แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ การที่โจทก์จะฟ้องคดีไม่รับจำเลยที่ 2 เป็นบุตร โจทก์จะต้องพิสูจน์ว่าโจทก์ไม่ได้อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 มารดาจำเลยที่ 2 ในเวลาตั้งครรภ์คือระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนจำเลยที่ 2 เกิดหรือโจทก์ไม่สามารถเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ได้เพราะเหตุอย่างอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 แต่โจทก์สืบแต่เพียงว่าไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา อันเป็นการนำสืบลอย ๆ การนำสืบของโจทก์ยังไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง ที่ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์
ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 ในข้อหาเป็นเจ้าของผู้ดูแลและผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและข้อหาขายหรือให้บริการเทปและวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งขณะนั้นโจทก์เป็นปลัดอำเภอในจังหวัดสงขลา จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่จำเลยที่ 1 กลับกระทำความผิดในข้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและเสื่อมเสียศีลธรรมอันดีของประชาชน จนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือว่าทำให้โจทก์ซึ่งเป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง กับได้รับความดูถูกเกลียดชัง นับเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (2) (ก) (ข)
ปัจจุบันเด็กชาย อ. อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แล้วเด็กชาย อ. ได้มาพักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าเล่าเรียนทั้งหมดก่อนหน้านี้ก็เคยอยู่กับจำเลยที่ 1 และย่าที่บ้านของย่าที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ยิ่งกว่านั้นตามรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เยาว์ของพนักงานคุมประพฤติ ระบุว่าเด็กชาย อ. ประสงค์จะอยู่กับจำเลยที่ 1 มากกว่าอยู่กับโจทก์ ดังนั้น แม้โจทก์ซึ่งเป็นบิดาจะไม่ปรากฏว่ามีความประพฤติเสียหายหรือไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. แต่โจทก์เป็นข้าราชการต้องย้ายไปรับราชการในที่ต่าง ๆ ตลอดมา ทั้งเด็กชาย อ. ผู้เยาว์อายุประมาณ 12 ปี ขณะนี้อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 เมื่อคำนึงถึงความผาสุก ความผูกพันระหว่างมารดากับบุตร การที่ผู้เยาว์อยู่กับจำเลยที่ 1 จะมีผลดีต่อสุขภาพของผู้เยาว์ เห็นควรให้จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. แต่เพียงผู้เดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กชาย อ. ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกัน ระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันนั้น โจทก์รับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอซึ่งต้องย้ายไปรับราชการในอำเภอต่าง ๆ หลายแห่ง ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ติดตามไปอยู่อาศัยกับโจทก์ ส่วนเด็กชาย อ. พักอาศัยอยู่ที่บ้านอีกหลังหนึ่ง โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยได้ร่วมประเวณี เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้ย้ายติดตามไป จึงเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 1 จะตั้งครรภ์กับโจทก์ แต่ช่วงดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง กล่าวคือ จำเลยที่ 1 คบชู้กับชายอื่นจนกระทั่งจำเลยที่ 1 มีครรภ์และคลอดเด็กหญิง ว. จำเลยที่ 2 โดยแจ้งเท็จต่อนายทะเบียนเทศบาลนครหาดใหญ่ว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง กล่าวคือ ถูกนางสาวลักษ์ พุฒแก้ว แจ้งความร้องทุกข์ในข้อหายักยอกทรัพย์ และต่อมาถูกจับกุมในข้อหาค้าประเวณี และถูกแจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาลักทรัพย์ ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง โดยที่โจทก์มิได้รู้เห็นในการกระทำของจำเลยที่ 1 หากโจทก์ต้องอยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ก็จะเป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกดูหมิ่นเกลียดชังอาจถูกดูหมิ่นเยียดหยาม สำหรับเด็กชาย อ. โจทก์ได้อุปการะเลี้ยงดูมาโดยตลอด ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่บุตรของโจทก์ ส่วนเด็กชาย อ. ให้อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยา มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กชาย อ. ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่จำเลยที่ 1 อยู่กินกับโจทก์นั้น ได้ประพฤติตนในฐานะภริยาที่ดีมาโดยตลอด ไม่เคยประพฤติชั่วหรือกระทำการใดอันเป็นการปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงแก่โจทก์ และในขณะที่โจทก์ย้ายไปรับราชการในอำเภอต่าง ๆ จำเลยที่ 1 ไปมาหาสู่ในฐานะภริยาโจทก์มาโดยตลอด ได้ร่วมหลับนอนและได้ร่วมประเวณีกับโจทก์เช่นสามีภริยาโดยทั่วไปจนคลอดเด็กหญิง ว. จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่เคยคบชู้กับชายอื่น แต่โจทก์เองกลับประพฤติชั่วร้ายแรงโดยการอุปการะเลี้ยงดูยกย่องหญิงอื่นเป็นภริยาและจดทะเบียนสมรสกับนางสาว ป. เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กับโจทก์ทะเลาะกัน นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ไม่เคยกระทำความผิดอาญาใดอันต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกันและให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. ผู้เยาว์ร่วมกัน แต่ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิกำหนดที่อยู่ผู้เยาว์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำขอที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกันด้วย ส่วนการใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. ให้เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์หรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า โจทก์อยู่กินกับจำเลยที่ 1 เมื่อราวปี 2533 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กชาย อ. ต่อมาโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2538 หลังจากนั้นโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเรื่องผิดใจกัน จึงไม่มีการหลับนอนด้วยกัน ในปี 2540 โจทก์ได้ย้ายไปรับราชการที่กิ่งอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 1 ได้ไปส่งโจทก์ด้วย โดยพักอาศัยอยู่กับโจทก์ 2 ถึง 3 วัน แต่ไม่ได้หลับนอนด้วยกัน ครั้นปี 2540 มารดาโจทก์แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีครรภ์ โจทก์เชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีครรภ์กับบุคคลอื่นจึงขอหย่าขาดจากจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 คลอดจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 ปรากฏตามสูติบัตรเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 2 ไม่ใช่บุตรของโจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 1 อยู่กินกับโจทก์ฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2532 จนกระทั่งปี 2538 จึงได้จดทะเบียนสมรสกันและอยู่กินฉันสามีภริยากันเรื่อยมา โจทก์เคยพาจำเลยที่ 1 ออกงานสังคม ในปี 2538 โจทก์เข้าโรงเรียนนายอำเภอ จำเลยที่ 1 ได้ไปส่งโจทก์และได้ไปเยี่ยมเยียนโจทก์ด้วย ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2540 โจทก์ไปรับราชการที่กิ่งอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 1 ได้ร่วมหลับนอนกับโจทก์ด้วย จากนั้นจำเลยที่ 1 เดินทางกลับจังหวัดสงขลา โจทก์เคยเดินทางมาหาจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดสงขลาด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 ก็ไปหาโจทก์ที่กิ่งอำเภอฆ้องชัยอีก 2 ครั้ง ส่วนโจทก์นั้นมาหาจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดสงขลาเป็นประจำ ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ตั้งครรภ์จำเลยที่ 2 แล้ว เห็นว่า โจทก์อ้างว่าโจทก์ผิดใจกับจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2538 โจทก์ไม่ได้หลับนอนกับจำเลยที่ 1 แต่จากการนำสืบของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าในช่วงปี 2538 เมื่อโจทก์เข้าโรงเรียนนายอำเภอ จำเลยที่ 1 ได้ไปส่งโจทก์และต่อมาได้ไปเยี่ยมเยียนโจทก์ที่โรงเรียนนายอำเภอด้วยกัน กับได้เดินทางไปต่างประเทศกับโจทก์ ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.5 และ ล.6 แสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีความรักใคร่กันดีหลังจากเข้ารับการอบรมที่โรงเรียนนายอำเภอ โจทก์ย้ายมารับราชการที่อำเภอระโนด ในปี 2539 โจทก์ย้ายไปรับราชการที่อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ตามคำเบิกความของนางถนอม อุไรรัตน์ มารดาโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยังคงติดต่อกับโจทก์อยู่ ครั้นโจทก์ย้ายไปรับราชการที่กิ่งอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อปี 2540 จำเลยก็ตามไปส่งโจทก์ด้วยโดยจำเลยพักอาศัยอยู่กับโจทก์ประมาณ 2 ถึง 3 วัน จะเห็นได้ว่าแม้โจทก์จะอ้างว่าเริ่มผิดใจกับจำเลยเมื่อปี 2538 ไม่ได้หลับนอนด้วยกัน แต่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังติดต่อกันเรื่อยมา โจทก์อ้างว่าหลังจากโจทก์ไปรับราชการที่กิ่งอำเภอฆ้องชัยแล้ว โจทก์ไม่ได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 อีก ปี 2542 โจทก์ย้ายมารับราชการที่กิ่งอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ในระหว่างที่โจทก์รับราชการที่กิ่งอำเภอฆ้องชัยนี้ โจทก์เคยเดินทางมาหาจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดสงขลา ส่วนจำเลยที่ 1 เดินทางไปหาโจทก์ที่กิ่งอำเภอฆ้องชัยอีก 2 ครั้ง ส่วนโจทก์นั้นมาหาจำเลยที่ 1 เป็นประจำ เห็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ เชื่อว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังติดต่อกันเรื่อยมาดังข้อนำสืบของจำเลยทั้งสอง โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากัน นอกจากโจทก์กับจำเลยที่ 1 ติดต่อกันแล้ว เชื่อว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังคงร่วมประเวณีกันฉันสามีภริยาอีกด้วย ที่โจทก์อ้างว่าตั้งแต่ปี 2538 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมประเวณีกันเลยไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง จำเลยที่ 2 เกิดแต่จำเลยที่ 1 ขณะเป็นภริยาของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ การที่โจทก์จะฟ้องคดีไม่รับจำเลยที่ 2 เป็นบุตร โจทก์จะต้องพิสูจน์ว่าโจทก์ไม่ได้อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 มารดาจำเลยที่ 2 ในระยะเวลาตั้งครรภ์ คือระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนจำเลยที่ 2 เกิด หรือโจทก์ไม่สามารถเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ได้เพราะเหตุอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง ปรากฏตามสูติบัตรเอกสารหมาย จ.9 จำเลยที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 แต่โจทก์สืบแต่เพียงว่าไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา อันเป็นการนำสืบลอย ๆ การนำสืบของโจทก์ยังไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง ที่ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ฐานจำเลยที่ 1 ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงหรือไม่ โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 ในข้อหาเป็นเจ้าของผู้ดูแลและผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและข้อหาขายหรือให้บริการเทปและวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต เห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวเมื่อเดือนมกราคม 2540 ขณะนั้นโจทก์เป็นปลัดอำเภออยู่ที่อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ขณะจำเลยที่ 1 กระทำความผิด จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัด แต่จำเลยที่ 1 กลับกระทำความผิดในข้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและเสื่อมเสียศีลธรรมอันดีของประชาชน จนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือว่าทำให้โจทก์ซึ่งเป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงกับได้รับความดูถูกเกลียดชัง นับเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (2) (ก) (ข) โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า สมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. แต่เพียงผู้เดียวหรือไม่ เห็นว่า แม้นางถนอม อุไรรัตน์ ย่าของเด็กชาย อ. จะเบิกความว่า เด็กชาย อ. อยู่ในความดูแลของนางถนอมตลอดมา แต่ปัจจุบันปรากฏว่าเด็กชาย อ. อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของเด็กชาย อ. ว่า หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แล้ว เด็กชาย อ. ได้มาพักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าเล่าเรียนทั้งหมด ก่อนหน้านี้ก็เคยอยู่กับจำเลยที่ 1 และย่าที่บ้านของย่าที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ยิ่งกว่านั้นตามรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เยาว์ของพนักงานคุมประพฤติ ระบุว่าเด็กชาย อ. ประสงค์จะอยู่กับจำเลยที่ 1 มากกว่าอยู่กับโจทก์ ดังนั้น แม้โจทก์ซึ่งเป็นบิดาจะไม่ปรากฏว่ามีความประพฤติเสียหาย หรือไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. แต่โจทก์เป็นข้าราชการต้องย้ายไปรับราชการในที่ต่าง ๆ ตลอดมา ทั้งเด็กชาย อ. ผู้เยาว์อายุประมาณ 12 ปี ขณะนี้อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 เมื่อคำนึงถึงความผาสุก ความผูกพันระหว่างมารดากับบุตร การที่ผู้เยาว์อยู่กับจำเลยที่ 1 จะมีผลดีต่อสุขภาพของผู้เยาว์ เห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. แต่เพียงผู้เดียว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นน้องเด็กชาย อ. การที่พี่น้องได้อยู่ด้วยกันน่าจะมีความอบอุ่นกว่า สมควรให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. และจำเลยที่ 2 ผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9