คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1003/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในชั้นอุทธรณ์ ผู้ร้องสอดขอให้ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ ผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) เพียง ประการเดียว ดังนี้คำขอตามมาตรา 57(2) จึงไม่ใช่ข้อที่ว่ากล่าวมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คำขอตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)เป็นคำร้องสอดที่มีลักษณะเป็นคำฟ้อง ย่อมอยู่ในบังคับมาตรา 172 วรรคสอง จึงต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพ แห่งข้อหาและคำขอบังคับ แต่คำร้องสอดของผู้ร้องสอด ไม่มีคำขอบังคับ จึงเป็นคำร้องสอดที่ไม่ชอบที่ศาลจะรับไว้พิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอาคารพาณิชย์ของโจทก์ เลขที่ 10/73 ถึงเลขที่ 10/80 หมู่ที่ 7 แขวงบางแวกเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร อ้างว่าจำเลยก่อสร้างรั้วและอาคารปิดทางเดินเข้าออกและทางหนีไฟของผู้เช่ารายอื่นโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ เป็นการประพฤติผิดสัญญาเช่าโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวและออกจากอาคารที่เช่า จำเลยเพิกเฉย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เข้าหุ้นร่วมทุนกับนายเทียนชัย แซ่อึ้ง โดยนายเทียนชัยเป็นผู้ก่อสร้างอาคารพิพาทบนที่ดินของโจทก์ แล้วยกกรรมสิทธิ์ในอาคารพิพาทให้โจทก์จำเลยชำระเงินช่วยค่าก่อสร้างแก่นายเทียนชัย และทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทจากโจทก์รวม 8 คูหามีกำหนด 30 ปี โจทก์ทราบข้อเท็จจริงมาแต่แรกว่าจำเลยเช่าอาคารพิพาทเพื่อทำกิจการโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป และบอกกล่าวโจทก์ว่าจำเลยจำต้องตกแต่งต่อเติมด้านหลังอาคารโดยตั้งเสาโครงเหล็กขึ้น เพื่อให้เหมาะสมแก่สภาพการใช้เป็นโรงงาน จำเลยมิได้ประพฤติผิดสัญญาเช่าขอให้ยกฟ้องและเรียกค่าเสียหาย
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ทราบมาแต่แรกและรับรู้มาโดยตลอดว่าจำเลยเช่าอาคารพิพาทจากโจทก์เพื่อทำกิจการโรงงานของผู้ร้องสอดผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของทรัพย์สินและส่วนประกอบติดตั้งทั้งหมดในโรงงาน โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าเพื่อก่อความเสียหายแก่ผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดมีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี ขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความร่วม เพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1)
ศาลชั้นต้นสั่งว่า ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) แต่ขอให้ศาลสั่งให้เข้าเป็นคู่ความร่วม และปรากฏข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันกับคำร้องสอดฉบับลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 ซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนคำร้องแล้วตามคำร้อง ของ ผู้ร้องสอดจึงให้ยกคำร้องเสีย
ผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องสอดฎีกาขอให้อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) และหรือมาตรา 57(2) เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์ผู้ร้องสอดขอให้ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) เพียงประการเดียว คำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(2) จึงไม่ใช่ข้อที่ว่ากล่าวมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) เป็นคำร้องสอดที่มีลักษณะเป็นคำฟ้องด้วย ดังนั้นย่อมอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองที่ต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับคำร้องสอดของผู้ร้องสอด แสดงโดยแจ้งชัดเฉพาะสภาพแห่งข้อหาแต่ไม่มีคำขอบังคับ เป็นคำร้องสอดที่ไม่ชอบ ไม่อาจรับไว้พิจารณาได้
พิพากษายืน

Share