แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาว่า “จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย จึงรับเป็นฎีกาและรับรองให้ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง สำเนาให้โจทก์”ตามฎีกาของจำเลยไม่ปรากฏว่ามีข้อใดที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ได้พิเคราะห์เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอย่างไร อันควรสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาได้ เป็นแต่บันทึกรับรองพ่วงท้ายคำสั่งรับฎีกามาลอย ๆ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับพิจารณา(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1/2520)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2514 ถึงวันที่ 4มกราคม 2515 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสามได้บังอาจร่วมกันปลอมหนังสือสัญญากู้เงินอันเป็นเอกสารสิทธิที่โจทก์ทำให้จำเลยที่ 1 เป็นหลักฐานว่าได้กู้เงินจำเลยที่ 1 ไปจำนวน 20,000 บาท เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2504 โดยจำเลยที่ 1 ลงชื่อในช่องผู้ให้กู้ จำเลยที่ 2,3 ลงชื่อในช่องพยาน และได้ร่วมกันเขียนสลักหลังหนังสือสัญญากู้เงินเป็นใจความว่า โจทก์ได้นำเงินต้นไปผ่อนชำระให้จำเลยที่ 1 รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2507 เป็นเงิน 1,200บาท ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2511 เป็นเงิน 1,500 บาท จำเลยที่ 1 ลงชื่อในฐานะผู้รับเงินกำกับรายการที่สลักหลัง ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาจะให้โจทก์หรือศาลหลงเชื่อว่า โจทก์ได้ผ่อนชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 เป็นบางส่วน หนี้ตามสัญญากู้จึงไม่ขาดอายุความ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ต่อมาเมื่อวันที่ 4มกราคม 2515 เวลากลางวันจำเลยที่ 1 ได้บังอาจนำเอาหนังสือกู้ที่ทำปลอมขึ้นดังกล่าวมาใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องเรียกหนี้ตามสัญญากู้เป็นเงิน 17,300 บาทจากโจทก์ต่อศาลจังหวัดลพบุรี โดยมีเจตนาจะให้ศาลหลงเชื่อตามหลักฐานที่จำเลยนำใช้อ้างต่อศาลว่าหนี้ตามสัญญากู้ไม่ขาดอายุความฟ้องร้อง ครั้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2515 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ได้บังอาจนำข้อความอันเป็นเท็จ และเป็นข้อสำคัญในคดีเข้าเบิกความต่อศาลจังหวัดลพบุรีในการพิจารณาคดีแพ่งดังกล่าวว่า โจทก์นำเงินมาผ่อนชำระให้จำเลยที่ 1 ที่บ้านตามที่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ได้สลักหลังไว้นั้น โดยเจตนาให้ศาลเชื่อตามคำเบิกความเท็จ เพื่อพิจารณาพิพากษาบังคับโจทก์ให้ชำระหนี้ตามฟ้อง และเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2515 เวลากลางวันจำเลยที่ 2,3 ได้บังอาจนำข้อความอันเป็นเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดีเข้าเบิกความต่อศาลจังหวัดลพบุรีในการพิจารณาคดีแพ่งดังกล่าวด้วยว่า โจทก์นำเงินไปผ่อนชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 รวม 2 ครั้ง จำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังการชำระหนี้ทั้งสองครั้งนั้น เพื่อให้ศาลหลงเชื่อและเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 177, 83,91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 2 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังว่า การที่จำเลยที่ 1 ลงชื่อในช่องผู้ให้กู้และจำเลยที่ 2,3 ลงชื่อช่องพยานในสัญญากู้ที่โจทก์ทำให้จำเลยที่ 1 ไว้ มิได้ทำให้สัญญากู้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ไม่เป็นการทำให้โจทก์เสียหาย ส่วนการที่จำเลยเขียนสลักหลังว่า โจทก์ผ่อนชำระขึ้นเองโดยโจทก์มิได้ผ่อนชำระให้จริงก็ไม่เป็นการแก้ไขข้อความในสัญญากู้ เพียงเพิ่มเติมข้อความลงเพื่อให้สัญญากู้ที่นำมาฟ้องไม่ขาดอายุความเท่านั้น ทั้งสองกรณีไม่เป็นความผิดฐานปลอมหนังสือ แต่คำเบิกความของจำเลยทั้งสามเป็นการเบิกความเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดีพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 83 จำคุกคนละ 3 เดือน คำฟ้องนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า ข้อความที่จำเลยสลักในสัญญากู้เป็นเท็จ และข้อความที่จำเลยทั้งสามเบิกความเป็นเท็จและศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานเบิกความเท็จจำคุกคนละ 3 เดือน และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 จำเลยทั้งสามฎีกาอ้างเป็นปัญหาข้อกฎหมายทั้งฉบับ ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนตรวจสั่งรับฎีกาว่า “จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายจึงรับเป็นฎีกาและรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง สำเนาให้โจทก์” ปัญหาว่าบันทึกของศาลชั้นต้นที่ว่า “และรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง” เป็นการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยชอบหรือไม่ นั้น เห็นว่า ตามฎีกาของจำเลยไม่ปรากฏว่ามีข้อใดที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ได้พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอย่างไรอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาได้ เป็นแต่บันทึกรับรองพ่วงท้ายคำสั่งรับฎีกามาลอย ๆ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ถือไม่ได้ว่าเป็นการอนุญาตโดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับพิจารณาคดีจึงมีปัญหาเฉพาะข้อกฎหมาย ซึ่งตามฎีกาของจำเลยข้อ 1 อ้างว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีฝ่าฝืนคำพยานหลักฐานในคดี ก็เป็นแต่กล่าวอ้างเพื่อให้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แท้จริงเป็นการโต้เถียงข้อสันนิษฐานข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมที่ได้นำสืบกันไว้ในคดีเชื่อว่าเป็นประการใดเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนฎีกาข้อ 2 และ 3 ที่ว่า การเบิกความของจำเลยทั้งสามยังไม่เป็นการเบิกความเท็จ เป็นการเบิกความตามความเป็นจริง และว่าไม่มีเจตนาจะเบิกความเท็จ ก็เป็นการโต้เถียงว่า ศาลควรจะใช้ดุลพินิจเชื่อพยานหลักฐานฝ่ายใด เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน และฎีกาข้อ 4ที่ว่า ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งมาเพื่อลงโทษจำเลยนั้น เป็นการกล่าวอ้างขึ้นเองฝืนความเป็นจริงที่ปรากฏในสำนวน สำหรับฎีกาข้อ 5 อันเป็นข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม นั้น เห็นว่า ในข้อหาฐานเบิกความเท็จตามฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำผิดของจำเลยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ทั้งจำเลยก็เข้าใจคำฟ้อง ต่อสู้คดีได้ถูกต้องตลอดมาฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน