คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2628/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 148 ซึ่งต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าถึงห้าเท่าของมูลค่าแร่ ตามราคาที่กำหนดโดยกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ มิได้มีข้อจำกัดว่า ถ้ามีผู้ร่วมกันกระทำผิดหลายคนแล้ว ให้ปรับรวมกันตามมูลค่าของแร่ เมื่อพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงนำประมวลกฎหมายอาญามาใช้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 17 ต้องลงโทษปรับจำเลยเรียงตามรายตัวบุคคล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 31
นิติบุคคลอาจต้องรับผิดในทางอาญาร่วมกับบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นได้ หากการกระทำนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ และนิติบุคคลได้รับประโยชน์อันเกิดจากการกระทำนั้น
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการกระทำกิจการต่าง ๆ แทน ลำพังจำเลยที่ 1 ไม่อาจกระทำกิจการด้วยตนเองได้การกระทำผิดเกิดขึ้นเนื่องมาจากจำเลยที่ 2 โดยตรง ย่อมต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิดฐานมีแร่ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ มิได้โต้แย้งว่าการกระทำดังกล่าวอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดได้โดยไม่จำต้องสอบถามข้อเท็จจริงจากจำเลยก่อน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา ๑๐๕, ๑๔๘, ๑๕๔ พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๘, ๒๑, ๒๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และริบแร่ของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๑๐๕, ๑๔๘, ๑๕๔ พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๘, ๒๑, ๒๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเป็นจำนวนหนึ่งเท่าครึ่งของมูลค่าแร่ เป็นเงิน ๑,๕๔๕,๑๑๒ บาท ๑๔ สตางค์ จำเลยให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับจำเลยทั้งสองรวมเป็นเงิน ๑,๐๓๐,๐๗๔ บาท ๗๖ สตางค์ แร่ของกลางให้ริบ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ปรับจำเลยทั้งสองเรียงตามรายตัวบุคคล
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยทั้งสอง คนละหนึ่งเท่าครึ่งของมูลค่าแร่เป็นเงินคนละ ๑,๕๔๕,๑๑๒ บาท ๑๔สตางค์ จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับจำเลยทั้งสองคนละ ๑,๐๓๐,๐๗๔ บาท ๗๖ สตางค์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา ๑๔๘ จะต้องถูกลงโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าถึงห้าเท่าของมูลค่าแร่ ตามราคาที่กำหนดโดยกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีข้อจำกัดว่า ถ้ามีผู้ร่วมกระทำผิดหลายคนแล้ว ให้ปรับรวมกันตามมูลค่าของแร่จึงนำประมวลกฎหมายอาญามาใช้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗ ต้องลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตามรายตัวบุคคล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑ คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นนิติบุคคล หากการกระทำนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้และจำเลยที่ ๑ ได้รับประโยชน์อันเกิดจากการกระทำนั้นแล้ว ก็ย่อมถือว่าจำเลยที่ ๑ มีเจตนากระทำผิดในทางอาญาร่วมกับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการได้ สำหรับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ ย่อมมีหน้าที่กระทำกิจการต่าง ๆ แทนจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคล ลำพังจำเลยที่ ๑ ไม่อาจกระทำกิจการใด ๆ ด้วยตนเองได้ การกระทำผิดเกิดขึ้นเนื่องจากจำเลยที่ ๒ โดยตรงย่อมต้องถือว่าจำเลยที่ ๒ ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วย คดีนี้เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิดฐานมีแร่ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ มิได้โต้แย้งว่า การกระทำดังกล่าวอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานเป็นตัวการร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องได้ กรณีหาจำต้องสอบถามข้อเท็จจริงดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาแต่อย่างใดไม่ ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share