงข้อตกลงแปลงหนี้อันเป็นที่มาของหนี้ตามสัญญาพิพาท จึงหาเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ดังที่จำเลยฎีกาโต้แย้งไม่ ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาจำเลยในปัญหาที่ ว่าจำเลยถูกนายใช่หลอกลวงให้เข้าทำสัญญาจำนองโดยจะให้จำเลยกู้เงินจำนวน 183,000 บาท แต่จำเลยมิได้รับมอบเงินกู้ตามข้อตกลง สัญญาจำนองจึงไม่มีผลบังคับนั้นข้อเท็จจริงจากพยานจำเลยที่นำสืบกลับได้ความว่า นายกิมสุยเป็นหนี้นายใช่ตามหลักฐานสัญญากู้รวม 3 ฉบับ ตามเอกสารหมาย ล1.-ล.3จำเลยก็นำสืบรับว่านายกิมสุยได้ทำสัญญากู้ดังกล่าวไว้กับนายใช่ซึ่งตามสัญญากู้เอกสารหมาย ล.2 เป็นหลักฐานว่านายกิมสุยได้กู้เงินนายใช่ในปี 2511 เป็นเงิน 118,300 บาท หลักฐานการกู้ยืมที่นายกิมสุยทำให้ไว้ก็ตรงกับคำเบิกความของนายใช่ซึ่งจำเลยอ้างเป็นพยาน ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยได้ขอกู้เงินเพิ่มจากที่นายกิมสุยค้างชำระหนี้ไว้รวมเป็นเงิน 183,000 บาทและจำเลยได้ตกลงยอมรับใช้หนี้แทนโดยทำสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.4กับโจทก์ ซึ่งหากไม่เป็นความจริง จำเลยก็น่าจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้สัญญาจำนองไม่มีผลผูกพันจำเลย แต่จำเลยก็หาได้ทำไม่ กลับปล่อยให้สัญญาจำนองคงอยู่มาเป็นเวลาถึง 10 ปีเศษที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.