แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ก่อนโจทก์ลาออกจากงาน จำเลยยังคงจ่ายค่าครองชีพให้พนักงานรวมทั้งโจทก์ด้วย ต่อมาหลังจากโจทก์ลาออกจากงานไปแล้ว จำเลยมีคำสั่งยกเลิกการจ่ายค่าครองชีพให้แก่พนักงาน คำสั่งดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ ถือได้ว่าขณะโจทก์ลาออกจากงาน โจทก์ได้รับค่าครองชีพอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่ต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณเงินบำเหน็จด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยให้โจทก์ไม่ครบเนื่องจากจำเลยมิได้นำค่าครองชีพของโจทก์แต่ละคนมารวมคำนวณด้วย จำเลยให้การต่อสู้ว่า ค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้างตามข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 และตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน จึงไม่ต้องนำมาคำนวณขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายบำเหน็จและค่าชดเชยส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
คดีทั้งหกสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 6 โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 5เป็นลูกจ้างประจำรายวันของจำเลย ประจำอยู่ที่โรงงานทอผ้าพิษณุโลกและนายสุทัน สนั่นนาม สามีโจทก์ที่ 6 เป็นลูกจ้างประจำรายเดือนของจำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2527 และวันที่ 2 กุมภาพันธ์2532 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้ขอลาออกจากงานตามลำดับโดยไม่มีความผิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2532 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2523 และวันที่16 มกราคม 2523 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ตามลำดับโดยอ้างว่า โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 หย่อนความสามารถในการทำงานและเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2531 นายสุทันสามีโจทก์ที่ 6ได้ถึงแก่กรรม จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยให้โจทก์ไม่ครบขอให้พิพากษาบังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ยังขาดอยู่จำนวน4,800 บาท 6,000 บาท 1,200 บาท 2,400 บาท 7,200 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ลาออกจากงาน วันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และ วันที่นายสุทันถึงแก่กรรมจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน16,980 บาท 5,880 บาท 11,760 บาท แก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งหกสำนวนให้การว่า ค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้างตามข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพ.ศ. 2521 ข้อ 3 และตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานเพราะเป็นเพียงเงินสวัสดิการที่ให้ความสงเคราะห์ช่วยเหลือพนักงานผู้มีรายได้น้อยตามมติคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะโจทก์ที่ 2นั้น ลาออกจากงานเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2532 ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีและข้อบังคับองค์การทอผ้าให้ยกเลิกค่าครองชีพตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2532 แล้ว โจทก์ทั้งหกไม่อาจขอให้นำค่าครองชีพมารวมเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จและค่าชดเชยได้ จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ออกจากงานเนื่องจากโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5ขาดความอุตสาหะหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 แต่เป็นการเลิกจ้างเนื่องจากโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 กระทำผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและการที่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 หย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ออกจากงานเป็นการออกจากงานโดยผลของกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2520มาตรา 3 โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดจำนวน 4,000 บาท 4,800 บาท 6,000 บาท 1,200 บาท 2,400 บาทและ 7,200 บาท แก่โจทก์ทั้งหกตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2532 สำหรับโจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 และวันที่ 13 ตุลาคม 2532 สำหรับโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6และจ่ายค่าชดเชยจำนวน 16,980 บาท 5,880 บาท และ 11,760 บาทแก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2532 สำหรับโจทก์ที่ 3 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2523 สำหรับโจทก์ที่ 4 และวันที่ 16มกราคม 2523 สำหรับโจทก์ที่ 5 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่าโจทก์ที่ 2 ลาออกจากงานเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2532 ซึ่งเป็นการออกจากงานหลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีและข้อบังคับคำสั่งและระเบียบของจำเลยให้ยกเลิกค่าครองชีพตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2532ตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.5 หลังจากวันที่ 1 มกราคม 2532 จำเลยไม่ได้จ่ายค่าครองชีพให้แก่พนักงานของจำเลยซึ่งรวมถึงโจทก์ที่ 2ด้วยแต่เป็นการจ่ายค่าจ้างที่คาดว่าจะได้รับการปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2532 จำเลยจึงจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มให้ลูกจ้างแต่ละคนเท่ากับค่าครองชีพไปก่อน เมื่อมีคำสั่งปรับค่าจ้างและทราบว่าลูกจ้างแต่ละคนได้รับการปรับค่าจ้างคนละเท่าใดแล้ว จำเลยก็จะคิดหักกลบกันระหว่างค่าจ้างที่จ่ายเพิ่มไปก่อนกับค่าจ้างที่ได้รับการปรับเพิ่มขึ้น โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าครองชีพ พิเคราะห์แล้วในข้อนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ในวันที่ 31 มกราคม 2532 จำเลยยังคงจ่ายค่าครองชีพให้พนักงานรวมทั้งโจทก์ที่ 2 ด้วย และปรากฏตามเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งเป็นคำสั่งปรับค่าจ้างพนักงานของจำเลยว่า จำเลยมีคำสั่งให้ยกเลิกการจ่ายค่าครองชีพให้แก่พนักงาน เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2532 ซึ่งเป็นการออกคำสั่งหลังจากที่โจทก์ที่ 2 ได้ลาออกจากงานไปแล้ว และโจทก์ที่ 2 ก็ไม่ได้เป็นผู้ที่จำเลยให้ปรับค่าจ้างตามคำสั่งดังกล่าวจำเลยจ่ายค่าครองชีพให้โจทก์ที่ 2 ไปก่อนที่โจทก์ที่ 2 ลาออกจากงานและก่อนที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกการจ่ายค่าครองชีพให้แก่พนักงานคำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ที่ 2 ถือได้ว่าขณะที่โจทก์ที่ 2 ลาออกจากงานโจทก์ที่ 2 ได้รับค่าครองชีพอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่ต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณเงินบำเหน็จเพื่อจ่ายให้โจทก์ที่ 2 ด้วย ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกสำนวนทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน