คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5503/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละ 1 ปี จำเลยที่ 3 จำคุก 6 เดือนและจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดฐานฉ้อโกงด้วยรวม 38 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ในความผิดฐานฉ้อโกงเป็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดฐานนี้ รวม 34 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน ส่วนความผิดที่เหลือ 4 กระทงวินิจฉัยว่าเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานปลอมและใช้ เอกสารปลอมที่ศาลชั้นต้นลงโทษไปแล้ว เช่นนี้ เท่ากับว่าศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดฐานปลอมและใช้ เอกสารปลอมและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในความผิดฐานนี้ มีกำหนด 1 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 สำหรับความผิด ฐานฉ้อโกง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เพียง 4 กระทง ซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ส่วนความผิดที่เหลือ 34 กระทง ศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษายืนและลงโทษจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทกฎหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมจดหมายของนายกำธร รวม ๗ ฉบับ โดยเขียนข้อความเป็นเท็จในนามของนายกำธรถึงนางพงษ์สุรีย์ และลงลายมือชื่อปลอมของนายกำธร ลงในจดหมายดังกล่าวทุกฉบับแล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันนำจดหมายปลอมทั้งเจ็ดฉบับไปแสดงต่อนางพงษ์สุรีย์ เพื่อให้หลงเชื่อว่าข้อความในจดหมายและจดหมายดังกล่าวเป็นของนายกำธรที่แท้จริง และจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ โดยเจตนาทุจริตร่วมกันหลอกลวงนางพงษ์สุรีย์ รวม ๓๘ ครั้งโดยกล่าวข้อความอันเป็นเท็จว่านายกำธรใช้ให้จำเลยทั้งสองมาขอยืมเงินโดยที่นายกำธรไม่เคยใช้ให้จำเลยทั้งสองไปขอยืมเงิน เป็นเหตุให้นางพงษ์สุรีย์หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยทั้งสองรับไปรวม ๓๘ ครั้ง เป็นเงิน ๔๔๖,๕๐๐ บาท แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันนำเงินดังกล่าวไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๘, ๓๔๑, ๙๑, ๘๓ และให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน ๔๔๖,๕๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๘ ประกอบมาตรา ๘๓, ๙๑ ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ แต่กระทงเดียว จำเลยที่ ๓ อายุไม่เกิน ๑๗ ปี ลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งจำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ กำหนด ๑ ปี จำคุกจำเลยที่ ๓ กำหนด ๖ เดือนจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ประกอบมาตรา ๘๓, ๙๑ รวม ๓๘ กรรม ต่างกรรมต่างวาระกัน ลงโทษจำคุกกรรมละ ๖ เดือนแต่รวม ๓๘ กรรมเกินกว่า ๑๐ ปี จึงให้จำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีกำหนด ๑๐ ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๑) รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ คนละ ๑๑ ปีจำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนด ๖ เดือน รอการลงโทษจำเลยที่ ๓ ไว้มีกำหนด ๒ ปีให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน ๔๔๖,๕๐๐ บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ในความผิดฐานฉ้อโกงเป็นว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๘๓, ๙๑ รวม ๓๔ กระทงลงโทษจำคุกกระทงละ ๖ เดือน แต่รวม ๓๔ กระทง เกินกว่า ๑๐ ปี ลงโทษจำคุกไว้เพียง ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๑) รวมเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๑๑ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะในความผิดฐานฉ้อโกง โดยแก้จากที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ในความผิดฐานนี้ ๓๘ กระทง เป็น ๓๔ กระทง แต่คงให้ลงโทษจำคุกกระทงละ ๖ เดือน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น จึงเท่ากับศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมและลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ในความผิดฐานนี้มีกำหนด ๑ ปี ฉะนั้น ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมนี้ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ สำหรับความผิดฐานฉ้อโกงนั้นเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษแต่ละกระทงจำคุกไม่เกิน ๕ ปี แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เพียง ๔ กระทงโดยเห็นว่าเป็นความผิดฐานกรรมเดียวกับความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมที่ศาลชั้นต้นลงโทษไปแล้วซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ส่วนความผิดที่เหลือ ๓๔ กระทง ศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษายืนและลงโทษจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน ๕ ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ เช่นกัน ที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกาว่า ข้อนำสืบของโจทก์ขัดต่อหลักแห่งความเป็นจริงขาดเหตุผล รับฟังไม่ได้ก็ดี พฤติการณ์ของจำเลยที่โจทก์นำสืบมาส่อให้เห็นเป็นพิรุธ กรณีตกอยู่ในข่ายแห่งความสงสัย ลงโทษจำเลยไม่ได้ก็ดี จึงเท่ากับเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล เป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ข้อกฎหมายที่จำเลยอ้างเป็นฎีกาไม่มี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เสีย

Share