แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยให้การรับสารภาพว่าทรัพย์สินของกลางที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง เป็นอุปกรณ์และทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการเล่นพนันจริง ศาลรับฟังได้โดยโจทก์ไม่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบอีก ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า เงินสดและเครื่องรับส่งเอกสารของกลางมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด ขอให้คืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสี่ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ เป็นการไม่ชอบและขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้นั้น จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสี่ และมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 และเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกาด้วย จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสี่จ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 12 (ที่ถูก 12 (1)) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 4 เดือน จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 เดือน ริบของกลาง เนื่องจากศาลมิได้มีคำสั่งให้ปรับจำเลยทั้งสี่ คำขอให้จำเลยทั้งสี่จ่ายเงินสินบนนำจับจึงให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ก่อนส่งสำนวนไปศาลฎีกา จำเลยที่ 2 และที่ 4 ขอถอนฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานเป็นเจ้ามือการพนันสลากกินรวบโดยเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกได้พร้อมโพยสลากกินรวบ 117 แผ่น เงินสด 560,670 บาท เครื่องคิดเลข 1 เครื่อง เครื่องรับส่งเอกสาร 1 เครื่อง สมุดบัญชี 1 เล่ม และถุงผ้า 7 ใบ โดยในกระดาษโพยดังกล่าวมีจำนวนตัวเลขและจำนวนเงินที่รับแทงเป็นจำนวนเงินที่สูง ทั้งมีเงินสดของกลางเป็นจำนวนมาก พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้การพนันสลากกินรวบรายใหญ่ ไม่ได้คำนึงว่าการกระทำของตนก่อผลโดยตรงให้ประชาชนลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุขอย่างกว้างขวาง กระทบต่อเศรษฐกิจสังคมและความสงบสุขของครอบครัว ทั้งยังเป็นบ่อเกิดอาชญากรรมร้ายแรงอื่นตามมาอีกมากมาย พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าร้ายแรง การที่จะรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 และกำหนดมาตรการในการคุมประพฤติแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ย่อมไม่เหมาะสมกับสภาพความผิดและไม่เพียงพอที่จะทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 เกรงกลัวหรือหลาบจำ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษและไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า ตามที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า เงินสดของกลางบางส่วนจำนวน 476,025 บาท และเครื่องรับส่งเอกสารของกลางมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดขอให้คืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสี่ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบและขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันเป็นเจ้ามือเล่นการพนันสลากกินรวบ โดยเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสี่พร้อมยึดโพยสลากกินรวบรวม 117 แผ่น เงินสด 560,670 บาท เครื่องคิดเลข 1 เครื่อง เครื่องรับส่งเอกสาร 1 เครื่อง สมุดบัญชีการเก็บเงินลูกค้าซื้อสลากกินรวบ 1 เล่ม และถุงผ้า 7 ใบ ซึ่งเป็นอุปกรณ์และทรัพย์สินที่ใช้ในการเล่นการพนันเป็นของกลาง จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า บรรดาทรัพย์สินของกลางที่โจทก์บรรยายฟ้องมาดังกล่าวเป็นอุปกรณ์และทรัพย์สินที่ใช้ในการเล่นพนันจริง ซึ่งศาลรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ได้โดยโจทก์ไม่จำต้องนำพยานหลักฐานมาสืบอีกดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อ้างแต่อย่างใด ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสี่และมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าว จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกาด้วย จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน”
พิพากษายืน