คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1110/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ถอนใบอนุญาตของโจทก์และแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี เมื่อคณะผู้ชำระบัญชีประชุมมีมติให้ผู้ชำระบัญชี 2 คนมีอำนาจลงชื่อร่วมกันแต่งตั้งทนายความฟ้องคดีได้ ผู้ชำระบัญชี 2 คนจึงมีอำนาจแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องจำเลยได้
โจทก์เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ การที่โจทก์จัดการซื้อหุ้นตลอดจนออกเงินทดรองค่าหุ้นให้แก่จำเลยไปนั้น จำเลยย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าที่โจทก์ดำเนินกิจการดังกล่าวไปก็เพื่อประโยชน์ที่จะได้ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย หาได้กระทำให้เปล่าโดยไม่มีประโยชน์ตอบแทนไม่จำเลยจึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยสั่งซื้อหุ้นจำนวน 500 หุ้น แต่จำเลยได้สั่งขายหุ้นดังกล่าวไป 300 หุ้น จึงเหลือหุ้นที่จำเลยสั่งซื้อไว้และยังไม่ได้ขายอีก 200 หุ้นจำเลยต้องรับผิดใช้เงินค่าหุ้นที่เหลือจำนวนนี้แก่โจทก์ด้วย.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งให้ถอนใบอนุญาตของโจทก์และแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี ในระหว่างที่โจทก์ประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์อยู่นั้น โจทก์ได้เป็นตัวแทนและนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ แต่โจทก์มิได้เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โจทก์จึงติดต่อกับบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ให้จัดการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ตามคำสั่งของลูกค้าแทนโจทก์ โดยโจทก์จะออกเงินทดรองจ่ายแทนลูกค้าไปก่อนเงินที่ทดรองจ่ายไปนี้โจทก์จะลงบัญชีให้ลูกค้าเป็นลูกหนี้ถ้ามีการขายหลักทรัพย์ได้เงินมาก็จะหักกลบลบบัญชีกันเป็นครั้งคราว จำเลยตกลงให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจำเลยได้สั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นโจทก์จัดการซื้อให้จำเลยได้และทดรองจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นและค่านายหน้าไป แต่จำเลยยังไม่ได้ชำระหนี้ค่าซื้อหุ้นให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 669,183.93 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีในต้นเงิน 587,003.45 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ
ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ โจทก์ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเข้าดำเนินคดีแทนโจทก์
จำเลยให้การว่า ผู้ชำระบัญชีของโจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ จำเลยได้สั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นบริษัทลีกวงมิ้ง จำกัด และหุ้นบริษัทเฟิสท์ทรัสต์ จำกัด ตามโจทก์ฟ้องจริง แต่ไม่เคยสั่งซื้อหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด และไม่เคยสั่งซื้อลูกหุ้นบริษัทลีกวงมิ้ง จำกัด หนี้ที่จำเลยสั่งซื้อหุ้นมีเพียง 518,064 บาทเมื่อหักกับเงินตามตั๋วแลกเงิน 350,000 บาทแล้ว จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ 168,064 บาท ต่อมาโจทก์ขายหุ้นบริษัทเฟิสท์ทรัสต์จำกัด ไป 300 หุ้น แต่โจทก์ยังมิได้นำมาหักหนี้ให้จำเลย ถ้านำมาหักหนี้แล้วจะเหลือหนี้ 44,547.60 บาท และจำเลยยังมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปีของเงินฝาก 350,000 บาท ตามตั๋วแลกเงิน เมื่อนำมาหักกันแล้วจำเลยเป็นหนี้โจทก์เพียง19,988.70 บาท
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง จำเลยได้สั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด หุ้นบริษัทลีกวงมิ้ง จำกัด ลูกหนี้บริษัทลีกวงมิ้ง จำกัด ตามโจทก์ฟ้อง จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายค่าหุ้นไป และโจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของยอดเงินฝากตามตั๋วแลกเงิน 350,000 บาทเช่นเดียวกัน เมื่อหักกับเงินฝากนั้นแล้ว จำเลยเป็นหนี้ค่าสั่งซื้อหุ้น348,030.47 บาท ปรากฏว่าจำเลยได้สั่งขายหุ้นบริษัทเฟิสท์ทรัสต์จำกัด จำนวน 300 หุ้น ขาดทุนเป็นเงิน 74,916.77 บาท จะต้องรับผิดเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 78,662.60 บาท พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 348,030.47 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระเงิน 78,662.60 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน74,916.77 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้คิดเท่าที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์ในการเป็นตัวแทนและนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ตามฟ้อง เป็นการประกอบกิจการตลาดหลักทรัพย์หรือกิจการซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึง เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2517 สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์ไม่ขัดต่อมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 จึงไม่เป็นโมฆะ พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า นอกจากจำเลยจะต้องรับผิดในการสั่งซื้อหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด หุ้นบริษัทลีกวงมิ้ง จำกัด แล้ว ยังต้องรับผิดในการสั่งซื้อหุ้นบริษัทเฟิสท์ทรัสต์ จำกัด จำนวน 200 หุ้น (ที่ยังไม่ได้สั่งขาย) เป็นเงิน 123,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย 7,081.25 บาท รวมเป็นเงิน130,681.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย 7,081.25 บาท รวมเป็นเงิน130,681.25 บาท แต่จำเลยไม่ต้องรับผิดในการที่โจทก์ซื้อลูกหุ้นบริษัทลีกวงมิ้ง จำกัด จำนวน 75,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย จึงเหลือจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดในการสั่งซื้อหุ้นเป็นเงิน 400,222.35 บาท พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน400,222.35 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระเงิน 78,662.60 บาท (ที่ขายหุ้นบริษัทเฟิสท์ทรัสต์ จำกัด 300 หุ้น ขาดทุน พร้อมด้วยดอกเบี้ย) แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 74,916.77 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า นายชยุติ จิระเลิศพงษ์และนายประทีป ตัณฑประศาสน์ เป็นผู้ชำระบัญชีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ปรากฏว่าเมื่อกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตของโจทก์นั้น ได้มีคำสั่งแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีขึ้นชุดหนึ่ง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 โดยนายชยุติจิระเลิศพงษ์ และนายประทีป ตัณฑประศาสน์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีด้วย ในกรณีที่มีการเพิกถอนใบอนุญาตนี้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นได้บัญญัติไว้ว่า เมื่อรัฐมนตรีสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาต ให้มีการชำระบัญชีและให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี และต่อมาคณะผู้ชำระบัญชีที่ได้รับแต่งตั้งนั้นได้ประชุมกันมีมติว่า ให้ผู้ชำระบัญชี 2 คน มีอำนาจลงชื่อร่วมกันแต่งตั้งทนายความฟ้องคดีได้ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 ฉะนั้น นายชยุติจิระเลิศพงษ์ และนายประทีป ตัณฑประศาสน์ จึงมีอำนาจแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องจำเลยได้…
ฎีกาจำเลยข้อที่ 3 ที่ว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระค่าหุ้นบริษัทเฟิสท์ทรัสต์ จำกัด จำนวน 200 หุ้นนั้น ตามคำฟ้อง คำให้การและตามที่โจทก์จำเลยนำสืบมานั้นข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2521 จำเลยสั่งซื้อหุ้นบริษัทเฟิสท์ทรัสต์ จำกัดจำนวน 200 หุ้น ราคาหุ้นละ 666 บาท ปรากฏตามใบสั่งซื้อเอกสารหมาย จ.8 และเอกสารหมาย ล.2 ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2521 จำเลยสั่งซื้อหุ้นบริษัทเฟิสท์ทรัสต์ จำกัด อีก 300 หุ้น ราคาหุ้นละ 618 บาท ปรากฏตามใบสั่งซื้อเอกสารหมาย จ.9 และ ล.3 จึงรวมเป็นหุ้นบริษัทเฟิสท์ทรัสต์ จำกัด ที่จำเลยสั่งซื้อไว้ทั้งหมด 500 หุ้นแต่จำเลยได้สั่งขายหุ้นบริษัทดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2521 จำนวน 100 หุ้น และสั่งขายเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2521 อีกจำนวน 200 หุ้น ในการขายหุ้นทั้ง 2 ครั้งนี้ เมื่อคิดบัญชี โดยนำต้นทุนของหุ้นจำนวน 300 หุ้นนั้นมาหักแล้ว ปรากฏว่าขาดทุนเป็นเงินสุทธิ 74,916.77 บาท ดังปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย ล.4 เมื่อจำเลยสั่งขายหุ้นบริษัทเฟิสท์ทรัสต์ไปแล้ว 300 หุ้น จึงยังเหลือหุ้นบริษัทเฟิสท์ทรัสต์ จำกัด ที่จำเลยสั่งซื้อไว้และยังไม่ได้ขายอีก 200 หุ้น หุ้นที่เหลืออยู่นี้จำเลยสั่งซื้อไว้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2521 ในราคาหุ้นละ 618 บาท (ตามเอกสารหมาย จ.9) รวมเป็นเงิน 123,600 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดใช้เงินจำนวนนี้ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย…
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 4 ที่ว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ การที่โจทก์จัดการซื้อหุ้นตลอดจนออกเงินทดรองค่าหุ้นให้แก่จำเลยไปนั้น จำเลยย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าที่โจทก์ดำเนินกิจการดังกล่าวไปนั้นก็เพื่อประโยชน์ที่จะได้ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย หาได้กระทำให้เปล่าโดยไม่มีประโยชน์ตอบแทนไม่ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำเลยรับผิดเสียดอกเบี้ยด้วยนั้นชอบแล้ว…’
พิพากษายืน.

Share