แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่เจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกายโจทก์ขณะควบคุมโจทก์ไปส่งที่สถานีตำรวจ ต้องถือว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรมตำรวจซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 เวลากลางคืนระหว่างที่ร้อยตำรวจโทปรีชา สมสถาน สิบตำรวจตรีเจริญ โคตรบุดดีและสิบตำรวจตรีโชติศิริ นิรพันธ์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเป็นลูกจ้างและอยู่ในสังกัดของจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในระหว่างปฏิบัติงานตามหน้าที่ กล่าวคือบุคคลดังกล่าวได้จับกุมตัวโจทก์เพื่อนำไปสถานีตำรวจภูธร อำเภอประจันตคาม เจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามดังกล่าวได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์จนได้รับบาดเจ็บคิดเป็นค่าเสียหายรวม100,105 บาท จำเลย ในฐานะเป็นนายจ้างและเจ้าสังกัดของเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน100,105 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามไม่ได้กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนเริ่มสืบพยาน จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงจากโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่า ร้อยตำรวจโทปรีชา สมสถาน สิบตำรวจตรีเจริญ โคตรบุดดี และสิบตำรวจตรีโชติศิริ นิรพันธ์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติหน้าที่ราชการประจำสถานีตำรวจภูธร อำเภอประจันตคามจังหวัดปราจีนบุรี ได้ร่วมกันจับกุมโจทก์ใส่กุญแจมือจากที่เกิดเหตุแล้วนำตัวโจทก์ขึ้นรถยนต์กระบะของทางราชการ ระหว่างทางไปยังสถานีตำรวจภูธร อำเภอประจันตคาม เจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามได้ทำร้ายร่างกายโจทก์อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ บริเวณศีรษะด้านขวาบวมโน 2 แห่ง ลำตัวมีรอยเขียวช้ำ 5 แห่ง ตรงลิ้นปี่กดเจ็บ ข้อมือข้างขวามีรอยบวมข้อมือข้างซ้ายมีรอยถลอก ดังนี้ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้” คำว่า หน่วยงานของรัฐ คดีนี้ก็คือกรมตำรวจตามมาตรา 4และคำว่า เจ้าหน้าที่ของตน ก็คือเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสาม มีปัญหาว่าระหว่างการควบคุมตัวโจทก์ไปส่งที่สถานีตำรวจภูธรประจันตคามนั้นเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามได้ทำร้ายร่างกายโจทก์เป็นการทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เห็นว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามเริ่มจับกุมโจทก์ ถือว่าเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามได้ปฏิบัติหน้าที่แล้วครั้นเมื่อจับกุมโจทก์ได้ก็จะต้องควบคุมตัวโจทก์ไปส่งที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอประจันตคาม ดังนั้น การควบคุมตัวโจทก์ไปส่งไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอประจันตคามจึงถือว่าเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามได้ปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน ดังนั้น หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ขณะควบคุมโจทก์ไปส่งที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอประจันตคาม ต้องถือว่าเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายได้ ที่ศาลล่างทั้งสองงดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ฟังข้อเท็จจริงให้สิ้นกระแสความเสียก่อนนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่